Search
Close this search box.
สวนหลวงพลิกที่ว่างเป็นสวนน้ำอ่อนนุช 46 ยกเลิกจุดทำการค้าพัฒนาการ 34-36 ตรวจซ้ำฝุ่นจิ๋วไซต์งานศุภาลัยปาร์คเอกมัย-พัฒนาการ ชมคัดแยกขยะโรงแรมทยะแบงค็อก

(23 ก.ย.67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตสวนหลวง ประกอบด้วย

พัฒนาสวน 15 นาที สวนอ่อนนุช 46 เป็นพื้นที่สาธารณะ ลักษณะคล้ายด้ามขวาน สามารถเข้า-ออกได้ 2 ทางคือ ซอยอ่อนนุช 46 และซอยศรีนครินทร์ 36 ซึ่งเขตฯ ได้ดำเนินการปรับพื้นที่พัฒนาเป็นสวนสาธารณะ ในรูปแบบสวนน้ำ จัดทำทางเดินวิ่งรอบบึงน้ำ ก่อสร้างศาลาพักผ่อนริมบึงน้ำ และก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ ปูหญ้า ปลูกต้นอโศกอินเดียตามแนวรั้ว จำนวน 300 ต้น ปลูกต้นเสลารอบบึงน้ำ จำนวน 300 ต้น ปลูกต้นอินทนิลรอบบึงน้ำ จำนวน 200 ต้น รวมถึงอนุรักษ์ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ขึ้นอยู่เดิมภายในสวน ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตสวนหลวง ร่วมกันปลูกต้นอินทนิล เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่นภายในสวนดังกล่าว ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมซอยพัฒนาการ 25 หรือสวนพัฒนาการไลค์พาร์ค พื้นที่ 864 ตารางวา 2.สวนหย่อมในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ถนนอ่อนนุช พื้นที่ 100 ตารางวา 3.สวนภายในศูนย์การค้าเดอะไนน์ พระราม 9 พื้นที่ 94 ตารางเมตร 4.สวนหย่อมถนนพระราม 9 พื้นที่ 780 ตารางเมตร 5.สวนศรีพัฒน์ภิรมย์ แยกศรีนครินทร์-พัฒนาการ พื้นที่ 32 ตารางเมตร 6.สวนอ่อนนุช 46 พื้นที่ 4 ไร่ 2 งาน 27 ตารางวา ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่างเพื่อจัดทำสวน 15 นาที ให้ครบ 10 แห่ง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับในการเข้ามาใช้บริการอย่างแท้จริง

ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน ซอยพัฒนาการ 34-36 ผู้ค้า 11 ราย ซึ่งเขตฯ ได้ดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้าดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 58 ราย ดังนี้ 1.ซอยพัฒนาการ 25 ผู้ค้า 24 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-22.00 น. 2.ซอยรามคำแหง 4 ผู้ค้า 23 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-21.00 น. 3.ซอยอ่อนนุช 17 แยก 16 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-22.00 น. ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้าหรือเกินแนวเส้นที่กำหนด ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน รวมถึงพิจารณายกเลิกจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่ ซึ่งเขตฯ มีแนวคิดในการยกเลิกจุดทำการค้าในส่วนที่เหลือ จากการสำรวจพบว่าผู้ค้าขายสินค้าได้น้อยลง เนื่องจากบริษัทที่ตั้งอยู่ในจุดดังกล่าวย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ผู้ค้าบางรายได้เลิกทำการค้า ส่วนผู้ค้าที่เหลือจะผลักดันให้เข้าไปทำการค้าในตลาดใกล้เคียงต่อไป

ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการศุภาลัยปาร์ค เอกมัย-พัฒนาการ ตั้งอยู่ระหว่างซอยพัฒนาการ 9-11 ถนนพัฒนาการ ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัย จำนวน 2 อาคาร ประกอบด้วย อาคาร A เป็นห้องพักอาศัย ความสูง 30 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 1 อาคาร อาคาร B เป็นอาคารชุด ความสูง 27 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้จากการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับให้ผู้ประกอบการปรับสภาพพื้นดินด้านหน้าและเทคอนกรีต เพื่อป้องกันปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งผู้ประกอบการได้ดำเนินการแก้ไขและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดทำบ่อล้างล้อและฉีดล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกก่อนออกจากโครงการ ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกตามรอบที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ได้แก่ ประเภทหม้อไอน้ำ (Boiler) 1 แห่ง ประเภทอู่พ่นสีรถยนต์ 13 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 3 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 5 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงแรมทยะแบงค็อก ซอยพัฒนาการ 42 พื้นที่ 3,400 ตารางเมตร ผู้ใช้บริการ 300 คน/วัน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2565 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะนำไปทำน้ำหมักชีวภาพ ส่วนที่เหลือจะเก็บรวบรวมให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงสัตว์ 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขวดพลาสติกและกล่องกระดาษ เพื่อจำหน่ายนำรายได้เป็นสวัสดิการให้แก่พนักงาน 3.ขยะทั่วไป รวบรวมไว้บริเวณจุดพักขยะ รอเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย รวบรวมไว้บริเวณจุดพักขยะอันตราย เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บเดือนละ 1 ครั้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 10,555 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 7,500 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 2,550 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 500 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่ผู้บริหารโรงแรม ในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะเศษผักเศษอาหาร เพื่อให้การคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการมูลฝอยฉบับใหม่

ในการนี้มี นายบัญชา สืบกระพัน ผู้อำนวยการเขตสวนหลวง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสวนหลวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี

—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200