(27 ก.ย. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต้อนรับในการเปิดงาน “30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า กรุงเทพมหานคร” โดยมี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน ทีมคณะรัฐมนตรีเข้าร่วมงาน อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายสุขภาพ เข้าร่วมกว่า 1,000 คน ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารบี เขตหลักสี่
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ในนามของกรุงเทพมหานครตนรู้สึกดีใจที่รัฐบาลได้มาสานต่อนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้าในกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมาเรื่องสุขภาพและสาธารณสุขคือหัวใจสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ หากประชาชนไม่สบายก็ทำให้ไม่สามารถหารายได้ เกิดเป็นวงจรที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น อาจมองว่าใน กทม. มีโรงพยาบาลชั้นดีจำนวนมาก แต่แท้จริงแล้วเรามีประชาชนรวมประชากรแฝงกว่า 10 ล้านคน ดังนั้นปัญหาเรื่องสาธารณสุขใน กทม. ไม่ได้น้อยกว่าจังหวัดอื่น อาจมากกว่าในบางมิติด้วยซ้ำ โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่สำคัญมาก ซึ่งมี 3 ปัจจัยหลักสำคัญ ได้แก่ 1.ต้องใช้เทคโนโลยี 2.การเชื่อมโยงข้อมูล 3.มีระบบปฐมภูมิที่เข้มแข็ง โดยที่ผ่านมา กทม. ได้พัฒนาร่วมกับ สปสช. กระทรวงสาธารณสุข ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ ได้แก่ ระบบส่งต่อผู้ป่วย (e-Referral) ระบบ Health Link และ Platform อื่น ๆ ทำให้วันนี้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการปฐมภูมิได้ ทั้งที่ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชมชนอบอุ่น หน่วยนวัตกรรมที่ติดสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ ขณะนี้ใน กทม. มีศูนย์ปฐมภูมิที่ติดป้ายสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่กว่า 1,500 แห่ง และหากมีความจำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลก็จะมีการส่งตัวผู้ป่วยตามขั้นตอนต่อไป
“นี่คือหัวใจที่จะสร้างความมั่นคง ความสะดวก และประสิทธิภาพในการให้บริการกับประชาชน และตนเชื่อว่าการที่ประชาชนมีสุขภาพดี จะมีกำลังในการพัฒนาประเทศและเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันสร้างเมืองนี้ให้ดีต่อไป” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ทั้งนี้ โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ มีเป้าหมายเพื่อยกระดับบริการสุขภาพ ภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มุ่งให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งการขับเคลื่อนนโยบายฯ ได้เริ่มตั้งแต่ต้น ปี 2567 ที่ผ่านมา แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เดือนมกราคม ที่นำร่องใน 4 จังหวัด ระยะที่ 2 เดือนมีนาคมดำเนินการเพิ่มเติมในอีก 8 จังหวัด ระยะที่ 3 เดือนพฤษภาคม ขยายในพื้นที่ 33 จังหวัด และวันนี้กรุงเทพมหานครเป็น จังหวัดที่ 46 และจะให้ครอบคลุมทั้งประเทศในปีนี้
วันนี้ ประชาชนใน กทม. ไม่ว่าสิทธิบัตรทองจะอยู่จังหวัดใด ก็สามารถใช้บัตรประชาชนเข้ารับบริการสุขภาพระบบปฐมภูมิได้ตามนโยบายได้ ทั้งที่หน่วยบริการประจำ และหน่วยบริการปฐมภูมิ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่น และหน่วยบริการนวัตกรรม ที่มีตราสัญลักษณ์ 30 บาท รักษาทุกที่ ปรากฏอยู่
ในการนี้ รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย ร่วมงาน