Flag
Search
Close this search box.
กทม. เอาจริง รถบรรทุกน้ำหนักเกินในกรุงฯ ล่าสุดโดนยึดรถแล้ว 2 คัน จำคุกแล้ว 6 ราย

 

 

(10 เม.ย.67) นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการกวดขันรถบรรทุกน้ำหนักเกินของกรุงเทพมหานครว่า นับตั้งแต่เกินเหตุการณ์ฝาท่อร้อยสายไฟฟ้าที่บริเวณปากซอยสุขุมวิท 62/1 เกิดการทรุดตัวจากรถบรรทุก กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการร่วมกับทั้งตำรวจและกรมทางหลวง ดำเนินการกวดขันรถบรรทุกน้ำหนักเกินอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนการชั่งน้ำหนักรถบรรทุกปกติ และส่วนการชั่งด้วยด้วยระบบเครื่องชั่งชนิดติดตั้งใต้พื้นสะพาน Bridge-Weigh-In-Motion (B-WIM)

ส่วนการชั่งน้ำหนักรถบรรทุกปกติมีผลการดำเนินการควบคุมยานพาหนะที่มีน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 – 25 มีนาคม 2567 มีน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 17 คัน ประกอบด้วย

1. รถบรรทุก 6 ล้อ น้ำหนักบรรทุกตามกฎหมายกำหนด 15 ตัน บรรทุกเกินน้ำหนัก จำนวน 3 คัน

2. รถบรรทุก 10 ล้อ น้ำหนักบรรทุกตามกฎหมายกำหนด 25 ตัน บรรทุกเกินน้ำหนัก จำนวน 12 คัน

3. รถบรรทุก 18 ล้อ น้ำหนักบรรทุกตามกฎหมายกำหนด 45 ตัน บรรทุกเกินน้ำหนัก จำนวน 1 คัน

4. รถบรรทุก 22 ล้อ น้ำหนักบรรทุกตามกฎหมายกำหนด 50.5 ตัน บรรทุกเกินน้ำหนัก จำนวน 1 คัน

ขณะนี้ภาพรวมการดำเนินการในการบังคับใช้กฎหมายนั้น แบ่งเป็น อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน 3 คดี อยู่ระหว่างพิจารณาคดี 6 คดี ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับผู้ขับขี่ 5,000-10,000 บาท จำนวน 10 ราย โดยใน 10 รายนี้ จำคุก 6 ราย ศาลสั่งยึดรถ 2 ราย และ

ในส่วนของผลการดำเนินการควบคุมยานพาหนะที่มีน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดตั้งแต่ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ – 27 มีนาคม 2567 ด้วยระบบเครื่องชั่งชนิดติดตั้งใต้พื้นสะพาน Bridge-Weigh-In-Motion (B-WIM) พบน้ำหนักบรรทุกเกินกฎหมาย 118 ครั้ง มีพบการกระทำผิดซ้ำถึง 28 ทะเบียน ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินคดีประกอบด้วย

1. รถบรรทุก 6 ล้อ น้ำหนักบรรทุกตามกฎหมายกำหนด 15 ตัน กระทำผิดครั้งเดียวจำนวน 5 คัน

2. รถบรรทุก 10 ล้อ น้ำหนักบรรทุกตามกฎหมายกำหนด 25 ต้น จำนวน 30 คัน กระทำผิดครั้งเดียว 11 คัน กระทำผิดซ้ำ 19 คัน

3. รถบรรทุก 22 ล้อ น้ำหนักบรรทุกตามกฎหมายกำหนด 50.5 ตัน จำนวน 9 คัน กระทำผิดซ้ำทั้ง 9 คัน

นายเอกวรัญญู กล่าวต่อว่า ผลกระทบจากรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้นอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนน ก่อให้เกิดอุบัติเหตุต่อผู้สัญจรบ่อยครั้ง และยังส่งผลกระทบต่อความคงทนของถนนและสะพาน เสื่อมอายุเร็วกว่าที่ออกแบบทำให้กรุงเทพมหานครต้องใช้งบประมาณมากขึ้นในการซ่อมบำรุงรักษาถนนและสะพานดังกล่าว

ทั้งนี้กรุงเทพมหานครขอความร่วมมือหากประชาชนพบเห็นรถบรรทุกที่มีแนวโน้มน้ำหนักเกินจากการสังเกตว่าบรรทุกดินเกินครึ่งกระบะสามารถแจ้งผ่าน Traffy Fondue โดยกรุงเทพมหานครขอยืนยันว่าจะดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องหากตรวจพบรถบรรทุกที่มีแนวโน้มน้ำหนักเกินกฎหมายกำหนด

#ปลอดภัยดี
—————

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200