ที่ผ่านมา “กรุงเทพมหานคร”หรือ กทม.ภายใต้การดำเนินงานของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ได้ดำเนินการตามนโยบายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ตลอดจนการปรับปรุงทางเท้าและเส้นทางคมนาคมได้สะดวกมากขึ้น ปัจจุบันได้ครบรอบ 2 ปีของการทำงาน เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา
ล้มคำสั่งม.44 ลุยสัมปทานสายสีเขียว
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า เดิมกรุงเทพฯ เป็นเมืองเที่ยวสนุก แต่ประสิทธิภาพต่ำ ซึ่งทำให้คนเหนื่อยกับการใช้ชีวิตและการเผชิญกับปัญหาอุปสรรคมากมาย ดังนั้นสิ่งที่ได้ทำตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จึงมีการเปลี่ยน แปลงและปรับหลายๆ ด้าน เพื่อให้การทำงานและการแก้ไขปัญหามีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้คนเหนื่อยน้อยลงและมีความสุขกับการใช้ชีวิตมากขึ้น
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า BTS ที่มีมาต่อเนื่อง ได้ลุล่วงไปในก้าวแรก โดยกทม.สามารถชำระหนี้งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ของรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว วงเงิน 23,000 ล้านบาท ซึ่งได้โอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของ กทม. เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้กทม.จะดำเนินการต่อไปคือการลดการผูกขาด โดยเสนอรัฐบาลให้ยกเลิกคำสั่ง ม.44 นำระบบรถไฟฟ้ากลับสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและร่วมทุนตามกฎหมาย เพื่อ ผลประโยชน์ของประชาชนต่อไป
“ปัจจุบันคำสั่งม.44 พบว่าข้อเท็จจริงได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เนื่องจากคำสั่งเดิมให้กทม.นำหนี้หนี้งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ที่ชำระไปแล้วเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสัญญาสัมปทาน ซึ่งกทม.จะเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไร ควรยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนคำสั่งม.44 ดำเนินการเปิดประมูลตามพ.ร.บ.ร่วมทุนใหม่หรือไม่ขึ้นอยู่กับครม.เป็นผู้พิจารณา คาดว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยได้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้”
นายชัชชาติ ระบุอีกว่า ขณะนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานอีก 5 ปี หรือปี 72 ซึ่งตามกระบวนการจะต้องเริ่มดำเนินการเปิดประมูลตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯแล้ว แต่เงื่อนไขที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น สัญญาที่มีการ ต่อสัมปทานล่วงหน้ากว่า 10 ปี ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ครม.จะต้องพิจารณาเป็นแพ็คเกจเดียวกันด้วย ทั้งนี้หากจะดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ จะต้องดำเนินการก่อน 5 ปีที่สัญญาสัมปทาน จะสิ้นสุดลง โดยกทม.จะจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
“เราอยากให้รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าสู่กระบวนการเปิดประมูลใหม่ เพราะการต่อสัญญาสัมปทานจะดูแลเพียงไม่กี่คนไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้มีผลต่อประชาชนที่ใช้บริการกว่า 700,000 คนต่อวัน รวมทั้งรายได้ของกทม.ในอนาคตด้วย ซึ่งเราควรทำให้กระบวนการโปร่งใสเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด”
เร่งสปีด 500 ป้ายรถเมล์ดิจิทัล
ในปี 68 กทม.จะเร่งดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ที่มีแอปพลิเคชั่นนำทางและเอกชนที่มีแอปพลิชั่น Via Bus ฯลฯ เพื่อทำงานร่วมกันในการเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามรถโดยสารได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงป้ายรถเมล์ดิจิทัล 500 ป้าย, การปรับปรุงศาลารถเมล์ 300 หลัง และการติดตั้งจอดิจิทัลในศาลาที่พักผู้โดยสารอีก 200 หลัง ซึ่งจะเป็น การเพิ่มตัวเลือกการเดินทาง โดยเฉพาะการเชื่อมต่อ (Last Mile) ด้วยการเดินทางที่หลากหลาย เช่น รถตุ๊กๆ ไฟฟ้า, เรือไฟฟ้า, จักรยาน Shuttle Bus และการเดินเท้าที่สะดวกปลอดภัย มีหลังคาคลุม เป็นต้น
3 ปี ดันรถสันดาปสู่รถอีวี
นอกจากนี้กทม.มีแผนเปลี่ยนรถบริการของ กทม.จากรถที่ใช้พลังงานดีเซลมาเป็นรถพลังงานไฟฟ้าแทน โดยในปี 67 มีแผนรับมอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้า จำนวน 615 คัน แบ่งเป็น รถเก็บขยะ 368 คัน, รถบรรทุกน้ำ 145 คัน และในปี 68 จำนวน 392 คัน แบ่งเป็น รถเก็บขยะ 372 คัน, รถสุขาเคลื่อนที่ 10 คัน และรถบรรทุก 6 ล้อ 10 คัน รวมทั้งในปี 69 เป็นรถเก็บขยะ จำนวน 657 คัน
อย่างไรก็ตามจากการคำนวณรถขยะขนาด 5 ตัน หากเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าสามารถลดค่าเช่าลงเหลือ 2,240 บาทต่อคันต่อวัน จากเดิมที่จ่ายค่าเช่า 2,800 บาทต่อคันต่อวัน ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือ200 ตันต่อปี จากเดิมที่มีการปล่อยก๊าซฯ2,256 ตันต่อปี และลดการปล่อย PM2.5 เหลือเป็นศูนย์ จากเดิม 22 กก.ต่อปี รวมทั้งลดต้นทุนพลังงานเหลือ 455 บาทต่อเที่ยวจากเดิม 1,300 บาทต่อเที่ยว นอกจากนี้ยังเร่งรัดการก่อสร้างโรงเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าอ่อนนุช-หนองแขม เพื่อลดการฝังกลบและลดต้นทุนการจัดการขยะ คาดว่าจะเปิดโรงงานได้ภายในปี 69 ส่งผลให้กทม.ประหยัดเงินค่าจัดการขยะได้ 172,462,500 บาทต่อปี
หากกทม.สามารถผลักดันโครงการต่างๆ ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ จะทำให้กรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองที่มีประสิทธิภาพดีและเป็นเมืองที่น่าอยู่มากขึ้นในอนาคต
ที่มา: นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 30 พ.ค. – 1 มิ.ย. 2567