รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แจ้งว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปีเป็นช่วงที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ประชาชนส่วนใหญ่นิยมที่จะออกเดินทางท่องเที่ยว หรือกลับภูมิลำเนาต่างจังหวัดเพื่อทำบุญตามประเพณี ประกอบกับรัฐบาลได้ประกาศจัดงานมหาสงกรานต์ 21 วัน “World Songkran Festival ประเพณีสงกรานต์ไทย หมุดหมายนักท่องเที่ยวทั่วโลก” ดำเนินงานผ่านเครือข่ายวัฒนธรรม 76 จังหวัดทั่วประเทศ และ 50 เขตในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1-21 เมษายน 2567 ส่งผลให้ปริมาณการใช้รถใช้ถนนเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่สถานบันเทิงและสถานบริการต่าง ๆ ที่มีการจัดงานสงกรานต์ ทำให้สถานที่มีความแออัดอันเนื่องจากประชาชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัย หรือสาธารณภัยเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงปกติ อาทิ อุบัติเหตุการจราจร การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ รวมทั้งอัคคีภัย ซึ่งอาจทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบกับเดือนเมษายนเป็นช่วงฤดูร้อนมีสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด ไม่เหมาะต่อการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือเล่นสาดน้ำเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีน้ำหนักตัวมาก ผู้ป่วยหรือผู้มีโรคประจำตัว เนื่องจากการรับสัมผัสอุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้นเกินกว่าระดับที่ร่างกายรับได้ อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ ผื่น บวมแดง ตะคริว และเสี่ยงเป็นลมแดดได้ จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัย ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2567 เพื่อกำหนดมาตรการ และบูรณาการกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานภายใน และหน่วยงานภายนอกของกรุงเทพมหานคร ในการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัย หรือสาธารณภัย พร้อมทั้งการดูแลด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน และอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาร่วมงานมหาสงกรานต์ในพื้นที่ต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
——