(22 เม.ย.67) เวลา 08.30 น. นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดการพัฒนาความรู้ผู้สอนการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) โดยมี ดร.พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อํานวยการสำนักการแพทย์ ผู้บริหารสำนักการแพทย์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นการพัฒนาบุคลากรต้นแบบ พัฒนาศักยภาพบุคลากรกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะครู บุคลากรทางการศึกษา หรือบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้มีความรู้ในเรื่องการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) โดยนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดขยายผลต่อไปยังกลุ่มบุคคลอื่นๆได้ ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินการเผยแพร่ความรู้ในเรื่องดังกล่าวสำเร็จลุล่วงได้ง่ายโดยใช้ระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพบุคลากรกรุงเทพมหานคร ให้มีความรู้ด้านการแพทย์ฉุกเฉินในวันนี้ จึงถือเป็นการยกระดับมาตรฐานบุคลากรของกรุงเทพมหานคร และยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนชาวกรุงเทพฯ ตลอดจนภาพลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร ให้ขยายผลกว้างออกไปยังหน่วยงานอื่นๆ ได้ นอกจากนี้เมื่อการอบรมครั้งนี้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ผู้เข้าอบรมจะนำความรู้ที่ได้รับไปทบทวนเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง และนำความรู้ที่ได้รับนั้นไปช่วยเหลือผู้อื่น เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงประโยชน์ของโครงการฯ อีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ สำนักการแพทย์ โดยศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มพูนความรู้ และพัฒนาศักยภาพในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินเบื้องต้น ให้แก่บุคลากรสังกัดกรุงเทพมหานคร จึงได้ดำเนินการจัดกิจกรรมพัฒนาความรู้ผู้สอนการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจ ไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) เพื่อฝึกทักษะการปฏิบัติที่ถูกต้อง ในเรื่องการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน โดยการปั๊มหัวใจด้วยวิธีการกดหน้าอก (CPR) และการใช้เครื่องช่วยกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือเออีดี (AED) ซึ่งจะเน้นการฝึกปฏิบัติแบบเสมือนจริงตามแนวคิดในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในเรื่อง Public AED ซึ่งจะทำให้ผู้เจ็บป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นได้รับความช่วยเหลือที่ถูกต้องได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ถือเป็นการปฏิรูปการเรียนการสอนและสร้างบุคลากรต้นแบบให้สามารถนําความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้กับนักเรียนหรือประชาชนทั่วไป ได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับรูปแบบการจัดกิจกรรมฯ เป็นแบบไป – กลับ จำนวน 10 รุ่น รุ่นละครึ่งวัน ระหว่างวันที่ 22-26 เมษายน 2567 โดยดำเนินการอบรมให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาจากโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 409 แห่ง ผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 813 คน พยาบาลวิชาชีพและบุคลากรทางการแพทย์ จากศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 137 คน รวมผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น จำนวน 950 คน วิทยากรผู้บรรยายและฝึกปฏิบัติ ได้แก่ บุคลากรในสังกัดศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ)
ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันพบผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่บ้าน ที่ทำงาน หรือตามที่สาธารณะต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และผู้ป่วยประมาณครึ่งหนึ่งเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ได้รับการช่วยเหลือโดยการช่วยฟื้นคืนชีพ (Cardiopulmonary resuscitation : CPR) อย่างถูกต้องเหมาะสมและทันท่วงที ซึ่งในประเทศที่มีการพัฒนาทางการแพทย์ฉุกเฉินที่ก้าวหน้าแล้ว จะมีการรณรงค์ให้ประชาชนผู้พบเหตุการณ์ สามารถนําเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator : AED) ไปช่วยเหลือผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ ให้รอดพ้นจากการเสียชีวิต สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ สำหรับในประเทศไทยนั้น หลายหน่วยงานรวมถึงสำนักการแพทย์ ได้นําเครื่องช่วยกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ ไปติดตั้งในที่สาธารณะต่างๆ เช่น สนามบิน สวนสาธารณะ สถานีรถไฟฟ้า สถานีขนส่ง และส่วนราชการต่างๆ เป็นต้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถนําเครื่อง AED ไปใช้ในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น
#สุขภาพดี
——————