(15 พ.ค. 67) นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฝ่ายจัดแสดงนิทรรศการ ในคณะกรรมการการจัดงานนิทรรศการกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2567 ครั้งที่ 2/2567 โดยมี นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะรองปลัดกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
ที่ประชุมได้รายงานแนวคิดการจัดนิทรรศการ BKK EXPO 2024 ในแต่ละเมือง จำนวน 5 เมือง และแนวคิดการจัดงานส่วนกลาง ดังนี้
1. เมืองเศรษฐกิจ โอกาส และความหวัง กำกับดูแลโดยรองปลัดฯ เฉลิมพล โชตินุชิต ได้มีการแบ่งพื้นที่ภายในเมืองเป็น 8 โซน โดยนำจุดเด่นของเมืองมาจัดแสดงและเรียงร้อยต่อกัน ดังนี้ [1] ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครในอนาคต และ Hawker Center ของศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร [2] การขยายโอกาส เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า Bangkok Brand ของดีที่ไปเมืองนอก [3] การจัดแสดงแนวคิดตลาดเทวราชในอนาคต [4] การจัดแสดงย่านสร้างสรรค์ เชื่อมย่านท่องเที่ยว วัฒนธรรม เศรษฐกิจ [5] การจัดแสดงสวนผักคนเมือง ผักออร์แกนิก [6] Food Bank ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นเมืองแห่งความเท่าเทียม โอกาส และความหวัง [7] การนำเสนอการปรับปรุงพื้นที่แม้นศรี ให้เป็นพื้นที่แห่งโอกาสของคนไร้ที่พึ่งพักพิง/คนรายได้น้อย และ [8] โอกาสแห่งการฝึกอาชีพ โดยจำลองห้องเรียน 5 หลักสูตร ได้แก่ บาริสตา นวด บาร์เทนเดอร์ ตัดแต่งขนสุนัข สอนขายของออนไลน์
2. เมืองสร้างสรรค์ การศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิต กำกับดูแลโดยรองปลัดฯ ณัฐพงศ์ ดิษยบุตร ไอเดียหลักจะเป็นเรื่องของการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อสร้างความหวัง โดยเชื่อมต่อไปยังพื้นที่การแสดงและเวทีเสวนา ภายในเมืองจะมี Hall of Fame ผลงานครูและนักเรียน สำหรับการจัดสรรพื้นที่ ได้มีการจัดพื้นที่ภายใต้ 4 กลุ่มการจัดแสดง ได้แก่ [1] การพัฒนานวัตกรรม เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน หลักสูตรคิดเป็นทำเป็น Active – Based Learning ห้องเรียนปลอดฝุ่น เป็นต้น [2] การส่งเสริมทักษะความสามารถ และโอกาสของครูและนักเรียน [3] การยกระดับการเรียนการสอน [4] การส่งเสริมการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกช่วงวัย
3. เมืองเดินทาง เส้นทางและสายน้ำ กำกับดูแลโดยรองปลัดฯ ณรงค์ เรืองศรี ภายในเมืองจะแบ่งพื้นที่เป็น 6 กลุ่มการจัดแสดง ประกอบด้วย เดินได้ เดินดี, แก้จุดฝืด ปรับให้คล่องตัว, ขนส่งสาธารณะ รถ ราง เรือ, ป้องกันน้ำท่วม คืนคลองน้ำใส, เพิ่มความปลอดภัย และจะมีการจำลองทางเท้าเชื่อมโยงไปกับเมืองปลอดภัย
4. เมืองปลอดภัย สุขภาพ ชีวิต ทรัพย์สิน กำกับดูแลโดยรองปลัดฯ ศุภกฤต บุญขันธ์ จะจัดสรรพื้นที่ออกเป็น 13 โซน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุก ๆ โซน ดังนี้ [1] การจัดแสดงภาพรวมในเรื่องเมืองปลอดภัย โชว์เทคโนโลยีที่นำไปใช้ที่ถนนข้าวสารเมื่อช่วงสงกรานต์ [2] BKK Risk Map ฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย ชวนผู้ร่วมกิจกรรมสำรวจความปลอดภัยรอบบ้านของตัวเอง [3] การจัดแสดงพื้นที่ความปลอดภัยในเรื่องอัคคีภัย/อุทกภัย [4] Command Room นำเสนอห้อง CCTV, การจัดการกับข้อร้องเรียน Traffy Fondue และอาจเชื่อมโยงเมืองเดินทาง เส้นทางและสายน้ำ ในประเด็กการป้องกันน้ำท่วมได้ [5] การจำลองสถานบันเทิง จัดแสดงความปลอดภัยในเรื่องของเสียงและทางเข้าออก [6] การดูแลและป้องกันสาธารณภัย โดยจำลองห้องเกิดอัคคีภัย สร้างการรับรู้ถึงความรู้สึกไม่ปลอดภัย [7] การจำลองสถานการณ์กู้ภัย การเข้าช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เพื่อสร้างความรู้สึกมั่นใจและปลอดภัย [8 – 10] การให้บริการตรวจสุขภาพกายและจิต ตามนโยบายตรวจสุขภาพ 1 ล้านคน [11 – 12] คาเฟแมว สะท้อนการแก้ปัญหาสัตว์จรจัดในกรุงเทพมหานคร ชวนผู้ร่วมกิจกรรม “จิบกาแฟ แลแมว” โดยแยกพื้นที่ทานกาแฟ และห้องแมวอย่างถูกสุขลักษณะ พร้อมให้ความรู้ในเรื่องการดูแลสัตว์เลี้ยง นิทรรศการการจัดการสัตว์เร่ร่อน และการหาบ้านให้น้อง [13] การตรวจคุณภาพอาหาร และนำอาหารอร่อยปลอดภัยมาจัดแสดง
5. เมืองยั่งยืน พลังงาน และสิ่งแวดล้อม กำกับดูแลโดยรองปลัดฯ ชาตรี วัฒนเขจร นำเสนอแนวคิดการจัดการขยะที่ต้นทาง โครงการไม่เทรวม แยกขยะอย่างไร โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย การนำรถขยะไฟฟ้า สถานีชาร์จไฟฟ้ามาโชว์ จัดแสดงการจัดการขยะที่ปลายทาง โดยลดการฝังกลบและเตาเผาขยะผลิตไฟ้ฟ้า จัดแสดงการจัดการน้ำเสีย ด้วยบ่อดักไขมัน โมเดลบำบัดน้ำเสีย การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ จัดแสดงการจัดการปัญหา PM2.5 ด้วยแนวคิดประชาชนร่วมมือกับกทม.แล้วได้อะไร จัดแสดงการจัดการพื้นที่สีเขียว สวน 15 นาที จำลอง จัดแสดงเรื่องพลังงาน โดยนำบ้านจำลองที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์มาจัดแสดงในเมือง นอกจากนี้จะมีการเสวนา และการสาธิตรุกขกรภายในพื้นที่สวนเบญจกิติด้วย
6. การจัดงานส่วนกลาง กำกับดูแลโดยรองปลัดฯ สมบูรณ์ หอมนาน จะจัดภายใต้แนวคิด People Centric เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของเมืองที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน แบ่งออกเป็นโซนต่าง ๆ ได้แก่ การแนะนำ Livable City @ Bangkok, พลังเสียง…พัฒนาเมือง เปิดให้ผู้ร่วมกิจกรรมแสดงความคิดเห็น, นิทรรศการ เข้าใจ เข้าถึงปัญหา แก้ไขได้ตรงจุด กับ ผู้ว่าฯ สัญจร, การจัดแสดงนวัตกรรม Smart City, การจัดแสดงเกี่ยว Open Policy, วัดคู่เมือง, BKK for All เมืองโอบรับทุกความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ หรือ LGBTQ+, รางวัลแห่งความภูมิใจ และเมืองเปลี่ยนได้เพราะคุณ
ในส่วนของโครงสร้างหลักในการจัดงาน จะพยายามใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างขยะน้อย หรือสามารถใช้ซ้ำได้ สำหรับไฮไลต์ภายในงาน จะมีการจัดแสดงหุ่นจำลองเมืองกรุงเทพมหานคร (The Bangkok City Model) ที่ผสมผสานแสงและเสียง ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมจากการจัดแสดงในปีที่ผ่านมา นิทรรศการภาพถ่ายเมือง โดยจัดแสดงภาพถ่ายจากผลงานที่ได้รับคัดเลือกในกิจกรรมประกวดภาพถ่ายภายใต้โจทย์ “มหานครมุมมองใหม่” กรุงเทพเมืองอร่อย รวมกว่า 70 ร้านอาหารเจ้าอร่อยไว้ในงาน เป็นต้น
รองปลัดฯ เฉลิมพล กล่าวว่า เนื่องจากวันที่ 20 – 23 มิ.ย. 67 จะเป็นวันจัดนิทรรศการกรุงเทพมหานคร BKK EXPO 2024 ภายใต้แนวคิด #เมืองเปลี่ยนได้เพราะคุณ ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ สวนเบญจกิติ แล้ว จากนี้ไปคงเป็นเรื่องการดำเนินการจัดเตรียมงานในพื้นที่ตามแนวคิดที่แต่ละเมืองได้วางไว้ จึงขอให้สำนักงานประชาสัมพันธ์ประสานงานในการจัดลำดับการเข้าพื้นที่ของแต่ละหน่วยงานต่อไป
—————————