กทม.ยกระดับมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ของ กทม.ตามที่กรมควบคุมมลพิษแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ได้ยกระดับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เชิงรุกในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมและตรวจสอบสุขลักษณะสถานประกอบกิจการเชิงรุก รวมทั้งตรวจสอบระบบบำบัดมลพิษอากาศให้กำจัดมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่เดือนเดือน ก.ย.65 เป็นต้นมา โดยเน้นกิจการที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองสูง เช่น กิจการผสมซีเมนต์ (แพลนท์ปูน) 133 แห่ง โดยในรายที่พบข้อบกพร่องได้แนะนำให้ปรับปรุงแก้ไข ตรวจติดตาม และกวดขันให้ปฏิบัติตามมาตรการในช่วงที่มีฝุ่นละอองสูงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้สั่งการให้ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง รณรงค์ประชาสัมพันธ์เน้นย้ำให้ความรู้ ข้อควรปฏิบัติ และวิธีป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 แก่ประชาชนและในพื้นที่ชุมชน นอกจากนั้น ยังได้จัดหาหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 กว่า 600,000 ชิ้น ส่งมอบให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ประชาชน กลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมทั้งสนับสนุนเวชภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลของประชาชนกลุ่มดังกล่าวในการป้องกันโรคติดต่ออีกด้วย
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า ในส่วนของ สนพ.ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักอนามัย สำนักงานเขต และหน่วยงานภายนอกจัดเตรียมหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากค่าฝุ่นละออง PM2.5 ที่สูงจนมีผลกระทบต่อสุขภาพในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เพื่อช่วยเหลือและให้ความรู้ แนะนำการป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 รวมถึงให้คำแนะนำการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้องแก่ประชาชน ขณะเดียวกันได้เตรียมพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาโรค จัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน พร้อมรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง เพื่อออกช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็น และหากมีรายงานค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ กทม.มีมาตรการ ดังนี้ (1) ฉีดพ่นละอองน้ำจากสปริงเกอร์บนชั้นดาดฟ้าของอาคารที่ติดตั้งไว้แล้ว เพื่อลดฝุ่นละอองในบริเวณพื้นที่โรงพยาบาล (รพ.) (2) เปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีฝุ่นละออง PM2.5 เกิน 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และ (3) รพ.สังกัด กทม. เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ ดังนี้ รพ.ตากสิน โทร.02 437 0123 (วันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 08.00 – 12.00 น.) รพ.กลาง โทร.02 225 1354 (วันพฤหัสบดี เวลา 13.00 – 15.30 น.) รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ โทร.02 289 7198 (วันพุธ เวลา 13.00 – 15.30 น.) รพ.สิรินธร โทร.02 328 6900 (วันอังคาร เวลา 13.00 – 15.30 น.) และ รพ.ราชพิพัฒน์ โทร.02 444 0163 ต่อ 8946 (วันอังคาร เวลา 08.00 – 16.00 น.) เพื่อให้คำปรึกษาและบริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่นละออง PM2.5
นอกจากนั้น ยังได้จัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่น (Safe Zone) ภายในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ของ รพ.สังกัด กทม.รวมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นละอองสูง (สีแดง) หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคาร หากจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้งปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่น และหมั่นสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรรีบพบแพทย์ทันที
กทม.เร่งตรวจสอบพัดลมระบายอากาศในอุโมงค์ลอดถนนพัฒนาการ – รามคำแหง 24
นายจิระเดช กรุณกฤตกุล รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวกรณีมีประชาชนร้องเรียนเสียงพัดลมระบายอากาศในอุโมงค์ลอดถนนพัฒนาการ – รามคำแหง 24 ดังรบกวนว่า ทางลอดถนนพัฒนาการ – รามคำแหง – ถาวรธวัช เป็นทางลอดขนาด 2 ช่องจราจร 2 ทิศทาง ความกว้าง 10.80 เมตร ความยาว 940 เมตร ช่วงที่มีหลังคาทางลอดความยาว 386.20 เมตร รวมระยะทางทั้งหมด 1,250 เมตร ภายในอุโมงค์ได้ติดตั้งพัดลมระบายอากาศ เพื่อให้อากาศในอุโมงค์ที่มีควันจากท่อไอเสียของรถสามารถถ่ายเทได้สะดวกมากขึ้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องติดตั้งพัดลมระบายอากาศไว้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้อุโมงค์ อย่างไรก็ตาม จากกรณีดังกล่าว สนย.จะตรวจสอบพัดลมระบายอากาศในอุโมงค์และอุปกรณ์ควบคุมการทำงานของพัดลมว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์หรือไม่ หากมีความชำรุดเสียหายจะเร่งขอจัดสรรงบประมาณ เพื่อปรับปรุงให้อยู่ในสภาพดีต่อไป