‘ชัชชาติ’ ลุย ‘ผู้ว่าฯ สัญจร’ ปี 2 ขับเคลื่อนงานแต่ละเขตให้ตรงจุด

นับตั้งแต่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ได้ทำการลงพื้นที่ภายใต้กิจกรรม “ผู้ว่าฯ สัญจร 50 เขต” จุดประสงค์เพื่อเวียนไปรับฟังปัญหาและร่วมประชุมกับแต่ละสำนักงานเขต รวมถึงการลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโดยเริ่มต้นเขตแรกที่เขตคลองเตย ทำให้ผู้ว่าฯ เข้าถึงความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง และเป็นการกระจายอำนาจจากภาครัฐสู่ท้องถิ่น และเพื่อให้การทำงานยังคงเข้มข้นในปี 2567 นี้ก็ยังคงเดินหน้ากิจกรรม “ผู้ว่าฯ สัญจร ปี 2”

นายสิทธิชัย อรัณยกานนท์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ดำเนินงานกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร เปิดเผยว่า ผู้ว่าฯกทม. ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก เพื่อต้องการทราบปัญหาและเข้าใจบริบทแต่ละเขต โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแรกกำหนดให้มีกิจกรรมปลูกต้นไม้แต่ละเขตในช่วงเช้า ตามนโยบายปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น เพื่อสอดรับกับนโยบายอื่น เช่น สวน 15 นาที ถนนสวยและการเพิ่มพื้นที่สีเขียวต่างๆ ซึ่งต้องมีการปลูกต้นไม้เพิ่มเติม และเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาของทุกเขต จากนั้นผู้บริหาร กทม. จะเข้าสำนักงานเขต เพื่อรับฟังรายงานข้อมูลจากผู้อำนวยการเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นเรื่องงบประมาณ โครงการของแต่ละเขตปัญหาในการดำเนินงานตามนโยบาย 9 ดี 9 ด้าน รวมถึงสิ่งที่ต้องปรับปรุง เช่น ปัญหาการจราจร จุดฝืด น้ำท่วม ทางเท้า การลอกท่อ ขุดลอกคูคลอง ซึ่งแต่ละเขตพบปัญหาแตกต่างกัน

“ยกตัวอย่างเขตจอมทอง เขตสุดท้ายในผู้ว่าฯ สัญจรครั้งที่หนึ่ง มีคลองเป็นร้อยคลองต้องวางแผนเรื่องการจัดการและการเพิ่มกำลังคน หรือเขตคลองสามวา หนองจอก สายไหมเป็นพื้นที่ใหญ่ พบปัญหาเกี่ยวกับประชากรหลักและประชากรแฝง เช่น แรงงานต่างด้าวเป็นต้น ขณะที่เขตพระนครมีกำลังคนจำนวนมาก ซึ่งการกระจายกำลังคนให้สอดคล้องกับพื้นที่แต่ละเขตก็เป็นเรื่องสำคัญ”

หลังรับฟังรายงานของเขต ผู้ว่าฯ กทม.จะรับประทานอาหารกลางวันกับบุคลากรต่างๆ เช่น ฝ่ายรักษาความสะอาด ฝ่ายระบายน้ำ ฝ่ายเก็บขนขยะ เพื่อทำความรู้จัก สร้างความคุ้นเคยและรับฟังปัญหาอุปสรรคของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จริง จากนั้นจะลงพื้นที่ตามชุมชนต่างๆ ร่วมกับผู้อำนวยการเขต สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนคนในพื้นที่โดยตรงซึ่งมีทั้งคำชมและข้อร้องเรียน เช่น มีเสียงชื่นชมว่าทางเดินในชุมชนสว่างขึ้น หลังจากมืดมานานรู้สึกปลอดภัย รวมถึงข้อร้องเรียนเรื่องการจัดการขยะ ทางเท้า ประปา ไฟฟ้า จราจร และปัญหาอื่นๆ ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. จะใช้โอกาสนี้ชี้แจงว่าปัญหาแต่ละเรื่องอยู่ในความรับผิดชอบหน่วยงานใด เช่น บางชุมชนอยู่ติดพื้นที่กรมทางหลวง หรือใต้ทางด่วน หรือทางเท้าบางจุดเป็นของกรมทางหลวง และให้ กทม. ประสานกับหน่วยงานต่างๆ ทันที เพื่อแก้ปัญหา เช่นการประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง กรมทางหลวง เป็นต้น ซึ่งปัญหาจะได้รับการแก้ไขเร็วขึ้น

“เนื่องจากปัญหาสำคัญของกรุงเทพฯ คือการมีประชากรที่แตกต่าง หลากหลาย บางคนเข้าถึงข้อมูล บางคนเข้าไม่ถึง การลงพื้นที่ทำให้การแก้ปัญหาตรงจุดและรวดเร็วขึ้น เช่น มีชาวบ้านร้องเรียนเรื่องจุดทิ้งขยะ หรือมีการจัดเก็บขยะไม่ทันเวลา ทำให้ขยะสะสม ส่งกลิ่นรบกวนชาวบ้าน อาจเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานหรือไม่ ไม่ทราบ แต่เมื่อลงพื้นที่แล้วมีการแก้ไขเรียบร้อยทันที”

ส่วนกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร ระยะที่ 2 ซึ่งลงพื้นที่เขตสายไหมและบางเขนไปแล้วนั้น นายสิทธิชัย กล่าวว่า ยังคงรูปแบบการปลูกต้นไม้ช่วงเช้าเหมือนเดิม แต่ตัดเรื่องการเข้ารับฟังการรายงานข้อมูลจากสำนักงานเขตออกไป โดยมุ่งเป้าไปที่การลงพื้นที่แก้ไขปัญหาในหมู่บ้านจัดสรร (บ้านมีรั้ว) เช่น ที่เขตบางเขน พบหมู่บ้านที่มีคลองสาธารณะตัดผ่าน ขาดการบำรุงรักษาทำให้น้ำเน่าเสีย ตื้นเขิน เนื่องจากคาบเกี่ยวพื้นที่เอกชน โดยคลองสาธารณะอยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. จึงต้องเข้าไปดำเนินการให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. เน้นย้ำว่าหมู่บ้านจัดสรรเป็นประชาชนในกรุงเทพฯ เช่นกัน กทม.ต้องดูแลตามอำนาจหน้าที่ที่มี

“ปัญหาที่พบมาตลอดในหมู่บ้านจัดสรรคือ หมู่บ้านเก่าไม่มีฝ่ายนิติบุคคลดูแลปกป้องสิทธิลูกบ้าน ทำให้ขาดตัวแทนในการประสานกับภาครัฐ เช่น หมู่บ้านย่านซอยคู้บอน 27 พบปัญหาน้ำเอ่อล้นเวลาฝนตก กทม. จึงแก้ปัญหาด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณท้ายซอยเพื่อระบายลงคลองให้เร็วขึ้น”

นอกจากนี้ ในระยะที่ 2 จะมีการติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาตามข้อสั่งการจากระยะที่ 1 กว่า 200 เรื่อง โดยแบ่งเป็นข้อสั่งการในช่วงเช้า (ห้องประชุมเขต) และช่วงบ่าย(ลงพื้นที่ชุมชน) ภายใต้นโยบาย 217 ข้อและแนวทางพัฒนา 9 ดี 9 ด้าน โดยการจัดลำดับการลงพื้นที่แต่ละสัปดาห์ จะยึดข้อมูลจากทราฟฟี่ ฟองดูว์ ประกอบการพิจารณา

“การทำผู้ว่าฯ สัญจร ครั้งที่ 2 เราจะเข้าไปติดตาม แก้ไข ปรับปรุงทุกอย่างให้ดียิ่งขึ้นหากประชาชนพบปัญหา หรืออยากให้ไปลงพื้นที่สามารถแจ้งได้ที่ทราฟฟี่ ฟองดูว์ หรือศูนย์ กทม.1555 หรือแจ้งสำนักงานเขต สก.ในพื้นที่ โดยเฉพาะทราฟฟี่ ฟองดูว์ สามารถแจ้งได้เลยเพราะก่อนจะลงพื้นที่เราจะติดตามปัญหาจากทราฟฟี่ ฟองดูว์ ว่าเขตใดมีปัญหาเยอะที่สุดรวมถึงติดตามปัญหาที่ถูกร้องเรียนผ่านสำนักงานเขตและ สก. เพื่อรวบรวมและกำหนดการลงพื้นที่ตามลำดับต่อไป ถ้ามีเวลาผมอยากให้มีผู้ว่าฯ สัญจรมากกว่านี้ เพราะประชาชนได้พบผู้ว่าฯ โดยตรง และปัญหาถูกแก้ไขตรงจุดชัดเจน” นายสิทธิชัย กล่าว

 



ที่มา:  นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 27 มี.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200