ในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (17 ก.ค.67) นายธนวัฒน์ เชิดชูกิจกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตประเวศ เสนอญัตติ ขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการกำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ (Zoning) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน
.
ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีสถานบริการ จำนวน 207 แห่ง ตั้งอยู่ในเขตโซนนิ่ง 73 แห่ง และอยู่นอกเขตโซนนิ่ง 134 แห่ง และสถานบริการที่ตั้งอยู่ในสถานที่ตั้งโรงแรม จำนวน 32 แห่ง สถานบริการบางแห่งที่อยู่นอกเขตโซนนิ่งเปิดบริการไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด บางแห่งตั้งอยู่ใกล้สถานศึกษา วัด ทำให้เยาวชนใช้เป็นพื้นที่มั่วสุม และยังสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง รวมถึงมีการขยายตัวของเมืองเพิ่มขึ้น จึงเห็นควรให้มีการจัดตั้งโซนนิ่งใหม่ ประกอบกับราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎกระทรวง กำหนดวันเวลาเปิด-ปิดของสถานบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 โดยสาระสำคัญเป็นการขยายเวลาให้สถานบริการที่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดชลบุรี จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดภูเก็ต และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมถึงสถานบริการที่ตั้งที่อยู่ในสถานที่ตั้งโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมทั่วประเทศ ให้เปิดบริการได้ถึงเวลา 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ถึงแม้จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ตนก็ยังเห็นว่าควรจะต้องศึกษาถึงความเหมาะสมในการตั้งสถานที่บริการว่าสอดคล้องกับสังคมหรือพื้นที่หรือไม่
.
สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมอภิปรายเพื่อสนับสนุนญัตตินี้ ประกอบด้วย นายอภิวัฒน์ ด่านศรีชาญชัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจตุจักร นายเอกกวิน โชคประสพรวย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตราชเทวี นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตยานนาวา ซึ่งเห็นว่าปัญหาของสถานบริการไม่เพียงแค่เวลาเปิด-ปิด ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด มีการลักลอบให้บริการเกินเวลาเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาการจัดโซนนิ่งที่มีสถานบริการจำนวนมากตั้งอยู่บริเวณรอบสถานศึกษา และยังพบปัญหามลพิษทางเสียงที่เกิดขึ้นกับผู้พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียงด้วย
.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวชี้แจงว่า ในกรุงเทพมหานคร มีโซนนิ่งของสถานบริการเพียง 3 โซน คือ พัฒน์พงศ์ RCA และรัชดาภิเษก แต่ที่ท่านส.ก.พูดถึงน่าจะเป็นโซนนิ่งการจำหน่ายสุรา ซึ่งอาจจะยังมีความสับสนและไม่เป็นปัจจุบันอยู่ ตนก็เห็นด้วยกับการตั้งคณะวิสามัญฯเพื่อศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาประกาศใช้ต่อไป
.
จากนั้นที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการกำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ (Zoning) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน จำนวน 16 ท่าน กำหนดระยะเวลาการศึกษา 150 วัน
—————