(5 ต.ค. 65) นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย เปิดเผยว่า ในการประชุมสภากรุงเทพมหานครวันนี้ ได้เสนอญัตติขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาสัตว์จรจัดในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากสัตว์เลี้ยงไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว กระต่าย หนูแฮมสเตอร์ งู และสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ที่ถูกทอดทิ้งในที่สาธารณะ หรือที่เรียกกันว่า สัตว์จรจัด มักเห็นได้ทั่วไปในทุกพื้นที่ เจ้าของที่ไม่สามารถให้การดูแลเลี้ยงดูสัตว์เหล่านั้นได้ จึงนำมาปล่อยตามสถานที่ต่าง ๆ เกิดการขยายพันธุ์และเพิ่มจำนวนมากขึ้น นำมาซึ่งปัญหาเดือดร้อนรำคาญ เป็นอันตราย และก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ แม้ว่าพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 จะกำหนดโทษแก่เจ้าของสัตว์ที่ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใด ๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแล แต่ยังพบเห็นการนำสัตว์เลี้ยงไปปล่อยตามที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สุนัขและแมวเป็นสัตว์ที่ถูกทอดทิ้งและสร้างปัญหามากที่สุดชนิดหนึ่ง สุนัขจรจัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวนประมาณ 140,000 – 150,000 ตัว ซึ่งศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดของกรุงเทพมหานคร ทั้งศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร เขตประเวศ และศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี สามารถรองรับสุนัขจรจัดได้ประมาณ 10,000 ตัว เมื่อเทียบกับจำนวนสุนัขจรจัด 150,000 ตัว กรุงเทพมหานครไม่มีพื้นที่สำหรับรองรับได้ทั้งหมด นอกจากนี้ปัญหาจำนวนสุนัขและแมวจรจัดที่มากขึ้นยังเป็นพาหะทำให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่จะต้องสูญเสียงบประมาณเพื่อจัดการอีกด้วย จะเห็นได้ว่าปัญหาสัตว์จรจัดเป็นปัญหาใหญ่ที่จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาการจัดการอย่างเป็นระบบ และบูรณาการร่วมกันหลายภาคส่วน ประกอบกับมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการควบคุมดูแลสัตว์ เช่น พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 พระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ.2545 เป็นต้น จึงควรมีการศึกษาเพื่อให้มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ดังนั้น จึงขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาสัตว์จรจัดในกรุงเทพมหานคร
“จากข้อมูลพบว่า ไมโครชิพที่กรุงเทพมหานครได้เคยจัดซื้อไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ และได้รับการร้องเรียนจากประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการถูกสัตว์จรจัดทำร้ายอย่างต่อเนื่อง และจากการประสานเขต ทราบว่าขั้นตอนการจับสัตว์มีความยุ่งยากมากขึ้น ปัจจุบันพบว่ากทม.มีสุนัขจรจัดกว่า 140,000 -150,000 ตัว เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาและติดตามความล่าช้าของการดำเนินการจึงจำเป็นต้องตั้งเป็นคณะกรรมการเพื่อศึกษาปัญหานี้” นายนภาพล กล่าว
ในที่ประชุม ส.ก.ได้ร่วมกันอภิปรายในญัตติขอให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาสัตว์จรจัดในกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย นางสาวนิภาพรรณ จึงเลิศศิริ ส.ก.เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กล่าวว่า ควรมีกฎหมายควบคุมร้านค้าหรือผู้ที่จำหน่ายสัตว์ให้ชัดเจน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำหมันสัตว์ พร้อมจัดระบบการดูแลสัตว์ที่ทำหมันแล้วเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนเจ้าของสัตว์เลี้ยง นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง กล่าวว่า ปัญหาการออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ในกทม. ประกอบด้วย อัตรากำลังนายสัตวแพทย์ผ่าตัดทำหมันไม่เพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันใช้ลักษณะการจ้างเหมา ซึ่งอัตราเงินเดือนน้อยมากและไม่มีสวัสดิการ ทำให้การเวียนไปให้บริการไม่ทั่วถึงและใช้เวลานาน ประกอบกับปัญหารถขนอุปรกณ์ในการออกหน่วยไม่พร้อมใช้งาน ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับผู้ปฏิบัติงานมาก กทม.จึงควรพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้กับหน่วยงานเหล่านี้ให้เหมาะสม นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง กล่าวว่า ทั้ง 50 เขต มีสุนัขจรจัดและสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาคือโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งสุนัขจรจัดเกิดจากสุนัขที่เกิดจากสุนัขจรจัดและสุนัขที่เจ้าของนำมาปล่อยทิ้ง ที่ผ่านมากทม.ได้มีการออกกฎหมายเพื่อดูแลปัญหาหลายฉบับ เชื่อว่าหลายคนอยากแก้ปัญหานี้ อย่างไรก็ดีกทม.มีชุมชนที่จดทะเบียนมากมาย ขอให้ฝ่ายสิ่งแวดล้อมร่วมกับทุกชุมชนสำรวจจำนวนสัตว์จรจัดและหาแนวทางการดูแล รวมทั้งประสานผู้ที่ให้อาหารสัตว์ช่วยในการทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสัตว์เหล่านั้น และนางสาวศศิธร ประสิทธิ์พรอุดม ส.ก.เขตพระนคร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบว่าข้อร้องเรียนของประชาชนรองจากปัญหาคนไร้บ้านคือปัญหาสัตว์จรจัด บางแห่งเป็นตรอกเล็ก ๆ อาทิ ตรอกบ้านพานถม แต่มีแมวจรจัดกว่า 50 ตัว ทำให้มีกลิ่นเหม็นจากการขับถ่ายของแมวรุนแรงมาก และประชาชนยังทะเลาะกันเองเนื่องจากมีประชาชนบางกลุ่มให้อาหารสัตว์เหล่านี้
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัญหานี้หากไม่ได้ลงชุมชนจะคิดว่าเป็นปัญหาเล็ก แต่ส.ก.ที่ได้ลงชุมชนต่อเนื่องจะพบว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่ โดยเฉพาะแมวที่ออกลูกเยอะและถี่ ซึ่งต้องยอมรับว่าบุคลากรของกทม.มีไม่เพียงพอ ระยะแรกกทม.ต้องหาเครือข่ายเพื่อดำเนินการซึ่งมีผู้สนใจเยอะ การฝังไมโครชิพก็จำเป็น เนื่องจากเป็นการควบคุมตั้งแต่ต้นทาง ขณะนี้มีไมโครชิพเหลือประมาณ 10,000 อัน ต้องมาดูว่าทำอย่างไรจะให้ครบวงจร รวมทั้งศูนย์พักพิงสุนัขของกทม.ต้องพัฒนาระบบการรับไปเลี้ยง อาจใช้ระบบออนไลน์ เพื่อลดการเพิ่มของสัตว์จรจัด ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน การมีคณะกรรมการวิสามัญฯมาช่วยจะทำให้การแก้ไขชัดเจนขึ้น
ทั้งนี้ สภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาสัตว์จรจัดในกรุงเทพมหานคร จำนวน 20 คน โดยเป็นส.ก. 15 คน และฝ่ายบริหาร 5 คน
——————-