กทม.เร่งปรับปรุงไฟฟ้าส่องสว่างทางเดินเลียบคลองแสนแสบเป็นระบบโซล่าเซลล์ – หลอด LED
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างทางเดินเลียบคลองแสนแสบว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนน.ได้ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างริมทางเดินแสนแสบ เป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกจากบริเวณประตูระบายน้ำคลองตันถึงบริเวณประตูระบายน้ำมีนบุรี แล้วเสร็จประมาณปี 2559 ต่อมาถูกลักขโมยสายไฟฟ้า ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ สนน.จึงประสานการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ขอให้ปักเสาไฟฟ้าและเดินสายไฟฟ้าจากบริเวณซอยรามคำแหง 29 ถึงบริเวณถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก (วงแหวนตะวันออก) ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จประมาณปี 2560 การติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาถูกลักขโมยสายไฟฟ้าได้ และช่วงที่ 2 จากบริเวณซอยสุขุมวิท 39 ถึงบริเวณซอยทองหล่อ แล้วเสร็จประมาณปี 2561
สำหรับแนวทางการตรวจสอบและบำรุงรักษาไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณทางเดินเลียบคลองแสนแสบช่วงตั้งแต่พื้นที่เขตปทุมวัน (ประตูน้ำ) ถึงเขตหนองจอกให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สนน.ได้พิจารณาวางแผนการปรับปรุงระบบไฟฟ้าจากระบบเดิมให้เป็นระบบโซล่าเซลล์ ช่วงตั้งแต่พื้นที่เขตปทุมวัน (ประตูน้ำ) ถึงเขตหนองจอก โดยเริ่มดำเนินโครงการนำร่องจากซอยสุขุมวิท 39 ถึงบริเวณซอยทองหล่อ คาดจะแล้วเสร็จประมาณเดือนมีนาคม 2566 ส่วนระบบไฟฟ้าส่องสว่างของเดิมที่ได้ขอให้ กฟน.ติดตั้งไว้ก่อนหน้านั้น สนน.ได้ประสานให้ กฟน.เปลี่ยนหลอดไฟฟ้าใหม่เป็นหลอด LED เพื่อเพิ่มความสว่างและความสะดวกในการสัญจร คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนมิถุนายน 2566 ขณะเดียวกันได้พิจารณาวางแผนเร่งสำรวจระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ช่วงจากบริเวณประตูระบายน้ำคลองตันถึงบริเวณท่าเรือประตูน้ำที่ยังไม่มีระบบไฟฟ้าส่องสว่าง โดยจะประมาณราคา เพื่อของบประมาณติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2566 ต่อไป
ดนตรีในสวนปี 66 กทม.จัดใหญ่ 52 ครั้ง กว่า 208 วง
นายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) กทม.เปิดเผยถึงการจัดกิจกรรมดนตรีในสวนปี 2566 ว่า มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินกิจกรรม เพื่อให้เกิดความหลากหลายของผู้ร่วมกิจกรรม ทั้งในส่วนของผู้แสดงดนตรี และผู้เข้าชม “ดนตรีในสวนปีนี้ ไม่ใช่เป็นการแสดงของกรุงเทพมหานคร หรือเฉพาะองค์กรและสถาบันที่ กทม.ขอความร่วมมือมาเท่านั้น แต่จะมีเด็ก เยาวชน และประชาชนที่มีความสามารถทางด้านดนตรีเข้าร่วมแสดง โดยจะมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้พิจารณา ซึ่งผู้เข้าร่วมแสดงจะได้รับประสบการณ์การทำงานกับมืออาชีพ อันเป็นบันไดขั้นแรกที่เปิดโอกาสให้ก้าวไปสู่การประสบความสำเร็จในอนาคตได้” ดังนั้น กทม.จึงได้จัดประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์เพื่อจัดหาผู้ดำเนินการกิจกรรมดนตรีในสวนปี 2566 ซึ่งจะจัดขึ้นรวม 52 ครั้ง และได้ผู้รับจ้างแล้วในงบประมาณรวม 7.33 ล้านบาท หรือคิดเป็นงบประมาณเฉลี่ยต่อครั้งเพียง 140,962 บาท โดยค่าใช้จ่ายหลักแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ค่าตอบแทนให้แก่วงดนตรี หรือนักดนตรีที่ร่วมแสดง และค่าอุปกรณ์ที่จำเป็นในการจัดกิจกรรม ได้แก่ อุปกรณ์ด้านแสง สี เสียง ที่สำคัญคือ อุปกรณ์ปั่นไฟ เพราะดนตรีในสวนเป็นการแสดงนอกอาคาร (outdoor) การจัดการย่อมแตกต่างจากการแสดงภายในอาคาร
ส่วนงบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ เนื่องจากมีการเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรม จึงจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมจากช่องทางปกติที่ กทม.มีอยู่ เพื่อสื่อสารโดยตรงกับกลุ่มเป้าหมายหลัก ทั้งเด็ก เยาวชน และประชาชนผู้ที่สนใจในกิจกรรมดนตรีในสวนโดยเฉพาะ เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารการจัดกิจกรรมอย่างทั่วถึง “ค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ตลอดกิจกรรมดนตรีในสวนปี 2566 ซึ่งมีแสดงรวม 52 ครั้ง อยู่ที่ 57,000 บาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.788 ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งกิจกรรม”
กิจกรรมดนตรีในสวนปี 2566 จัดแสดงใน 12 สวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร จำนวน 52 ครั้ง ในวันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 17.00 – 20.00 น. มีวงดนตรีเด็ก เยาวชน ประชาชน ศิลปิน และผู้พิการเข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 208 วง ในแต่ละครั้งมีการแสดงไม่น้อยกว่า 4 วง เฉพาะมกราคมเดือนนี้กำหนดจัดการแสดง 16 ครั้ง และจะจัดการแสดงในเดือนต่อ ๆ ไปจนครบ 52 ครั้ง คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 30,000 คน การจัดกิจกรรมดังกล่าวยังมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้เกิดการใช้จ่าย และส่งเสริมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ ขณะที่เด็ก เยาวชน ประชาชน และนักดนตรีจะได้มีพื้นที่แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ มีโอกาสค้นพบศักยภาพของตนเอง อันจะนำไปต่อยอดด้านอาชีพ และทำให้เกิด Soft Power ด้านการแสดงของกรุงเทพมหานคร ทั้งยังเป็นความบันเทิงที่ประชาชนเข้ารับชมได้โดยเปิดกว้างอย่างทั่วถึงและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด รวมถึงช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานครได้อีกทางหนึ่ง
สจส.แจงนำรถ BMA Feeder ให้บริการเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้า-ตลาดน้ำ 4 แห่งในเขตตลิ่งชัน ไม่กระทบ 2 เส้นทางหลัก
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กล่าวกรณีมีข้อกังวล กทม.ให้บริการเดินรถบัสไฟฟ้า BMA Feeder ในเส้นทางส่งเสริมเศรษฐกิจท่องเที่ยวเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าบางขุนนนท์กับการเดินทางระหว่างตลาดน้ำ 4 แห่งในเขตตลิ่งชัน อาจส่ง ผลกระทบกับการเดินรถใน 2 เส้นทางหลักที่ต้องแบ่งรถบัสไฟฟ้ามาให้บริการในช่วงวันเสาร์และวันอาทิตย์ว่า สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) มีโครงการให้บริการนำส่งผู้โดยสารเข้าสู่ระบบขนส่งทางราง โดยใช้รถโดยสารปรับอากาศพลังงานไฟฟ้าขนาด 20 ที่นั่ง ‘BMA Feeder’ ให้บริการเดินรถฟรีในลักษณะรถเวียน (Shuttle Bus) ปัจจุบันมี 2 เส้นทาง คือ B2 (ดินแดง – BTS สนามเป้า) ระยะทาง 10.1 กิโลเมตร และ B3 (ชุมชนเคหะร่มเกล้า – ARL ลาดกระบัง) ระยะทาง 16.2 กิโลเมตร โดยว่าจ้างเอกชนเดินรถ ด้วยงบประมาณ 37 ล้านบาท ระยะเวลา 21 เดือน จากสถิติจำนวนผู้โดยสาร นับตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมาปรากฏว่า มีประชาชนผู้ใช้บริการในวันทำงานจำนวนมาก ส่วนวันหยุดจะมีจำนวนน้อย ทั้งสองเส้นทาง ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร จึงมีแนวคิดนำรถบัสไฟฟ้า BMA Feeder จำนวน 4 คัน (จากเส้นทาง B2 จำนวน 2 คัน และ B3 จำนวน 2 คัน) มาทดลองวิ่งในเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้าบางขุนนนท์ กับตลาดน้ำทั้ง 4 แห่งในเขตตลิ่งชัน ได้แก่ ตลาดน้ำสองคลอง ตลาดน้ำตลิ่งชัน ตลาดน้ำคลองลัดมะยม และตลาดน้ำวัดสะพาน เข้าไว้ด้วยกัน เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดความคุ้มค่ากับการใช้งบประมาณ และเกิดประโยชน์ต่อประชาชน
สำหรับผู้ใช้บริการในเส้นทาง B2 และ B3 เดิมในช่วงวันหยุด เนื่องจากขณะนี้ยังมีผู้ใช้บริการน้อย สจส.ยังคงสามารถให้บริการในอัตราความถี่วิ่ง 1 รอบต่อครึ่งชั่วโมงได้ จึงไม่ส่งผลกระทบกับการให้บริการแต่อย่างใด ทั้งนี้ สจส.จะประเมินผลโครงการเป็นระยะ ๆ เพื่อพัฒนาปรับปรุงและสำรวจเส้นทางใหม่ ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเส้นทางที่ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดให้บริการเดินรถ แต่เป็นเส้นทางที่ประชาชนจำเป็นต้องใช้สัญจร เพื่อให้สามารถเข้าถึงการเดินทางด้วยระบบรางได้อย่างสะดวกทั่วถึงต่อไป
กทม.ตรวจความเรียบร้อยบริเวณถนนราชดำเนิน ดูแลความปลอดภัยในอุโมงค์ทางลอดถนนหน้าพระลาน
นายสัมฤทธิ์ สุมาลี ผู้อำนวยการเขตพระนคร กทม. กล่าวกรณีสื่อออนไลน์เสนอภาพร้านค้าตั้งร้านกีดขวางทางเท้าบริเวณถนนราชดำเนินตลอดแนวว่า สำนักงานเขตพระนคร ได้ตรวจสอบภาพดังกล่าวพบว่า เป็นภาพเหตุการณ์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งจะมีประชาชนเข้ามาสักการะพระแก้วมรกตที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามและศาลหลักเมือง โดยเฉพาะวันที่ 1 มกราคม 2566 มีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าสักการะพระแก้วมรกตจำนวนมาก ประกอบกับเป็นวันแรกที่เปิดใช้อุโมงค์ทางลอดถนนหน้าพระลาน ทำให้มีผู้ค้าเข้ามาในพื้นที่โดยรอบพระบรมมหาราชวังและสนามหลวง รวมถึงบริเวณหน้าศาลฎีกา ถนนราชดำเนินใน เพื่อจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ เช่น อาหาร ของที่ระลึกจำนวนมาก โดยในวันดังกล่าวสำนักงานเขตฯ ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจลงพื้นที่ดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้ประชาชน รวมทั้งดูแลควบคุมไม่ให้ประชาชนเข้าไปแออัดภายในอุโมงค์ทางลอดมากเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอันตราย
นอกจากนั้น สำนักงานเขตฯ ยังได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจดูแลและตรวจตราความเรียบร้อยในที่สาธารณะ ไม่ให้ผู้ค้าฝ่าฝืนจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ หากพบเห็นในครั้งแรกจะว่ากล่าวตักเตือนและให้เคลื่อนย้ายออกไปจากที่สาธารณะ หากยังฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะจับกุมและเปรียบเทียบปรับต่อไป