(31 มี.ค. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เป็นประธานพิธีฝ่ายฆราวาส เปิดอาคารรักษาผู้ป่วยนอกและฉุกเฉิน โรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) โดยมี พระพรหมโมลี กรรมการมหาเถระสมาคม เจ้าคณะภาค 5 แม่กองบาลีสนามหลวง ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เจ้าอาวาสพระอารามหลวงวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ณ โรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ถนนพุทธมณฑล สาย 1 เขตภาษีเจริญ
สำหรับที่มาของการสร้างอาคารรักษาผู้ป่วยนอกและฉุกเฉิน โรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เนื่องด้วย ประชาชนเขตภาษีเจริญและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงประสบปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุข ไม่สามารถเข้าถึงการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร่งด่วน พระเดชพระคุณ พระพรหมโมลี เจ้าอาวาสพระอารามหลวงวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้ประสานไปยังพระเทพประสิทธิมนต์ เจ้าอาวาสวัดศรีสุดารามวรวิหาร เพื่อพิจารณาจัดสรรพื้นที่จำนวน 14 ไร่ 70 ตารางวา ของวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ในการดูแลรักษาพยาบาล แก่ประชาชนของกรุงเทพมหานคร
ในการนี้ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร จึงได้จัดโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) วัดปากน้ำ โดยการดำเนินการก่อสร้างแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 เป็นการเร่งด่วนในการรักษาผู้ป่วยนอกและฉุกเฉิน เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว ขนาดความกว้าง 15 เมตร ยาว 38 เมตร พื้นที่ใช้สอยจำนวน 570 ตารางเมตร งบประมาณในการก่อสร้าง 4,098,764.39 (สี่ล้านเก้าหมื่นแปดพันเจ็ดร้อยหกสิบสี่บาทสามสิบเก้าสตางค์) ได้รับการอุปถัมภ์การก่อสร้างจาก ศาสตราจารย์ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาค
ระยะที่ 2 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 4 ชั้น กว้าง 15 เมตร ยาว 45 เมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน
ระยะที่ 3 เป็นงบประมาณของกรุงเทพมหานคร ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง ประมาณ 3 ปี
ทั้งนี้ โรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เริ่มเปิดให้บริการในวันที่ 30 มีนาคม 2567 เปิดให้บริการทุกวัน ระหว่างเวลา 08.00 – 16.00 น. สามารถให้การดูแลรักษาแก่ผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วยฉุกเฉิน หากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินที่ได้รับการส่งต่อ จะประสานกับศูนย์เอราวัณเพื่อนำรถพยาบาลขั้นสูงส่งต่อผู้ป่วยเพื่อทำการรักษาต่อไป มีผู้รับบริการไปแล้วทั้งสิ้น 13 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค. 67 เวลา 12.00 น.) ประชาชนและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ได้รับการดูแล รักษาพยาบาล อย่างสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย ลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน เป็นไปตามนโยบายด้านสุขภาพดีของคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการให้ประชาชนได้รับการบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ครบวงจรและสะดวกรวดเร็ว มีการเชื่อมโยงบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ในการนี้ พระเทพประสิทธิมนต์ เจ้าอาวาสวัดศรีสุดารามวรวิหาร พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารจากสำนักงานเขต สำนักการแพทย์ โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ บุคลากรจากโรงพยาบาล และประชาชนผู้มีจิตศรัทธา เข้าร่วมพิธี
—————–