(27 ก.ย.67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางขุนเทียน ประกอบด้วย
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนหลวงพ่อขาว ซอยเทียนทะเล 19 แยก 2-6-1 พื้นที่ 7.3 ไร่ มีประชากร 356 คน บ้านเรือน 88 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2567 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ประชาชนในชุมชนคัดแยกขยะอินทรีย์ เพื่อมาทำปุ๋ยบำรุงต้นไม้ภายในชุมชนและบ้านพักอาศัย ส่วนที่เหลือนำไปเป็นอาหารสัตว์ 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะรีไซเคิล โดยล้างทำความสะอาดนำมาใช้ซ้ำ ประดิษฐ์เป็นวัสดุอุปกรณ์รีไซเคิลใช้ภายในครัวเรือนและชุมชน รวมถึงคัดแยกกล่องกระดาษ ขวดน้ำพลาสติก แก้วพลาสติก กระป๋องนำไปขายให้แก่เอกชน 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไป รวบรวมไว้ที่จุดพักขยะ เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย คัดแยกขยะอันตราย เช่น หลอดไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวบรวมไว้ที่จุดพักขยะ เขตฯ จัดเก็บเดือนละ 1 ครั้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 720 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 144 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 192 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 96 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 48 กิโลกรัม/เดือน
ติดตามการขอจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงสะพานคลองโล่ง ซึ่งเป็นสะพานที่เชื่อมต่อเข้าสู่ป่าชายเลนบางขุนเทียน เขตฯ อยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการซ่อมแซมสะพานข้ามคลองโล่งที่ชำรุดเสียหาย ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ดำเนินการซ่อมแซมเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางสัญจรเข้าสู่ป่าชายเลนบางขุนเทียนได้ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดทำข้อมูลรายละเอียดให้ครบถ้วน และแผนงานในการปรับปรุงให้ชัดเจน รวมถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการซ่อมแซม หากปล่อยทิ้งไว้อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่และนักท่องเที่ยวเดินทางมาป่าชายเลน เพื่อใช้ประกอบในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงสะพานต่อไป
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท ฟิลโทรน่า จำกัด ซอยเทียนทะเล 24 เป็นโรงงานผลิตก้นกรองบุหรี่ ซึ่งประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทการผลิตสิ่งของ เครื่องใช้ หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดด้วยกระดาษ ลักษณะอาคารเป็นเอกเทศ พื้นที่ 7,800 ตารางเมตร มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) จำนวน 1 ลูก โดยใช้เชื้อเพลิงแข็ง 2 ชนิด ขนาดการผลิต 2 ตัน ใช้งานจริง 0.3 ตัน ได้แก่ 1.ก้นกรองบุหรี่ที่ไม่ผ่านคุณภาพของโรงงาน (Biomass) 2.กะลาปาล์ม กรณีก้นกรองบุหรี่ไม่เพียงพอ ระบบบำบัดอากาศเสียแบบ Wet Scrubber นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน ประเภทแพลนท์ปูน/สถานที่ก่อสร้าง/ควันดำในสถานที่ต้นทาง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
พัฒนาสวน 15 นาที สวนสมเด็จย่า ซึ่งเขตฯ มีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ ปรับปรุงทางเดินพื้นที่ 668 ตารางเมตร สร้างทำนบไม้ปิดกั้นน้ำ 3 ช่วง ความกว้าง 8 เมตร จำนวน 1 แห่ง ก่อสร้างสะพาน ค.ส.ล. จำนวน 3 แห่ง ปรับปรุงอาคารภายในสวน ขุดลอกคูน้ำรอบสวน ติดตั้งไฟฟ้าโซล่าเซลล์ 14 วัตต์ จำนวน 20 ต้น ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนบวรประชานันท์ พื้นที่ 12 ไร่ 2.สวนสาธารณะบึงรางเข้ พื้นที่ 17 ไร่ 3.สวนสมเด็จย่า พื้นที่ 5 ไร่ สำหรับสวนเทียนทะเลพัฒนาพฤกษาภิรมย์ พื้นที่ 37 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมธนารักษ์ สำนักสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ดูแล สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1.สวน 15 นาที ชุมชนการเคหะธนบุรี โครงการ 1 ส่วน 4 พื้นที่ 1 งาน 50 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของการเคหะแห่งชาติ 2.สวนเด็ก 15 นาที ชุมชนการเคหะธนบุรี โครงการ 1 ส่วน 4 พื้นที่ 1 งาน 50 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของการเคหะแห่งชาติ 3.สวนทะเล 15 นาที ป่าชายเลนบางขุนเทียน พื้นที่ 62.5 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของนิคมสหกรณ์บ้านไร่ 4.สวนเกษตรอินทรีย์ 15 นาที ถนนพระราม 2 ซอย 54 พื้นที่ 16,000 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของเอกชน 5.สวนหินสุขภาพ 15 นาที ชุมชนการเคหะธนบุรี โครงการ 1 ส่วน 3 พื้นที่ 1,200 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ เพื่อจัดทำสวน 15 นาทีเพิ่มเติมให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การออกแบบพื้นที่ภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับในการเข้ามาใช้บริการหรือทำกิจกรรมภายในสวน เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดทำสวน 15 นาทีอย่างแท้จริง
พร้อมกันนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ซึ่งเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 111 ราย ได้แก่ 1.ถนนบางกระดี่ ปากซอยบางกระดี่ 1-7 ผู้ค้า 18 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. 2.ถนนบางกระดี่ ปากซอยบางกระดี่ ถึงหน้าหมู่บ้านเดอะริช ผู้ค้า 60 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. 3.ถนนท่าข้าม ซอยท่าข้าม 14-16 ผู้ค้า 10 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-09.00 น. และ 4.ถนนสะแกงาม ปากซอยสะแกงาม 35/2-35/3 ผู้ค้า 23 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. และ 15.00-21.00 น. ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 1 จุด คือถนนพระรามที่ 2 ซอย 69 ติดลานจอดรถยนต์ห้างเทสโก้โลตัส พระราม 2 ผู้ค้า 45 ราย ปัจจุบันมีผู้ทำการค้า 9 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 14.00-22.00 น. อยู่ระหว่างดำเนินการสรรหาผู้ค้าเข้ามาทำการค้า ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้า ปี 67
ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ได้ยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 1 จุด คือหน้าบริษัท กีโต้ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ค้า 9 ราย โดยย้ายเข้ามาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดทำเป็น Hawker Center Route 3 บริเวณด้านข้างบริษัท กีโต้ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center บริเวณทางเท้าติดลานจอดรถห้างเทสโก้โลตัส ถนนพระรามที่ 2 ซอย 69 ผู้ค้า 45 ราย ภายใต้แนวคิด “ROUTE 69 Mini Hawker Center” ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง โดยให้ยึดตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้า ปี 67 กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย
ในการนี้มี นายสารัช ม่วงศิริ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางขุนเทียน นางภัสรา นทีทอง ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางขุนเทียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี #เดินทางดี #ปลอดภัยดี #บริหารจัดการดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)