
(27 เม.ย.67) เวลา 07.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า บริเวณตลาดริมคลองหัวลำโพง (ตลาดลาว) ถนนพระรามที่ 4 เขตคลองเตย ซอยต้นสน ถนนราชดำริ (ปากซอยมหาดเล็กหลวง 1) และสยามสแควร์ เขตปทุมวัน
ด้วยสำนักงานเขตคลองเตย ได้มีประกาศยกเลิกจุดผ่อนผัน ห้ามมิให้ทำการค้าขายหรือจำหน่ายสินค้า บริเวณตลาดริมคลองหัวลำโพง (ตลาดลาว) ถนนพระรามที่ 4 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2561 แต่ผู้ค้าบริเวณดังกล่าวขอผ่อนผันขยายเวลาทำการค้าออกไป ประกอบกับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เขตฯ จึงได้พิจารณาขยายระยะเวลาผ่อนผันให้ผู้ค้าทำการค้าไปพลางก่อน ปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวได้คลี่คลายแล้ว ประกอบกับได้ผ่อนผันให้ทำการค้าเป็นเวลานาน อีกทั้งเขตฯ ได้รับหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ให้ชี้แจงกรณีมีผู้ร้องเรียนว่าเขตฯ ไม่ดำเนินการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายต่อผู้ค้าบริเวณดังกล่าว จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการปรับปรุงภูมิทัศน์จัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ตลาดริมคลองหัวลำโพง (ตลาดลาว) ถนนพระรามที่ 4 เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศของกรุงเทพมหานคร และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณดังกล่าวให้เป็นระเบียบเรียบร้อย มีความสะอาดและสวยงาม เพื่อคืนทางเท้าให้กับประชาชนได้ใช้ทางสัญจรได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โดยกำหนดปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เดินตรวจแผงค้าตลาดริมคลองหัวลำโพง (ตลาดลาว) ถนนพระรามที่ 4 มีผู้ค้า 92 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 03.00-24.00 น. ผู้ค้าส่วนใหญ่จำหน่ายอาหารสด ประเภท ไก่ เป็ด ห่าน ปลา กบ และผักสดต่างๆ พื้นที่ทางเท้าจะเปียกน้ำอยู่ตลอดเวลา ก่อให้เกิดความสกปรกเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ไม่ถูกสุขลักษณะตามหลักสุขาภิบาล พร้อมทั้งได้พูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้ค้า เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและเห็นถึงความจำเป็นในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจจำนวนผู้ค้าให้เป็นปัจจุบัน สำรวจข้อมูลพื้นที่ตลาดและหรือสถานที่รองรับผู้ค้า เชิญประชุมชี้แจงให้ผู้ค้ารับทราบถึงแนวทางกำหนดการและมาตรการให้ความช่วยเหลือ ติดตั้งประกาศสำนักงานเขตคลองเตย และกำหนดการยกเลิกจุดทำการค้าหาบเร่-แผงลอยบริเวณดังกล่าว ประสานขอกำลังสนับสนุนจากสำนักเทศกิจ สำนักการโยธา สำนักงานเขตกลุ่มกรุงเทพใต้ และสถานีตำรวจนครบาลท่าเรือ โดยจัดประชุมซักซ้อมหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามแผนงานปฏิบัติการจริง จัดตั้งกองอำนวยการร่วมบริเวณทางเท้าถนนพระรามที่ 4 ตัดกับหัวถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ
ปัจจุบันเขตคลองเตย มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 7 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 188 ราย ดังนี้ 1.ถนนดวงพิทักษ์ ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-18.00 น. 2.ซอยสุขุมวิท 16 ผู้ค้า 21 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 3.แยกกล้วยน้ำไท ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. 4.ซอยสุขุมวิท 50 ผู้ค้า 5 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 5.ปากซอยสุขุมวิท 4 ผู้ค้า 29 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-03.00 น. ของวันรุ่งขึ้น 6.ปากซอยอรรถกวี (ฝั่งขวา เอสโซ่) ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-11.00 น. และ 7.ตลาดริมคลองหัวลำโพง (ตลาดลาว) ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 92 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 03.00-24.00 น. ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 47 ราย ดังนี้ 1.หน้าธนาคารกสิกรไทย สาขาคลองเตย ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-20.00 น. 2.หน้าองค์การโทรศัพท์ ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 5 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-22.00 น. 3.ซอยไผ่สิงโต ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 6 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-24.00 น. 4.ปากซอยอรรถกวี (ฝั่ง BMW) ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-11.00 น. และ 5.ปากซอยแสนสุข ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ หน้าทางเข้าห้างโลตัส ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 5 ราย หน้าองค์การโทรศัพท์ ผู้ค้า 5 ราย
จากนั้น รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ พร้อมด้วยรองปลัดฯ ศุภกฤต และคณะผู้บริหารสำนักเทศกิจ ลงพื้นที่ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าเขตปทุมวัน ประกอบด้วย จุดที่ 1 ซอยต้นสน มีผู้ค้า 17 ราย อยู่ระหว่างขยายเวลาทำการค้าออกไป จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2567 จากนั้นจะยกเลิกจุดดังกล่าว ย้ายผู้ค้าไปทำการค้าที่ตลาดประตู 5 สวนลุมฯ จุดที่ 2 ถนนราชดำริ ปากซอยมหาดเล็กหลวง 1 มีผู้ค้า 5 ราย เขตฯ กำหนดยกเลิกจุดทำการค้าในวันที่ 30 เมษายน 2567 จุดที่ 3 สยามสแควร์ ซึ่งเป็นที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้ค้ารถเข็นฝ่าฝืนมาจำหน่ายสินค้า เขตฯ จัดเจ้าหน้าที่กวดขัน ทั้งช่วงเวลากลางวันและกลางคืน หากพบผู้ค้าฝ่าฝืนให้ดำเนินการขั้นเด็ดขาด ยกสินค้าวัสดุอุปกรณ์ไปเก็บไว้ยังสำนักงานเขต พร้อมทั้งจัดทำป้ายติดประกาศห้ามทำการค้าในบริเวณดังกล่าว
สำหรับเขตปทุมวัน มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 18 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 387 ราย ประกอบด้วย 1.ซอยต้นสน ผู้ค้า 17 ราย 2.ซอยร่วมฤดี ผู้ค้า 5 ราย 3.ถนนหลังสวน ผู้ค้า 24 ราย 4.ซอยปลูกจิตต์ ผู้ค้า 24 ราย 5.ซอยโปโล ผู้ค้า 3 ราย 6.ตลาดประตู 5 สวนลุมฯ ผู้ค้า 108 ราย 7.ถนนพญาไท หน้าห้างสยามสเคป ผู้ค้า 9 ราย 8.ซอยเกษมสันต์ 1 ผู้ค้า 9 ราย 9.ซอยเกษมสันต์ 3 ผู้ค้า 3 ราย 10.ซอยจุฬาลงกรณ์ 4 ผู้ค้า 7 ราย 11.สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ผู้ค้า 99 ราย 12.สะพานหัวช้าง ถนนพระรามที่ 1 ผู้ค้า 6 ราย 13.จรัสเมือง ตรงข้ามสีตบุตร ผู้ค้า 16 ราย 14.ถนนพระรามที่ 6 จรัสเมือง หน้าแฟลตรถไฟ ผู้ค้า 8 ราย 15.ถนนพระรามที่ 6 ฝั่งตะวันตก ผู้ค้า 4 ราย 16.ถนนพระรามที่ 6 ฝั่งตะวันออก ผู้ค้า 35 ราย 17.ถนนรองเมือง พระราม 6 หน้าส.โบตั๋น ผู้ค้า 6 ราย 18.ถนนรองเมือง ริมรั้วรถไฟ ผู้ค้า 4 ราย ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา เขตฯ ยกเลิกผู้ค้าในพื้นที่ทำการค้าริมถนนเพลินจิต จำนวน 3 จุด ได้แก่ 1.ใต้ทางด่วนเพลินจิต ผู้ค้า 10 ราย 2.หน้าอาคารมหาทุน ผู้ค้า 11 ราย 3.หน้าการไฟฟ้านครหลวง ผู้ค้า 13 ราย ต่อมาวันที่ 1 มกราคม 2567 ยกเลิกผู้ค้าในพื้นที่ทำการค้ารอประกาศจากกรุงเทพมหานคร บริเวณตลาดโรเล็กซ์ ถนนวิทยุ ผู้ค้า 20 ราย
ในการนี้มี นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักเทศกิจ สำนักงานเขตคลองเตย สำนักงานเขตปทุมวัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#เศรษฐกิจดี #เดินทางดี #ปลอดภัยดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)