Flag
Search
Close this search box.
สร้างต้นแบบคัดแยกขยะศูนย์ฝึกอาชีพบางพลัด ตรวจซ้ำฝุ่นจิ๋วไซต์ก่อสร้างอาคารชุดย่านจรัญสนิทวงศ์ 85 พลิกกองขยะเป็นสวนสีเขียวริมถนนเลียบทางรถไฟสายใต้

 

(19 เม.ย.67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางพลัด ประกอบด้วย

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ศูนย์ฝึกอาชีพบางพลัด ซอยจรัญสนิทวงศ์ 79 พื้นที่ 102 ตารางวา มีเจ้าหน้าที่ วิทยากรประจำหลักสูตร 30 คน ผู้เข้ารับการอบรม 100 คน/เดือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกอาหารที่เหลือจากการรับประทานอาหารกลางวันของเจ้าหน้าที่ วิทยากร และผู้เข้ารับการอบรม เศษขยะอินทรีย์ก่อนประกอบปรุงจากการเรียนการสอนหลักสูตรประกอบอาหาร ส่งให้เขตฯ จัดเก็บนำไปปุ๋ยหมักเศษอาหาร 2.ขยะรีไซเคิล ตั้งถังรองรับขยะรีไซเคิล บริเวณชั้นต่างๆ ของอาคารเรียน ชั้นละ 1 จุด และหน้าห้องน้ำแต่ละชั้น เก็บรวบรวมโดยเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์และนำไปขายเอง ตั้งถังรองรับขยะรีไซเคิลรวมของศูนย์ฝึกอาชีพฯ นอกอาคาร 1 จุด กิจกรรมรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ วิทยากร และผู้เข้ารับการอบรม ช่วยกันคัดแยกขยะ บางวิชาที่วัสดุอุปกรณ์สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือประยุกต์ใช้ใหม่ได้ วิทยากรจะนำไปดัดแปลงเพื่อเป็นการเรียนการสอนผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น การนำเศษผ้ามาเย็บเป็นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและกระเป๋า 3.ขยะทั่วไป ตั้งถังรองรับขยะทั่วไป เขตฯ เข้าจัดเก็บทุกวัน 4.ขยะอันตราย คัดแยกใส่ถังขยะสีแดง เขตฯ จัดเก็บเดือนละ 1 ครั้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 3,172.23 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 3,172.23 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 87.46 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 41.15 กิโลกรัม/เดือน

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ซอยจรัญสนิทวงศ์ 85 ซึ่งดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัย Chapter One Spark Charan ถนนจรัญสนิทวงศ์ ความสูง 26 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่เมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้ผู้ประกอบการจัดทำบ่อล้างล้อรถบรรทุกที่ผ่านเข้า-ออกโครงการ ล้างทำความสะอาดพื้นทางเข้าโครงการไม่ให้มีเศษดินตกค้าง ปูแผ่นเหล็กหรือปรับปรุงด้านข้างทางเข้า-ออกโครงการบริเวณจุดที่เป็นพื้นดิน ติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำโดยรอบและเปิดตลอดเวลาที่ทำการก่อสร้าง ซึ่งผู้ประกอบการได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่ อาทิ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 23 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 2 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 5 แห่ง ประเภทถมดินท่าทราย 1 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ติดตามการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งขยะบริเวณที่ว่างริมถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ขาออก ช่วงเลยด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษบางพลัด ท้ายซอยจรัญสนิทวงศ์ 75 (สกุลชัย 6) เขตบางพลัด ที่ผ่านมาเขตฯ ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการจัดเก็บและขนย้ายขยะดังกล่าวออกไปหมดแล้ว เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีปริมาณขยะที่จัดเก็บได้สูงถึง 208 ตัน จากนั้นได้กั้นรั้วลวดหนาม ติดป้ายประชาสัมพันธ์ห้ามนำขยะมาทิ้ง ปรับสภาพพื้นดิน พร้อมทั้งปลูกต้นไม้เป็นแนวยาว ภายใต้แนวคิดกำแพงธรรมชาติ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่นและช่วยแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งขยะอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ซึ่งดำเนินการ ระยะที่ 1 ปลูกต้นไม้ จำนวน 748 ต้น ระยะทาง 300 เมตร ระยะที่ 2 ปลูกต้นไม้ จำนวน 750 ต้น ระยะทาง 200 เมตร แบ่งเป็นไม้ยืนต้น (ต้นตะแบก) จำนวน 50 ต้น ไม้พุ่มขนาดกลาง (ต้นทองอุไร) จำนวน 200 ต้น และไม้พุ่มเตี้ย (ต้นชบา) จำนวน 500 ต้น นอกจากนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ร่วมสนับสนุนต้นทองอุไร จำนวน 200 ต้น หลังจากเขตฯ ดำเนินการปลูกต้นไม้เสร็จสิ้นแล้ว ไม่พบว่ามีการลักลอบทิ้งขยะในบริเวณดังกล่าว

พร้อมกันนี้ ได้สอบถามถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 4จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 67 ราย ได้แก่ 1.บริเวณสะพานพระราม 8 ตั้งแต่ซอยอรุณอมรินทร์ 53 ถึงซอยอรุณอมรินทร์ 57 รวมผู้ค้า 46 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-17.00 น. ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-22.00 น. ผู้ค้า 38 ราย 2.หน้าวัดภคินีนาถ ตั้งแต่จุดกลับรถสะพานกรุงธน ถึงซอยราชวิถี 21 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-22.00 น. 3.หน้าตลาดพงษ์ทรัพย์ ตั้งแต่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 44 ถึงซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 ผู้ค้า 6 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-11.00 น. 4.ซอยจรัญสนิทวงศ์ 40 ตั้งแต่ปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 40 ถึงคลองบางยี่ขัน ผู้ค้า 1 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกจุดทำการค้า 2 จุด ได้แก่ 1.หน้าตลาดพงษ์ทรัพย์ ผู้ค้า 6 ราย 2.ซอยจรัญสนิทวงศ์ 40 ผู้ค้า 1 ราย ส่วนหน้าตลาดกรุงธน ผู้ค้า 11 ราย ได้ย้ายเข้าไปทำการค้าในพื้นที่เอกชน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน พิจารณายกเลิกหรือรวบจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายเข้าไปทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดเตรียมไว้รองรับ เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่

ในส่วนของการจัดทำสวน 15 นาที เขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) ที่ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงให้ดีขึ้น จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนบ่อบัว (ทางกลับรถต่างระดับถนนสิรินธร-ถนนบรมราชชนนี) พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 2.สวนหย่อมข้างโรงพยาบาลตา หู คอ จมูก พื้นที่ 1,240 ตารางเมตร 3.สวนเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 9 วัดบวรมงคล ซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 (สวนหย่อมวัดบวรมงคล) พื้นที่ 3 ไร่ สวน 15 นาที (สวนใหม่) ที่จัดทำขึ้นใหม่ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.ที่ว่างริมถนนสิรินธร หน้าแขวงทางหลวงธนบุรี พื้นที่ 600 ตารางเมตร 2.ที่ว่างริมถนนบรมราชชนนี หน้าร้านสยามชัย ปากซอยรุ่งประชา พื้นที่ 1,225 ตารางเมตร ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการจัดหาพื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาที โดยออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับการใช้งาน คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับอย่างแท้จริง

ในการนี้มี นางสาวอารียา เพ็งประเสริฐ ผู้อำนวยการเขตบางพลัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางพลัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี

—–  (จิรัฐคม…สปส. รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200