“วันนี้เป็นการประชุมคณะผู้บริหารครั้งแรกของปี 2566 ซึ่งเรื่องสำคัญคือเรื่องความโปร่งใส ตอนนี้ประชาชนเริ่มตื่นตัวเยอะ เราจึงได้เน้นย้ำเรื่องความโปร่งใสในโครงการต่าง ๆ ต้องเดินให้รอบคอบและให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร วันนี้ (3 ม.ค. 66)
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำหรับฝุ่น PM2.5 ก็เป็นเรื่องที่ต้องลุยต่อ เรามอนิเตอร์พบจุด Hot Spot เพิ่มขึ้นที่จังหวัดปทุมธานี ได้มีการประสานงานแจ้งไปทางจังหวัดแล้วว่ามีจุดที่มีการเผา 2-3 จุด ดังนั้น ต้องดูแหล่งกำเนิดฝุ่นให้มากขึ้น
● ถอดบทเรียนเทศกาลปีใหม่ วางแผนเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยว
สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือนักท่องเที่ยวจีนหรือชาวต่างชาตินั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ช่วงนี้จะเห็นได้ว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามามากมาย โดยทางสถานทูตได้ฝากข้อห่วงใยมาเยอะเกี่ยวกับการเก็บหัวคิวของรถสาธารณะแล้วมาคิดราคาผู้โดยสารแพง ๆ ซึ่งตอนนี้ได้มีการประสานกับทางตำรวจนครบาล เริ่มดำเนินการดูแลนักท่องเที่ยวแล้ว
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้มีการถอดบทเรียนงานเคานต์ดาวน์เทศกาลปีใหม่ ซึ่งทำได้ค่อนข้างดี ที่ผ่านมามีการวางแผนล่วงหน้า ส่วนตัวอยู่ที่เซ็นทรัลเวิลด์ รู้เลยว่าทำได้ดี มีการจำกัดคนเข้าพื้นที่ เมื่อคนเต็มพื้นที่ก็จะไม่เปิดให้เข้าเพิ่ม เพื่อป้องกันการแออัด เพราะมีนักท่องเที่ยวมาเยอะ มีประมาณ 55,000 คน ที่อยู่ในพื้นที่ และมีบางส่วนเป็นหมื่นคนที่เข้าไม่ได้ รวมถึงที่ไอคอนสยามที่มีการจัดงานเช่นกัน ซึ่งก็ได้มีการพูดคุยวางแผนล่วงหน้าด้วย ถือว่าทำได้ดีเช่นกัน ถ้าไม่ใช่เทศกาลยังไม่กังวลเรื่องความแออัดมาก ที่กังวลคือเรื่องโควิดซึ่งคงต้องดูมาตรการใหญ่ของรัฐบาลก่อนว่าเป็นอย่างไร แล้วกรุงเทพมหานครเสริมอะไรเพิ่ม ที่ผ่านมามีคนจีนไปฉีดวัคซีนของเราบ้างแต่ถ้าอนาคตมีจำนวนมากจะทำอย่างไร คงต้องดูนโยบายจากภาพใหญ่ก่อนแล้วกรุงเทพมหานครจะเสริมเข้าไปให้เหมาะสมอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้มีการเตรียมพร้อมทั้งวัคซีน ยารักษา และเตียงไว้ต่อเนื่อง ที่กังวลคือกลุ่ม 608 ก็เน้นให้มีการลงพื้นที่ฉีดวัคซีนเชิงรุกลงในชุมชนมากขึ้น
● ย้ำทุกเขตกวดขันระเบียบหาบเร่-แผงลอย ยึดคนเดินถนนเป็นหลัก
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ในส่วนของเรื่องทางเท้าและหาบเร่-แผงลอย จะเห็นว่าเมื่อนักท่องเที่ยวกลับมา เศรษฐกิจดีขึ้น ก็มีแรงจูงใจให้คนออกมาขายของบนทางเท้ามากขึ้น ก็เน้นย้ำทุกเขต ไม่ผ่อนปรนในมาตรการนี้ ต้องยึดคนเดินถนนเป็นหลัก ให้เข้มงวดกวดขันให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยจุดที่มีการผ่อนผันก็ต้องมีการกำชับดูแลไม่ให้เกิดความสกปรกรกรุงรัง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องความสมดุลระหว่างปากท้องของประชาชนคนมีรายได้น้อย กับความสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมืองและการเดินทางสะดวก
● สั่งเร่งดำเนินการเรื่องแสงสว่างในพื้นที่กรุงเทพฯ
“นอกจากนี้ยังมีเรื่องเร่งด่วน คือ แสงสว่างในพื้นที่กรุงเทพฯ เรามีโครงการเปลี่ยนจากหลอดไฟเดิม (High Pressure Sodium) ซึ่งมีอายุการใช้งานประมาณ 1-2 ปี และกินไฟสูง เป็นหลอดไฟ LED ประมาณ 25,000 ดวง ทั้งนี้ หลอดไฟทั้งหมดที่เราดูในกรุงเทพฯ มีประมาณ 400,000 ดวง และดับอยู่หลายหมื่นดวง ได้ให้สำนักการโยธาเร่งดำเนินการ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
● พิจารณาแนวทางเดินเรือคลองผดุงฯ ทำต่อหรือทำอย่างอื่นที่คุ้มค่าและเกิดประโยชน์มากขึ้น
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเดินเรือคลองผดุงกรุงเกษมว่า การเดินเรือคลองผดุงฯ ที่ผ่านมามีผู้โดยสารน้อยมาก แต่ค่าจ้างเดินเรือยังมีอยู่ โดยเรามีค่าใช้จ่ายประมาณ 2.4 ล้านบาท/เดือน มีผู้ใช้บริการเพียง 14,000 คน/เดือน เมื่อคิดเทียบกับปริมาณคนใช้แล้วค่าบริการต่อคนค่อนข้างสูงมาก ประมาณ 171 บาท/คน จะมีการพิจารณาว่าจะทำต่อไหม ถ้าทำต่อจะคุ้มค่าไหม หรือเอาเงินที่จ่ายไปทำอย่างอื่นที่คุ้มค่ากว่านี้ได้ไหม อาจเป็นรูปแบบใหม่ที่กระตุ้นให้คนใช้บริการมากขึ้น เช่น Shuttle Bus หรือทำเรื่องท่องเที่ยว จะต้องมีการหารือแนวทางดำเนินการ ซึ่งเป็นเรื่องเหตุและผลว่ามันคุ้มทุนจริงไหม หรือทำให้เสียเงินโดยอาจจะไม่จำเป็น เพราะเส้นทางไม่ได้ผ่านชุมชนมาก ประกอบกับช่วงที่ผ่านมามีสถานการณ์โควิด นักท่องเที่ยวน้อยลง และมีการลดน้ำทำแก้มลิง ส่งผลให้เดินเรือไม่ได้ ดังนั้น หากจะทำต้องดูเรื่องความคุ้มทุนด้วย เนื่องจากเป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชน ทางเราก็ทบทวนรูปแบบอยู่ เพื่อให้ตอบโจทย์และมีความคุ้มค่ามากที่สุด ส่วนสภาพภูมิทัศน์ริมคลองผดุงฯ เข้าใจว่าเป็นเรื่องของการยังไม่ส่งมอบงาน ดังนั้น ผู้รับเหมายังต้องดูแลต้นไม้ ก่อนส่งมอบงานต้องกำชับดูแลต้นไม้ให้ดีก่อน
● หารือชุมชนพื้นที่สร้างตลาดคลองโอ่งอ่างอยู่ได้ด้วยตนเองไม่ต้องพึ่งอีเวนต์
“สำหรับคลองโอ่งอ่าง เราคงไม่สามารถนำงบประมาณไปจัดอีเวนต์ทุกสัปดาห์ได้ตลอด การจะให้ตลาดอยู่รอดได้ต้องมีการหารือร่วมกับชุมชน ให้เป็นตลาดที่ชุมชนช่วยกันจัดการดูแล อาจมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งของชุมชนในพื้นที่บ้าง แต่สุดท้ายต้องเป็นตลาดที่อยู่ได้ด้วยตนเอง มีสินค้า มีกิจกรรมที่ดึงดูดคนเข้าไปได้ หากต้องนำงบประมาณไปจัดอีเวนต์ทุกครั้ง ก็จะไปไม่รอด ตลาดหลายแห่งต้องอยู่ด้วยเนื้อหาและอัตลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งทางชุมชนและคนรอบข้างต้องพยายามสร้างตรงนี้ด้วยกัน ได้ให้รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ดูแลอยู่” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
● ทบทวนความคุ้มทุนท่อร้อยสาย คู่ขนานการจัดระเบียบสายต่อเนื่อง
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในส่วนของเรื่องท่อร้อยสายไฟ ที่มีคนบอกว่าเราไปยกเลิก จริง ๆ แล้ว ท่อร้อยสายไฟเป็นโครงการของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ซึ่งดำเนินการมาก่อน เป็นโครงการที่ใช้งบประมาณ 19,000 ล้านบาทโดยประมาณ โดยได้มีการทดลองทำไปแล้วส่วนหนึ่งประมาณ 1,000 ล้านบาท (ระยะทางประมาณ 10 กม.) ก็หาลูกค้าไม่ได้เลย จึงให้เคทีไปทบทวน BUSINESS MODEL ว่าจากการทดลองที่ผ่านมามีลูกค้ามาใช้ท่อร้อยสายหรือไม่ หากลงทุนเกือบ 2 หมื่นล้านจะมีคนมาใช้หรือไม่ เพราะเป็นการนำเงินของประชาชนไปลงทุน ถ้าเราปล่อยให้ทำทั้งหมดเลย แต่ไม่มีลูกค้ามาใช้ ก็กลายเป็นภาระของประชาชนอีก จึงต้องคิดให้ละเอียดรอบคอบ ดูความคุ้มทุนและคำนึงถึงความโปร่งใส ขณะเดียวกัน กทม.ไม่ได้หยุดได้ดำเนินการตัดสายตาย จัดระเบียบสายไฟ/สายสื่อสาร ยังคงทำอยู่ตลอด โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) อย่างต่อเนื่อง
● เตรียมทำต้นแบบ HAWKER CENTER ที่สวนลุมฯ
“ด้านความคืบหน้า HAWKER CENTER เราจะทำบริเวณประตู 5 สวนลุมพินี ซึ่งมีร้านค้าอยู่เยอะแต่ไม่มีระเบียบ จะปรับให้มีหลังคาคลุมและจัดระเบียบใหม่ เพื่อเป็นต้นแบบ ในขณะเดียวกัน หากมีพื้นที่ของเอกชนทำอยู่แล้ว เราก็พยายามส่งเสริมให้พ่อค้าแม่ค้าเข้าไปในศูนย์อาหารของเอกชนซึ่งราคาไม่แพง ส่วนตรงไหนเรามีพื้นที่ เราก็อาจจะจัดทำ ซึ่งก็คงไม่ง่ายนักเพราะพื้นที่ไม่ได้หาง่าย ๆ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
● วันเด็กปีนี้ กทม. จัดยาว กระจายทั่วกรุงฯ 6-22 ม.ค. 66
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้กำหนดจัดงานวันเด็ก ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 6-22 ม.ค. 66 ที่พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร ศูนย์เยาวชน และห้องสมุด ได้แก่ วันที่ 6 ม.ค. ห้องสมุดวิชาการ 1 แห่ง วันที่ 13 ม.ค. ศูนย์เยาวชนจตุจักร/บางกอกใหญ่/บางเขน/ลุมพินี/ดอนเมือง/วัดโสมนัส และห้องสมุดเคลื่อนที่ (3 คัน) รวม 7 แห่ง วันที่ 14 ม.ค. พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร แห่งที่ 1 และ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ศูนย์เยาวชนลาดกระบัง/สะพานพระราม 8/มีนบุรี หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ห้องสมุดบางกะปิ/ประเวศ/หนองจอก/สวนลุมพินี/ซอยพระนาง/ทุ่งครุ/บ้านจิรายุ-พูนทรัพย์/ราชโอรสาราม/สีเขียว/มูลนิธิศูนย์กลางอิสลามฯ/วัดรัชฎาธิษฐาน/พิพิธภัณฑ์เสรีไทยฯ และห้องสมุดสิ่งแวดล้อม รวม 20 แห่ง
วันที่ 15 ม.ค. ศูนย์เยาวชนบางนา/หลักสี่/วัดฉัตรแก้วฯ/คลองกุ่ม/บางขุนเทียน/ทุ่งครุ/สะพานพระราม 9/ทวีวัฒนา/อัมพวา/วัดดอกไม้/จอมทอง ห้องสมุดวัดลาดปลาเค้า/ดุสิต/บางขุนเทียน/ห้วยขวาง/บางบอน/ภาษีเจริญ/รมณีทุ่งสีกัน/วนธรรม และห้องสมุดเขตราษฎร์บูรณะ รวม 20 แห่ง วันที่ 21 ม.ค. ศูนย์เยาวชนวัดชัยพฤษมาลา/บ่อนไก่/เตชะวณิช/วัดเวฬุราชิณ/วัดธาตุทอง/คลองสามวา/บางแค (เรืองสอน)/สวนอ้อย/บางกะปิ/เทเวศร์/สะพานสูง/คลองเตย ห้องสมุดลาดกระบัง/มีนบุรี/คลองสามวา/บางเขน/บางซื่อ/วัดพรหมรังสี และห้องสมุดเคหะชุมชนดินแดง 2 รวม 19 แห่ง และวันที่ 22 ม.ค. ศูนย์เยาวชนหนองจอก/เกียกกาย ห้องสมุดอนงคาราม รวม 3 แห่ง
โดยมีกิจกรรมไฮไลท์ในวันที่ 14 ม.ค. Play It Forward ณ พิพิธภัณฑ์เด็กฯ แห่งที่ 1 (จตุจักร) Tomorrow Land ดินแดนแห่งโลกอนาคต ณ พิพิธภัณฑ์เด็กฯ แห่งที่ 2 (ทุ่งครุ) Mystery Library ห้องสมุดอลหม่าน ณ หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร และศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง ซึ่งกิจกรรมจะเน้นการพัฒนาเด็ก และเสริมทักษะต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมเด็กดี ศรีกทม. ในวันที่ 12 ม.ค. 66 ณ ห้องบางกอก ชั้น B2 อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง มีการเปิดให้เยี่ยมชมห้องผู้บริหาร รวมถึงให้เด็กได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ และแจกอาหาร ขนม ให้เด็ก ๆ ด้วย