(5 มิ.ย. 67) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นวิทยากรหัวข้อวิชา “การจัดพื้นที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชน” หลักสูตรเตรียมผู้อำนวยการเขต ณ ศูนย์การเรียนรู้มหานคร เขตหนองจอก
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเสมอว่า การทำน้อยแต่ได้มากคือสิ่งที่เกิดประโยชน์ นั่นคือหลักการปฏิบัติในการร่วมมือกันทำบางอย่างที่ไม่ได้ยึดแต่คนมีกำลังมาก มีทรัพยากรมากในสังคมอย่างเดียว แต่ให้นึกถึงคนที่มีกำลังน้อย มีทรัพยากรน้อยในสังคม ได้มีส่วนร่วมด้วย หัวใจของการสร้างเมืองให้มีชีวิตชีวา คือการทำให้ทุกคนออกมาใช้ชีวิต ซึ่งการที่ให้ทุกคนออกมาใช้ชีวิตโดยอยู่ภายใต้กฎระเบียบก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นการจะเป็นผู้บริหารเขตจึงต้องออกแบบให้ดี เพื่อให้ทุกคนมาร่วมใช้พื้นที่สาธารณะอย่างมีระเบียบ
การออกแบบพื้นที่สาธารณะโดยยึดหลักตามปราชญ์ที่กำหนดไว้จะเริ่มต้นคิดจากการใช้ชีวิตของคนก่อน ค่อยออกแบบพื้นที่ แล้วจึงออกแบบอาคาร ดังนั้นจึงต้องเริ่มจากการทำอย่างไรให้คนทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ภายใต้กฎระเบียบที่กำหนด ภายใต้คำว่า คน (People) กับ เมือง (City) ให้เกิดประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด เพื่อทำให้พื้นที่สาธารณะมีชีวิต
สำหรับปัจจัยที่ทำให้พื้นที่สาธารณะ (Public Space) มีชีวิต คือ 1. ใกล้บ้าน เดินทางสะดวก 2. ต้นทุนต่ำ และ 3. มีกิจกรรมตอบโจทย์ผู้ใช้งาน มีคุณภาพด้วยกิจกรรมหลากหลายสำหรับคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย และมีอุปกรณ์พร้อมตอบโจทย์คนกรุงฯ นี่คือปัจจัยและหัวใจที่จะทำให้พื้นที่สาธารณะมีชีวิตชีวา มีผู้คนมาร่วมกิจกรรมมากมาย
อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้องค์ประกอบของพื้นที่สาธารณะสมบูรณ์และมีคุณภาพ คือข้าราชการที่สร้างเมืองให้มีชีวิต โดยมีบทบาทดังนี้ 1. การควบคุมกฎระเบียบ พร้อมปรับบทบาทของข้าราชการ ซึ่งข้าราชการเป็นผู้ที่ควบคุมกฎระเบียบตามอำนาจอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เพิ่มมาคือควรเป็นผู้อำนวยความสะดวกและเป็นผู้สนับสนุน พร้อมประสานงานให้ทุกคนทำตามกฎระเบียบที่กำหนด โดยต้องสร้างกฎระเบียบที่เกิดประโยชน์และอำนวยความสะดวกให้กับทุกฝ่าย 2. ปรับปรุงคุณภาพเชิงกายภาพกายภาพของพื้นที่สาธารณะ โดยปรับปรุงการใช้งานสถานที่ต่าง ๆ ในการดูแลของกทม. เพื่อส่งเสริมการใช้งานในรูปแบบใหม่ ๆ อาทิ สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามเด็กเล่น โครงสร้างพื้นฐานในย่าน ลุมพินีสถาน พิพิธภัณฑ์เด็ก เป็นต้น และ 3. การสร้างการมีส่วนร่วม ผ่าน 4 เสาหลักของพัฒนาเมืองและพื้นที่สาธารณะให้มีชีวิตอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม โดยต้องสร้างกิจกรรมเป็นประจำในพื้นที่สาธารณะเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม และนั่นคือหัวใจที่จะทำให้เมืองมีชีวิตชีวาได้
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสํานักงาน ก.ก. ได้ดําเนินโครงการพัฒนาศักยภาพของนักบริหารและเตรียมความพร้อมการเป็นผู้นําในการปฏิบัติภารกิจของเมืองในอนาคต หลักสูตรเตรียมผู้อํานวยการเขต ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 24 เมษายน – 13 มิถุนายน 2567 โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญที่ดํารงตําแหน่งผู้ช่วยผู้อํานวยการเขตและประเภทอํานวยการ ระดับต้น จํานวน 25 คน
#บริหารจัดการดี #สังคมดี
—————–