Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันจันทร์ที่ 9 กันยายน 2567

กทม. เตรียมพร้อมระบบระบายน้ำรองรับสถานการณ์ฝน เฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วม-พื้นที่เศรษฐกิจ

นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำของ กทม. เพื่อรองรับสถานการณ์ฝนจากอิทธิพลของร่องมรสุมที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กทม. ได้ใช้แผนเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 2567 ประกอบด้วย การควบคุมลดระดับน้ำตามคูคลองให้อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งแก้มลิง 36 แห่ง และบ่อสูบน้ำ 376 แห่ง สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชน และพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมในถนนซอย เตรียมความพร้อมอุโมงค์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ประตูระบายน้ำ 248 แห่ง และสถานีสูบน้ำ 195 แห่ง ขุดลอกคูคลอง จัดเก็บขยะวัชพืช รวมถึงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำในคลองบริเวณใต้สะพานและท่อลอดต่าง ๆ เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะ ตะแกรงท่อระบายน้ำ ขยะหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำและบ่อสูบน้ำในขณะที่มีฝนตก เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลเข้าระบบได้อย่างสะดวกรวดเร็ว รวมถึงตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ตู้เมนไฟฟ้า ตู้ควบคุมเครื่องสูบน้ำของ สนน. และเครื่องสูบน้ำดีเซลของสำนักงานเขตให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ เตรียมความพร้อมของอุปกรณ์สนับสนุน เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า รถโมบายยูนิต เครื่องสูบน้ำ และเจ้าหน้าที่หน่วยเคลื่อนที่เร็ว (หน่วย Best) เข้าแก้ไขสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชน

นอกจากนี้ ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝน เฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพฯ โดยตั้งขึ้นที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เกิดเหตุน้ำท่วม หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 67 เป็นต้นมา รวมถึงให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต สำรวจชุมชนที่มีปัญหาน้ำท่วมให้เร่งแก้ไขปัญหาทันที อีกทั้งได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตรวจสอบประสิทธิภาพของท่อระบายน้ำ ทางระบายน้ำ และระบบระบายน้ำในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลักที่มีการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าและโครงการขนาดใหญ่ โดยแจ้งประสานและกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้รับจ้างโครงการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำในพื้นที่ก่อสร้างและรายงานผลการดำเนินงานให้ กทม. ทราบเป็นประจำทุกเดือน รวมทั้งตรวจสอบการเบี่ยงแนวท่อระบายน้ำ (By Pass) ให้น้ำสามารถไหลได้สะดวก หากมีปัญหาติดขัดในการระบายน้ำให้แจ้งโครงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในจุดที่ยังมีการก่อสร้าง เพื่อเร่งระบายน้ำเข้าระบบระบายน้ำของ กทม. ต่อไป หากมีปัญหาติดขัดในการระบายน้ำให้แจ้งโครงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในจุดที่ยังมีการก่อสร้าง เพื่อเร่งระบายน้ำเข้าระบบระบายน้ำของ กทม.

ขณะเดียวกันได้ประสานหน่วยงานโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ยังไม่แล้วเสร็จให้เร่งแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบระบายน้ำของ กทม. โดยเฉพาะการก่อสร้างระบบระบายน้ำคูน้ำแนวถนนวิภาวดีรังสิต รวมทั้งได้ประชุมหารือร่วมกับเทศบาลนครนนทบุรี กรมทางหลวง เทศบาลนครปากเกร็ด เทศบาลเมืองคูคต กรมชลประทาน และเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนพื้นที่รอยต่อให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว อีกทั้งได้ประสานความร่วมมือกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ โดยประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำและประชุมติดตามสถานการณ์กับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อวิเคราะห์ ติดตามคาดการณ์สภาพอากาศ ปริมาณฝน ปริมาณน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

 

 

กทม. ยกร่างหลักเกณฑ์-เงื่อนไขให้สิทธิ์เอกชนบริหารจัดการอาคารจอดรถใต้ดินลานคนเมืองนอกเวลาราชการ

นายศุภฤกษ์ หูไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการปลัดกรุงเทพมหานคร (สลป.) สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวกรณีมีข้อเสนอแนะให้ กทม. เปิดพื้นที่ลานจอดรถให้แก่ประชาชนที่เดินทางมาในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในว่า ผู้บริหาร กทม. มีนโยบายให้นำพื้นที่ลานจอดรถใต้ดินลานคนเมือง บริเวณศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) ให้บริการประชาชนสำหรับจอดรถนอกเวลาราชการในวันจันทร์ – วันศุกร์ ระหว่างเวลา 18.00 – 06.00 น. และในวันเสาร์ วันอาทิตย์ วันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ สามารถให้บริการจอดรถได้ทั้งวัน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มาใช้บริการ พร้อมทั้งดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้มาใช้บริการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ใช้พื้นที่ลานจอดรถใต้ดินลานคนเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประโยชน์สาธารณะ ส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่บริเวณโดยรอบ รวมถึงลดการจอดรถบนพื้นผิวการจราจร

ทั้งนี้ สลป. ได้ยกร่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้สิทธิ์เอกชนบริหารจัดการอาคารจอดรถใต้ดินลานคนเมืองนอกเวลาราชการ เสนอผู้บริหาร กทม. เพื่อขอความเห็นชอบดำเนินโครงการฯ ในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของผู้บริหาร กทม. หากมีการลงนามเห็นชอบให้ดำเนินการโครงการฯ ตามข้อเสนอแล้ว สลป. จะได้จัดทำประกาศเชิญชวนผู้สนใจเป็นการทั่วไปที่มีศักยภาพตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้สิทธิ์ฯ ยื่นข้อเสนอขอเป็นผู้รับสิทธิ์ดำเนินการโครงการฯ ต่อไป ส่วนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้สิทธิ์ฯ โดยละเอียดยังอยู่ในขั้นตอนการเสนอความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาของผู้บริหาร กทม. เมื่อผลการพิจารณาได้ข้อยุติแล้ว สลป. จะแจ้งข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบ

 

 

กทม. สำรวจ-ตรวจประเมินสุขลักษณะและมาตรการป้องกันอัคคีภัยตลาดศรีสมรัตน์

นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ตลาดศรีสมรัตน์ รวมทั้งการติดตามช่วยเหลือเยียวยาเจ้าของกิจการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวว่า จากการประสานการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทราบว่า รฟท. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ตลาดศรีสมรัตน์แล้ว ในฐานะเป็นเจ้าของพื้นที่ตลาดดังกล่าว พร้อมทั้งจัดหาพื้นที่ค้าขายชั่วคราวให้แก่ผู้ประสบภัย จำนวน 118 ราย รวมถึงส่วนราชการได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน มอบเงินค่าเครื่องมือประกอบอาชีพและหรือเงินทุนสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติที่เป็นอาชีพหลักในการหาเลี้ยงครอบครัวของผู้ประสบภัยพิบัติเท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ผู้บริหารกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่สํารวจ ตรวจประเมิน และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ด้านสุขลักษณะ ด้านความปลอดภัย มาตรการเชิงรุกการตรวจสอบระบบป้องกันและระงับเหตุอัคคีภัย รวมถึงระบบดูแลความปลอดภัยด้านต่าง ๆ ในการประกอบกิจการที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ตลาดค้าสัตว์ โดยประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบกิจการขอใบอนุญาตทำการค้า หรือหากําไรในลักษณะคนกลางซึ่งสัตว์ (ร.10) และใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (อภ.2) และสํานักอนามัย (สนอ.) ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือร่วมกัน เพื่อพิจารณาหาแนวทางกํากับดูแลการออกใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทกิจการที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมมอบ สนอ. จัดหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่เชิงรุก เพื่อตรวจสุขภาพให้แก่ผู้ประกอบการสัตว์เลี้ยงและประชาชนทั่วไป

นอกจากนั้น สำนักงานเขตฯ ยังได้ลงพื้นที่ร่วมกับกรมปศุสัตว์ สำรวจ พร้อมให้คำแนะนำขั้นตอนการยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยตรวจประเมินร้านค้ากิจการที่เกี่ยวกับสัตว์ 323 ราย และผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงได้มายื่นขอรับใบอนุญาตกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทกิจการที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงแล้ว ขณะเดียวกันสำนักงานเขตฯ ได้มีหนังสือประสาน รฟท. เพื่อแจ้งให้ทราบถึงแนวทางการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทกิจการที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง และจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องกิจการที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการค้าปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200