(5 ม.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมหัวหน้าหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร ว่า วันนี้เป็นการประชุมระดับ ผอ.สำนัก ผอ.เขต ครั้งแรกของปี 2566 ซึ่งเป็นการจัดรูปแบบใหม่ โดยให้รองปลัดฯ ที่รับผิดชอบแต่ละสำนัก แต่ละเขต มารายงานความคืบหน้า โดยมีเรื่องที่ต้องย้ำเตือนอยู่ 5 เรื่อง เรื่องแรกก็คือ เรื่องความโปร่งใสในการบริการต่าง ๆ ซึ่งก็ยังมีคนร้องเรียนเรื่องการขอใบอนุญาตหรือปัญหาต่าง ๆ อยู่ ก็ยังยืนยันว่าเรื่องความโปร่งใสนี้จะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
เรื่องที่ 2 ก็คือ เรื่องหาบเร่-แผงลอย ก็ต้องน้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ เพราะว่าสถานการณ์เปลี่ยนไป คือเมืองเปิด โควิดหาย คนก็ออกมาทำงานปกติ นักท่องเที่ยวกลับมาเยอะ พอมี demand (ความต้องการ) เราก็จะเริ่มเห็นหาบเร่-แผงลอยกลับคืนมา ซึ่งก็ได้ย้ำกับท่าน ผอ.เขต ทุกท่านว่า เรื่องความมีระเบียบของเมืองและทางเดินเท้าเป็นอันดับ 1 จุดที่กีดขวางต้องห้ามเลย แต่บริเวณไหนที่จะให้คนที่รายได้น้อยได้พอทำมาหากินโดยไม่เกะกะ ก็ให้พิจารณาให้เป็นไปตามระเบียบ แต่ไม่มีนโยบายที่จะให้กลับมาคืนมาเต็มถนน โดยที่ผ่านมาเราทำได้หลายจุดแล้ว อาจจะมีบางจุดก็ยังมีการฝ่าฝืนอยู่ แต่ส่วนใหญ่ก็ทำได้ค่อนข้างดี
เรื่องที่ 3 คือ เรื่องทางเดินเท้า โดยเราได้ไปเดินตรวจการเดินเท้าที่มีการปรับปรุงใหม่ ซึ่งต้องได้มาตรฐาน ที่อย่างน้อยคนพิการต้องเดินทางได้ เรื่องที่ 4 ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับไฟฟ้าแสงสว่าง โดยตอนนี้จะเป็นช่วงที่เรามีการเปลี่ยนจากหลอดไฟเดิม (High Pressure Sodium) เป็นหลอดไฟ LED ประมาณ 25,000 ดวง ได้ให้เขตเร่งสำรวจ และให้สำนักการโยธาเร่งดำเนินการ สำหรับจุดที่ขาดให้รีบเร่งติดตั้งไฟเพิ่มเติมให้ครบถ้วน เรื่องที่ 5 คือ เรื่องของทางม้าลาย ซึ่งเราได้ทำไปเยอะแล้ว โดยปรับให้อยู่ในสภาพดี มีความปลอดภัย โดยเฉพาะจุดที่เป็นจุดเสี่ยงต่าง ๆ
ส่วนนโยบายอื่น ๆ ก็ยังคงเดินหน้าตลอด เช่น ถนนสวยในทุกเขต ระยะทางรวม 151.5 กิโลเมตร การผนวกแพลตฟอร์ม Traffy Fondue เข้ากับระบบรับเรื่องราวร้องทุกข์ 1555 หากมีโทรศัพท์เข้ามาก็สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเป็นฐานข้อมูลเดียวกัน ทำให้ไม่มีข้อมูลร้องเรียนตกหล่น ฉะนั้น เรื่องความคืบหน้านโยบายต่าง ๆ ก็คืบหน้าไปด้วยดี และจะมีการติดตามงานเป็นระยะ
● กทม. เข้าประชุมมาตรการโควิดกับ สธ. เตรียมรับนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในเรื่องโควิด-19 รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้เข้าประชุมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในหลายประเทศที่จะเข้ามา ซึ่งต้องรอกระทรวงสาธารณสุขประกาศอีกทีว่ามีข้อกำหนดอย่างไร โดยทางกทม.ได้ให้ความเห็นไว้แล้ว และพร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบายในภาพรวม
โอกาสนี้ รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางกรุงเทพมหานครเฝ้าระวังสถานการณ์ในเรื่องของการที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศมาโดยตลอด ไม่ใช่เฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่งจะเข้ามา แต่เนื่องจากประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนซึ่งมีจำนวนมาก ทำให้เราจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้นเป็นทวีคูณ ดังนั้น การกระชับมาตรการให้แน่นหนาขึ้น ก็เป็นแนวทางที่เราจะต้องทำ โดยเมื่อสักครู่นี้ได้ไปที่กระทรวงสาธารณสุข ทางกระทรวงก็พยายามเต็มที่ในการหาแนวทางบริหารจัดการนักท่องเที่ยวให้ได้ตั้งแต่ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นที่สุวรรณภูมิ หรือดอนเมือง ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นเขตติดต่อที่จะช่วยดูแล โดยมีกระทรวงสาธารณสุขดูแลทั้งประเทศ
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้เราก็เริ่มประสานงานร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานครกับกระทรวงสาธารณสุข จัดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับผู้ที่ขับรถสาธารณะทั้งหมด โดยกระทรวงสาธารณสุขจะให้โควตามา เพื่อที่ให้เป็น Booster เข็ม 3 เข็ม 4 ให้เร็วที่สุด ดังนั้น ประชาชนของเราที่ให้บริการรถสาธารณะอยู่ก็จะสามารถปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง
ในขณะเดียวกัน กรณีที่มีหลายประเทศต้องการให้การเดินทางกลับของนักท่องเที่ยวของเขามีผล RT-PCR ล่วงหน้า 48 ชั่วโมง กรุงเทพมหานครจึงได้ให้ความเห็นว่า อยากให้มีการจัดระบบระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม และกรุงเทพมหานคร ในการบริหารจัดการกรณีต้องตรวจ RT-PCR จะตรวจที่ไหนได้บ้าง ค่าใช้จ่ายจะเป็นยังไง และ หาก RT-PCR เป็นบวกขึ้นมา นักท่องเที่ยวเดินทางกลับไม่ได้ จะให้บริการทางด้านการรักษาพยาบาล หรือด้านการพักรอเพื่อที่จะเดินทางกลับไปด้วยวิธีการแบบไหน ซึ่งเราก็ได้เสนอว่า กรณีที่ประเทศใดที่ให้ตรวจ RT-PCR ก่อนกลับ จะต้องให้มีการซื้อประกันระยะสั้น เพื่อจะทำให้มีค่าบริหารจัดการ ซึ่งอันนี้ยังไม่แน่นอน แต่ก็เป็นข้อเสนอไป โดยท่านรองนายกรัฐมนตรีเองก็บอกว่า เป็นข้อเสนอที่ดีและท่านก็คิดว่าจะไปบริหารจัดการต่อ เพราะว่ายังมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะมากถ้าเราจะทำแบบนี้
ส่วนสุดท้ายจะเป็นเรื่องของการประสานข้อมูลในพื้นที่ของฝั่งกรุงเทพมหานคร ปกติเรามีศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ฉุกเฉินทางสุขภาพของกทม. ที่ทำมาตลอดอยู่แล้ว โดยในวันอังคารหน้า เราจะได้มาตรการในเชิงรายละเอียดของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำมาปรับใช้กับพื้นที่ของเรา ซึ่งท่านผู้ว่าฯ ได้มอบให้ทุกสำนักงานเขตเริ่มเก็บข้อมูลว่านักท่องเที่ยวที่อยู่ในพื้นที่เขตไหนที่มีความเป็นกลุ่มก้อนเยอะ และมีกิจกรรมอะไรบ้าง เพื่อให้เราสามารถติดตามพัฒนาการหากมีการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการประสานผู้ประกอบการด้วย
ทั้งนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขก็อยากให้เราเน้นเรื่องมาตรการต่าง ๆ ที่เราเคยทำมา อาทิ SHA Plus ของสถานประกอบการ ให้มีความรัดกลุ่มขึ้น ซึ่งทางกรุงเทพมหานครจะพูดคุยกับทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยว และผู้ประกอบการต่าง ๆ เพื่อที่จะทำให้เราแลกข้อมูลซึ่งกันและกัน สุดท้ายศูนย์ประสานงานที่กำลังจะตั้ง ทั้ง EOC ของสาธารณสุข และศูนย์ประสานงานระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้ขอให้ทางกรุงเทพมหานครเข้าร่วมด้วย ในฐานะผู้สนับสนุน และเจ้าของพื้นที่
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อว่า ต้องดูให้รอบคอบ นักท่องเที่ยวที่มาเยอะขึ้น หากกลับไม่ได้ เพราะติดเชื้อโควิด รวมถึงเรื่องการฉีดวัคซีน การตรวจหาเชื้อ ใครจะดูแลค่าใช้จ่าย ต้องขอบคุณนักท่องเที่ยวที่อยากมาเที่ยวประเทศไทย กรุงเทพมหานครยินดีต้อนรับอย่างดีที่สุดให้ทุกคนมาเที่ยวอย่างมีความสุขและกลับบ้านปลอดภัย
● ยังไม่หยุดเดินเรือคลองผดุงฯ แต่พิจารณาแนวทางดำเนินการที่คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า จะไม่สานต่อโครงการต่าง ๆ จากอดีตผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง นั้น หลายโครงการที่ท่านได้ทำมาเป็นโครงการที่ดี เช่น การเดินเรือคลองผดุงกรุงเกษม การปรับปรุงคลองโอ่งอ่าง เป็นต้น ซึ่งการเดินเรือคลองผดุงกรุงเกษมยังไม่ได้หยุดเดินเรือเพียงแต่ให้มีการประเมินสถานการณ์ว่าจะดำเนินการแนวทางใดต่อ เพราะปัจจุบันไม่มีการเก็บค่าโดยสารแต่มีผู้ใช้บริการน้อย โดยช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมามีคนใช้บริการประมาณ 5,000 คนต่อเดือน ตอนนี้ประมาณ 14,000 คนต่อเดือน แต่ค่าใช้จ่ายในการเดินเรือประมาณ 2.4 ล้านบาท ตกคนละ 171 บาทต่อเที่ยว ถือว่าค่อนข้างแพง เราก็ประเมินว่ามีทางเลือกอื่นที่คุ้มค่ากับประชาชนมากขึ้นไหมเพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป หรือโครงการปรับปรุงคลองโอ่งอ่างก็ทำไว้ได้ดี ที่ผ่านมาก็มีการจัดงานเทศกาลทิวารีที่คลองโอ่งอ่าง มีการเรียกผู้ประกอบการมาหารือแนวทางดำเนินการต่อไป ขอบคุณที่ท่านได้ทำหลาย ๆ โครงการไว้ เป็นโครงการที่เรามารับไม้ต่อ
สำหรับแนวทางการจัดเก็บค่าโดยสารการเดินเรือมาช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินเรือนั้น หากต้องติดตั้งระบบจัดเก็บค่าโดยสารก็อาจมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น สิ่งสำคัญคือจะหาลูกค้าหรือผู้ใช้บริการอย่างไร เชื่อมต่อการเดินทางระบบอื่นเพิ่มเติมได้หรือไม่ ไม่ได้ยกเลิกเพียงแต่ดูถึงความคุ้มค่าที่เกิดขึ้น ถ้าเคยใช้บริการจะรู้ว่าเรือวิ่งช้ามากเรือวิ่งเร็วไม่ได้ นั่งรถริมคลองเร็วกว่า ไม่ได้ตั้งใจยกเลิกการเดินเรือ ซึ่งได้มอบให้ รองผู้ว่าฯ วิศณุ ดูว่าผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบหรือไม่ ซึ่งบริเวณนั้นมีทางเลือกในการเดินทางหลายทางเลือก อาจมีโอกาสปรับเป็นการเดินเรือช่วงสั้นก่อน ซึ่งคิดเรื่องประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ส่วนอาจมีการตั้งคำถามว่าถ้าไม่เดินเรือต่อแล้วเรือที่ซื้อมาแล้วจะทำอะไร บางครั้งเราซื้อมาแล้วเสียเงินไปแล้ว แต่ถ้าทำต่อต้องเสียเงินเพิ่มอีกต้องคิดดี ๆ ว่าทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ได้แค่กังวลว่าจะเอาเรือมาใช้อะไรแล้วจ่ายเงินเพิ่มลงไปอีก เรียนว่าไม่ได้มีอคติใด ๆ ขอบคุณที่ได้เริ่มเดินเรือ ปัจจุบันยังไม่ได้มีการเก็บค่าบริการแต่ผู้ใช้บริการยังน้อยต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
● 9 ม.ค. 66 ทำบุญวัดคู่เมือง พร้อมถวายพระพร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา ฯ
ทั้งนี้ ในวันที่ 9 ม.ค. 66 กรุงเทพมหานครได้กำหนดจัดพิธีทำบุญวัดคู่เมือง พร้อมทั้งร่วมถวายพระพรแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ให้ทรงหายประชวรด้วย ซึ่งมีการเชิญผู้แทนพระจากวัดในกรุงเทพฯ ทั้งหมด 460 วัด มาร่วมพิธีโดยจะทำในรูปแบบการสวดมนต์ มี สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (เจ้าคุณธงชัย ธมฺมธโช) พระราชาคณะฝ่ายมหานิกาย เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นประธานในพิธี พร้อมกันนี้จะมีการพูดคุยหารือว่า กรุงเทพมหานครกับวัดจะร่วมมือกันอย่างไรได้บ้าง เพราะโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครหลายแห่งก็อยู่ในวัด
——————————— (พัทธนันท์/มุทิตา…สปส. รายงาน)