(1 ต.ค. 67) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานวิทยากรการอบรมเตรียมความพร้อมในโครงการ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” (Teach For Thailand Fellowship Program) ให้กับบุคลการทางการศึกษาจำนวน 49 คน ณ โรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม เขตดุสิต
ในการนี้ รองผู้ว่าฯ ศานนท์ได้กล่าวในหัวข้อเรื่อง “เมืองกับการศึกษาสำคัญอย่างไร” โดยกล่าวว่า เมืองและการศึกษาถูกเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก เนื่องจากเครื่องมือที่สร้างเมืองให้ดี คือการศึกษาที่ดีนำมาสู่การพัฒนาคนอย่างเข้มแข็ง และเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งนี้จากการสำรวจเด็กและเยาวชนนำมาซึ่งทางออกที่สำคัญในการลดปัญหาของเด็กและเยาวชนคือการเพิ่มเวลาที่มีคุณภาพ ลดเวลาที่ไม่มีคุณภาพ เวลาที่ไม่มีคุณภาพ อาจเกิดได้จากปัญหาครอบครัว การบูลลี่ระหว่างเพื่อนหรือแม้กระทั่งครูในโรงเรียน ซึ่งครูในยุคปัจจุบันจะต้องสร้างบรรยากาศให้นักเรียนอยากอยู่โรงเรียน พลิกโรงเรียนให้เป็นสถานที่ที่ปลอดภัย ไร้กังวล เด็กๆอยากมาใช้ชีวิตที่โรงเรียน เพื่อการเรียนที่สมวัย และการพัฒนาอย่างเหมาะสม ห่างไกลอบายมุขและสิ่งเสพติด ที่สำคัญคืออยู่ให้มีความสุข และใช้ทักษะอย่างเต็มศักยภาพ
รองผู้ว่าฯ ศานนท์กล่าวต่อไปว่า การมองปัญหาของเด็กและเยาวชนต้องมองแบบปราศจากอคติและครบทุกมิติ ทั้งในเชิงครอบครัว เพื่อน งานอดิเรก การเรียน ตลอดจนความสนใจของเด็กเพื่อที่จะพัฒนาความรู้ ทักษะ เจตคติ ให้สมวัย ซึ่งการที่ครูสนใจและไม่ละเลยการเจริญเติบโตของเด็กทุกช่วง จะทำให้เข้าใจปัญหาและสามารถพัฒนาศักยภาพเด็กตรงจุดผลิตบุคคลที่มีคุณภาพ ลดปัญหายาเสพติด หรือสิ่งของมอมเมาเยาวชน บางทีอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ แต่จริงๆแล้วสำคัญมาก โดยบางครั้งปัญหาของเด็กอาจจะที่ส่งต่อมาจากผู้ใหญ่โดยไม่รู้ตัว
ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้มีการพัฒนาโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย ครูสามารถมอนิเตอร์ข้อมูลการสอนร่วมกับเด็กผ่านระบบคอมพิวเตอร์ คำนวณการใช้ระยะเวลาในการเรียนรู้ในแต่ละวิชาเพื่อหาข้อสรุปเเละประเมินผลการศึกษาได้ เมื่อจบการบรรยาย รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างครูในโครงการทั้งเรื่องการใช้เวลาของครูกับงานเอกสารและการสอนที่ไม่สมดุลกัน และปัญหาในเชิงจิตวิทยาเด็ก วัยรุ่นและครอบครัว ที่ไม่ง่ายในการแก้ไข เป็นต้น
สำหรับโครงการ Fellowship Program โดยมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ได้ผลิตบุคลากรคุณภาพ ผ่านโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง มาเป็นรุ่นที่ 11 แล้ว ในการเฟ้นหาครูผู้นำฯ ที่มีศักยภาพ จากหลากหลายสาขาอาชีพ ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นระยะเวลา 2 ปี ในพื้นที่ที่ขาดแคลนครูเพื่อนำครูในโครงการไปพัฒนาการเรียนรู้ จากปัญหาทางการศึกษาที่นักเรียน ครู และชุมชนต้องพบเจอซึ่งมีความซับซ้อนและลึกซึ้ง ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นเรื่องที่แก้ไม่ง่าย จึงมุ่งเน้นการลงทุนกับคน และการสร้างเครือข่ายผู้นำที่มีศักยภาพและทางมูลนิธิช่วยเชื่อมต่อผู้คนให้เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง สามารถปรับกลยุทธ์และการลงมือทำให้สอดคล้องกัน และแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
————————————-