(10 ม.ค.66) รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหารือหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ในการจัดตั้งผู้ประสานงานกลาง (Focal point) ประจำหน่วยงานด้านการต่างประเทศของกรุงเทพมหานคร เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และการบริหารจัดการเมือง ณ ห้องเจ้าพระยา ชั้น 1 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า นโยบายของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีเป้าหมาย “กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” โดยนำดัชนีชี้วัดเมืองน่าอยู่ (The Global Liveability Index) ของ Economist Intelligence Unit (EIU) เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการจัดกลุ่มนโยบายและดัดแปลงให้ครอบคลุมบริบทของเมืองกรุงเทพฯ “ตามนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี” ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ดำเนินการขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองมหานคร ภายใต้แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556 – 2575) ตามแนวทางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันยุทธศาสตร์ชาติในการเป็นเมืองที่ยั่งยืน เมืองชั้นนำ เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว และการศึกษาพัฒนาคน เพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นมหานครแห่งเอเชียในปี 2575
ซึ่งในส่วนของงานด้านการต่างประเทศของกรุงเทพมหานครนั้น มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภายในของกรุงเทพมหานครอย่างหลากหลายตามรูปแบบความสัมพันธ์ กิจกรรมและกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศกับเครือข่ายนานาชาติ อันได้แก่ การค้าการลงทุน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน การบริหารจัดการเมือง คุณภาพชีวิต การศึกษา และการท่องเที่ยว โดยมีแนวโน้มความร่วมมือในระดับต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานครกับเครือข่ายนานาชาตินั้นมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนอย่างเป็นรูปธรรมถึงบทบาทนำ (Leading role) และความสำคัญของกรุงเทพมหานครในฐานะหมุดหมายสำคัญในเวทีนานาชาติของภูมิภาคเอเชีย
นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน – ธันวาคม 2565 กรุงเทพมหานครดำเนินกิจกรรมด้านการต่างประเทศร่วมกับผู้แทนในระดับรัฐจากทั่วโลกไม่น้อยกว่า 95 ครั้ง (เฉลี่ย 15 ครั้ง/เดือน) ส่งผลต่อการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า ความช่วยเหลือทางเทคนิคและวิชาการ และด้านวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง อีกทั้ง มีการหารือและเจรจาการทูตในระดับเมืองกับองค์การระหว่างประเทศ และเครือข่ายนานาชาติ ไม่น้อยกว่า 30 องค์กร รวมทั้งการให้บริการสนับสนุนงานด้านวิชาการด้านการต่างประเทศให้กับหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ไม่น้อยกว่า 70 กิจกรรม
ดังนั้น คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ได้เล็งเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการเร่งรัดการยกระดับกลไกการประสานงานด้านการต่างประเทศภายในกรุงเทพมหานคร โดยมอบหมายให้สำนักงานการต่างประเทศ เป็นหน่วยงานหลัก อย่างไรก็ตาม สำนักงานการต่างประเทศนั้นไม่อาจบริหารจัดการงานการต่างประเทศในเชิงรุกได้โดยลำพังและหน่วยงานเดียว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างกลไกการเชื่อมโยงและบูรณาการงานเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศของกรุงเทพมหานครให้เกิดเอกภาพในทางนโยบาย ความคล่องตัวในทางปฏิบัติ และประสิทธิภาพในการส่งมอบคุณค่าของผลสัมฤทธิ์งานด้านการต่างประเทศต่อเมือง ผ่านการจัดตั้งประสานงานกลาง (Focal point) ประจำหน่วยงานด้านการต่างประเทศของกรุงเทพมหานคร เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและการบริหารจัดการเมือง เพื่อให้การบูรณาการขับเคลื่อนงานด้านการต่างประเทศของกรุงเทพมหานคร เกิดเอกภาพ ความคล่องตัว และสมรรถนะสูงต่อการตอบสนองต่อประเด็นการพัฒนาและประเด็นปัญหาที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเมือง นโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและแนวปฏิบัติของคณะผู้บริหาร
โดยการประชุมดังกล่าว เป็นการประชุมเพื่อหารือเพื่อกำหนดแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพ
การดำเนินงานด้านการต่างประชุม รวมทั้งรับฟังปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานด้านการต่างประเทศรวมทั้งรองรับทิศทางและนโยบายการพัฒนาเมืองของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แนวทางการประสานความร่วมมือและการดำเนินการของหน่วยงานกรุงเทพมหานคร เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการต่างประเทศ รวมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการต่างประเทศ เพื่อให้ทุกหน่วยงานเดินหน้างานด้านการต่างประเทศไปพร้อม ๆ กัน
ผู้เข้าร่วมการประชุมในวันนี้ ประกอบด้วย ผู้บริหารของหน่วยงาน และผู้ปฏิบัติที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านการต่างประเทศของหน่วยงานเข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย สำนักงานการต่างประเทศ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักพัฒนาสังคม สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสำนักงานประชาสัมพันธ์