Search
Close this search box.
คลองเตยย้ายซากรถจอดทิ้งกลางซอยข้างโรงพยาบาลวิมุต-เทพธารินทร์ เปิด Hawker Center แห่งที่ 2 ศูนย์อาหารพระราม 4 พลาซ่า ส่องสวนวัดคลองเตยใน ยกเดอะปาร์คต้นแบบคัดแยกขยะครบวงจร จับตาฝุ่นจิ๋วไซต์ก่อสร้าง The Residences 38

(27 ส.ค.67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตคลองเตย ประกอบด้วย

ติดตามการเคลื่อนย้ายซากยานยนต์ที่จอดทิ้งไว้บนถนนหรือสถานที่สาธารณะ บริเวณซอยข้างโรงพยาบาลวิมุต-เทพธารินทร์ ถนนพระรามที่ 4 ซึ่งเขตฯ ได้สำรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ ประกอบกับได้รับการร้องเรียนจากประชาชนผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue ว่ามีซากยานยนต์จอดทิ้งไว้บริเวณดังกล่าว จำนวน 1 คัน โดยได้ประสานสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ตรวจสอบทางด้านคดี และตรวจสอบทะเบียนรถในระบบกรมการขนส่งทางบก พร้อมทั้งปิดประกาศให้เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ภายในระยะเวลา 15 วัน จากการตรวจสอบไม่พบเจ้าของหรือผู้ครอบครอง และยังไม่มีผู้ใดมาทำการเคลื่อนย้าย จึงได้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน โดยวันนี้เขตฯ ร่วมกับสำนักเทศกิจ ซึ่งให้การสนับสนุนรถบรรทุกแบบชานเลื่อน (รถชานสไลด์) ดำเนินการเคลื่อนย้ายซากยานยนต์ จำนวน 1 คัน เพื่อนำไปเก็บไว้บริเวณสถานที่เก็บรักษาของกลางเขตหนองแขม กำหนดจัดเก็บซากยานยนต์เป็นระยะเวลา 6 เดือน หากไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองมาติดต่อ จะดำเนินการขายทอดตลาดซากยานยนต์ตามระเบียบของทางราชการว่าด้วยการดำเนินคดีต่อไป สำหรับผลการดำเนินงานจัดการซากยานยนต์จอดทิ้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562-2567 ตรวจพบซากยานยนต์ 1,477 คัน เจ้าของเคลื่อนย้าย 1,225 คัน สำนักงานเขตเคลื่อนย้าย 252 คัน เปรียบเทียบปรับ 57 คัน และขายทอดตลาด 80 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ส.ค. 67)

สำรวจพื้นที่ Hawker Center บริเวณศูนย์อาหารพระราม 4 พลาซ่า ถนนพระรามที่ 4 ที่ผ่านมาเขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.ศูนย์อาหารถนอมมิตร ถนนพระรามที่ 4 รองรับผู้ค้าได้ 20 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. 2.ศูนย์อาหารพระราม 4 พลาซ่า รองรับผู้ค้าได้ 20 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. และ 14.00-22.00 น. จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่เจ้าของตลาดกำหนด ซึ่งการจัดทำ Hawker Center เป็นไปตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม คำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 42 ราย ดังนี้ 1.หน้าธนาคารกสิกรไทย สาขาคลองเตย ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-20.00 น. 2.ซอยไผ่สิงโต ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 6 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-24.00 น. 3.ปากซอยอรรถกวี (ฝั่ง BMW) ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-11.00 น. และ 4.ปากซอยแสนสุข ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ได้ดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.หน้าทางเข้าห้างโลตัส ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 5 ราย 2.หน้าองค์การโทรศัพท์ ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 5 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 7 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 188 ราย ดังนี้ 1.ถนนดวงพิทักษ์ ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-18.00 น. 2.ซอยสุขุมวิท 16 ผู้ค้า 21 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 3.แยกกล้วยน้ำไท ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. 4.ซอยสุขุมวิท 50 ผู้ค้า 5 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 5.ปากซอยสุขุมวิท 4 ผู้ค้า 29 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-03.00 น. ของวันรุ่งขึ้น 6.ปากซอยอรรถกวี (ฝั่งขวา เอสโซ่) ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-11.00 น. และ 7.ตลาดริมคลองหัวลำโพง (ตลาดลาว) ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 92 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 03.00-24.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ จะดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 1 จุด คือตลาดริมคลองหัวลำโพง (ตลาดลาว) ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 92 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง กวดขันผู้ค้าไม่ให้มีการตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้เก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่

สำรวจสวน 15 นาที สวนวัดคลองเตยใน ปัจจุบันเขตฯ มีสวนเดิม จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า พื้นที่ 9 ไร่ 2.สวนหย่อมป๋าเปรม พื้นที่ 50 ตารางวา 3.สวนหย่อมอาจณรงค์ภิรมย์ พื้นที่ 1 ไร่ สวน 15 นาที (สวนใหม่) ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนคลองเตย พัก&Play สวนหย่อมหน้าสถานีรถไฟฟ้า MRT ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พื้นที่ 300 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 2.สวน 50 สุข สุขุมวิท 50 (สวนไทรเฉลิมพระเกียรติ) พื้นที่ 10 ไร่ 2 งาน 55 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 3.สวน 80 พรรษามหาราชินี (ใต้ทางด่วนซอยสุขุมวิท 48/1) พื้นที่ 5 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย สวน 15 นาที (สวนใหม่) อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1.สวนวัดคลองเตยใน พื้นที่ 2 งาน กรรมสิทธิ์ที่ดินของวัดคลองเตยใน 2.สวนเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 83 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 3.สวน 24 สวนลุมพินีเพลส พื้นที่ 2 งาน กรรมสิทธิ์ที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย 4.สวนชุมชนแฟลต 11-18 พื้นที่ 3 งาน กรรมสิทธิ์ที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่างที่มีความเหมาะสม เพื่อจัดทำสวน 15 นาทีให้ครบทั้ง 10 แห่ง โดยออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงตามความต้องการของประชาชนที่จะเข้ามาใช้บริการ เพื่อให้การจัดทำสวน 15 นาที เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ อาคารเดอะปาร์ค THE PARQ ถนนพระรามที่ 4 พื้นที่ 138,000 ตารางเมตร พนักงาน 11,532 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2564 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ผู้เช่าทำการคัดแยกขยะรีไซเคิล นำขยะรีไซเคิล บีบอัดและนำใส่ถุง แยกจัดเก็บตามประเภทในห้องคัดแยกขยะ เช่น ขวดแก้ว กระป๋องอลูมิเนียม พลาสติก กระดาษ นัดหมายการนำส่งขยะ (TBR) 2.ขยะอินทรีย์ คัดแยกเศษอาหารที่จะนํามาใส่ในเครื่อง ไม่ให้มีสิ่งเจือปนที่อาจเป็นอันตรายกับตัวเครื่อง ชั่งน้ำหนักเศษอาหารที่จะใส่ในเครื่องกําจัดขยะเศษอาหาร เทเศษอาหารลงในเครื่องกำจัดเศษอาหาร และเกลี่ยเศษอาหารที่เทลงไปแล้วให้อยู่ในระดับเดียวกัน ขยะเศษอาหารจะย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ เพื่อเป็นวิตามินบำรุงพืช 3.ขยะทั่วไป นำขยะที่ดำเนินการคัดแยกแล้วใส่เข้าเครื่อง Dust Drum (เครื่องบีบอัดขยะ) เครื่อง Dust Drum ทำการจัดเก็บขยะอัตโนมัติโดยการหมุนให้ขยะไปอยู่ด้านหน้าเครื่อง รถเก็บขยะของกทม. รอรับขยะจากเครื่อง Dust Drum และนำขยะออกจากอาคารไปกำจัด 4.ขยะอันตราย คัดแยกขยะที่ปนเปื้อนก่อให้เกิดอันตรายต่อคนและสิ่งแวดล้อม สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 1,684 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ 1,962 กิโลกรัม/เดือน ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 82,848 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 79,201 กิโลกรัม/เดือน

ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการ The Residences 38 ซอยสุขุมวิท 38 ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัย ความสูง 37 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อาทิ จัดทำรั้วโดยรอบในระดับความสูงไม่น้อยกว่า 6 เมตร เปิดเครื่องพ่นละอองน้ำบริเวณทางเข้า-ออกโครงการและพื้นที่โดยรอบในช่วงเวลาทำงาน ฉีดล้างทำความสะอาดล้อรถยนต์ที่ผ่านเข้า-ออกโครงการ ตรวจวัดค่าควันดำรถยนต์ รถบรรทุกตามรอบที่กำหนด นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 2 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 2 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 5 แห่ง ประเภทอู่รถเมล์ 1 แห่ง ประเภทจุดถมดินท่าทราย 1 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

ในการนี้มี นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตคลองเตย สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี #ปลอดภัยดี #เดินทางดี

—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200