(24 พ.ค.67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตดอนเมือง ประกอบด้วย
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บาฟส์ (BAFS) ถนนกำแพงเพชร 6 พื้นที่ 46 ไร่ ประชากร 571 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2567 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ บริษัทมีการแยกประเภทสำหรับขยะอินทรีย์ 2 ประเภท ได้แก่ ขยะเศษอาหารชิ้นเล็กและเศษอาหารชิ้นใหญ่ โดยขยะเศษอาหารชิ้นเล็กที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย เช่น ข้าว ผัก ขนมปัง ผลไม้เปลือกบาง จะนำไปเข้าเครื่องย่อยเศษอาหารเพื่อเปลี่ยนเป็นปุ๋ย โดยปุ๋ยที่ได้จะส่งให้แก่โครงการปลูกผักออร์แกนิคฟาร์มฮักของบริษัท ส่วนขยะเศษอาหารชิ้นใหญ่ที่ย่อยสลายได้ยากกว่า จะส่งให้ทางโครงการปลูกผักออร์แกนิคฟาร์มฮัก เพื่อนำไปหมักทำปุ๋ยโดยกรรมวิธีทางธรรมชาติ สนับสนุนการนำกลับมาใช้ใหม่ไม่สูญเปล่า (Zero food waste) 2.ขยะรีไซเคิล บริษัทจะมีถังขยะสำหรับคัดแยกขยะประเภทพลาสติก โดยจะแบ่งเป็นพลาสติกแข็ง เช่น ภาชนะใส่อาหาร ขวดน้ำ แก้วน้ำ และพลาสติกยืด เช่น ฟิล์มหุ้มขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติก พลาสติกกันกระแทก พนักงานจะทำความสะอาดพลาสติกก่อนนำมาแยกทิ้งที่จุดคัดแยกขยะ รวบรวมส่งต่อให้กับโครงการ YOUเทิร์น ซึ่งจะนำพลาสติกไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลและอัพไซเคิล ผลิตเป็นสินค้าเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ สำหรับกระป๋องและขวดแก้ว บริษัทจะมีถังขยะสำหรับคัดแยกกระป๋องและขวดแก้ว พนักงานจะทำความสะอาดกระป๋องและขวดแก้วก่อนนำมาทิ้งที่จุดคัดแยกขยะ รวบรวมส่งต่อให้กับโครงการรีไซเคิลเดย์ (RECYCLE DAY) เพื่อนำเข้ากระบวนการรีไซเคิล ส่วนกระดาษทั่วไปและกระดาษลัง บริษัทจะมีถังขยะสำหรับคัดแยกกระดาษรีไซเคิล โดยจะแยกเป็นกระดาษทั่วไปและกระดาษประเภทลังกระดาษ พนักงานจะแยกกระดาษแต่ละประเภทในจุดรีไซเคิล กระดาษที่ถูกคัดแยกแล้วจะถูกรวบรวมไว้เพื่อนำส่งให้กับโครงการ SCGP recycle เพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล 3.ขยะทั่วไป บริษัทจะมีถังขยะประเภทขยะทั่วไป นำส่งขยะทั่วไปให้แก่ กทม. ภายใต้โครงการไม่เทรวม 4.ขยะติดเชื้อ บริษัทจะมีถังขยะประเภทขยะติดเชื้อ นำส่งขยะติดเชื้อให้แก่ กทม. ภายใต้โครงการไม่เทรวม 5.ขยะอันตราย บริษัทจะเก็บรวบรวมไว้ เพื่อนำส่งบริษัท EN-Technology โดยจะนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลทั้งหมด เพื่อผลิตเป็นพลังงาน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 515 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1,003 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 260 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิล (พลาสติกแข็งและพลาสติกยืด) หลังคัดแยก 12 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิล (กระป๋องและขวดแก้ว) หลังคัดแยก 36 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิล (กระดาษทั่วไปและกระดาษลัง) หลังคัดแยก 55 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อหลังคัดแยก 12 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 545 กิโลกรัม/เดือน
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูนบริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ถนนกำแพงเพชร 6 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ฉีดล้างทำความสะอาดพื้นไม่ให้มีเศษปูนเศษทรายตกค้าง ตรวจสอบบ่อคายกากคอนกรีตไม่ให้มีเศษตะกอนปูนตกค้าง ทำความสะอาดล้อรถโม่ปูนก่อนออกจากแพลนท์ปูน ตรวจวัดค่าควันดำรถโม่ปูนให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามรอบที่กำหนด นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเภทสถานประกอบการที่มีหม้อต้มไอน้ำ (Boiler) 1 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 4 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 3 แห่ง ประเภทตรวจวัดควันดำในสถานที่ต้นทาง 4 แห่ง ประเภทถมดิน 1 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
พัฒนาสวน 15 นาที บริเวณสวนหย่อมหน้าโรงเรียนดอนเมืองทหารอากาศบำรุง ถนนเชิดวุฒากาศ เขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) ได้แก่ 1.สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พื้นที่ 3 ไร่ 2 งาน 78 ตารางวา 2.สวนหย่อมเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษามหาราชา พื้นที่ 3 งาน 33 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) ได้แก่ 1.สวนหย่อมหน้ากองบังคับการตำรวจนครบาล 2 พื้นที่ 1 ไร่ 2.สวนหย่อมหน้าบริษัทการท่าอากาศยานไทย พื้นที่ 5 ไร่ 3.สวนหย่อมภายในศูนย์บริการสาธารณสุข 60 รสสุคนธ์ มโนชญากร พื้นที่ 2 งาน 4.ศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ วิถีคน (ดอน) เมือง พื้นที่ 4 ไร่ 4 งาน 51 ตารางวา จัดทำเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำฐานเรียนรู้การเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลา ทำปุ๋ยน้ำชีวภาพ จัดทำทางเดินวิ่งออกกำลังกาย จุดพักผ่อนหย่อนใจ ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ 5.สวนหย่อมหน้าโรงเรียนดอนเมืองทหารอากาศบำรุง พื้นที่ 5 ไร่ อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ จัดทำสวนหย่อมปลูกไม้ดอกไม้ประดับ จัดทำทางเดินวิ่ง ที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจ 6.สวนหย่อมประตู 1 สนามบินดอนเมือง หน้าบริษัทการท่าอากาศยานดอนเมือง พื้นที่ 1 งาน 25 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ จัดทำสวนหย่อม ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ จัดทำทางเดินวิ่ง จุดนั่งพักผ่อนหย่อนใจ ทั้งนี้ เขตฯ ได้จัดทำสวน 15 นาที ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และลานออกกำลังกายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ว่างจัดทำเป็นสวนสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวใกล้บ้านได้ภายใน 15 นาที หรือระยะทางในการเดิน 800 เมตร
ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าวัดคลองบ้านใหม่ ถนนเทิดราชัน เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 2 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 62 ราย ได้แก่ 1.หน้าสวัสดิการสื่อสาร ถนนสรงประภา (ขาเข้า) ผู้ค้า 31 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-11.00 น. 2.หน้าหมู่บ้านปิ่นเจริญ 3 ถนนสรงประภา (ขาเข้า) ผู้ค้า 31 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-22.00 น. ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 63 ราย ได้แก่ 1.ถนนสรงประภา (ขาออก) ตั้งแต่หน้าอาคารเลขที่ 570/8 ซอยสรงประภา 5 ถึงหน้าอาคารเลขที่ 570/407 ซอยสรงประภา 7 ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00- 24.00 น. 2.ถนนสรงประภา (ขาเข้า) ตั้งแต่หน้าร้านสวัสดิการทหารอากาศ ถึงหน้าอาคารเลขที่ 1/136 ผู้ค้า 37 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-24.00 น. 3.ถนนสรงประภา (ขาเข้า) หน้าธนาคารทหารไทยธนชาติ เลขที่ 310/5-85 ถึงธนาคารกรุงไทย เลขที่ 310/75 ผู้ค้า 9 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-16.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ จะดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.หน้าวัดคลองบ้านใหม่ ถนนเทิดราชัน ผู้ค้า 29 ราย ยกเลิกแล้ว เมื่อวันที่ 27 ก.พ.67 2.หน้าหมู่บ้านปิ่นเจริญ 3 ถนนสรงประภา (ขาเข้า) ผู้ค้า 31 ราย นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำ Hawker center จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.หน้าศูนย์การค้าแฮ๊ปปี้ อเวนิว ถนนสรงประภา (ขาออก) รองรับแผงค้าได้ 20 แผงค้า ช่วงเวลาทำการค้า 14.00-21.00 น. จัดเก็บค่าใช้จ่ายตามอัตราที่ตลาดกำหนด 2.ตลาดโอโซนวัน ถนนสรงประภา (ขาออก) รองรับแผงค้าได้ 100 แผงค้า ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-21.00 น. ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง ขอความร่วมมือผู้ค้าทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน พิจารณายกเลิกจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายเข้ามาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดเตรียมไว้รองรับ เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่
ในการนี้มี นายสาโรจน์ พลฤทธิ์ ผู้อำนวยการเขตดอนเมือง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตดอนเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)