Flag
Search
Close this search box.
คนกรุงฯ มั่นใจปลอดภัยตลอดฤดูร้อน กำชับรับมือฝนนอกฤดูกาล เฝ้าระวังโครงการก่อสร้างทั้งใน – นอกความดูแลของกทม.

“เนื่องจากช่วงอากาศเริ่มร้อน และเริ่มมีพายุฝนฟ้าคะนองบ้าง กทม.ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้เร่งรัดในการดำเนินการทุกเรื่องทั้งการขุดลอกคูคลองตามแผน การดูแลจุดเสี่ยง ที่พบเมื่อปี 65 เรื่องที่ต้องระวังคือฝนนอกฤดูกาล ต้องเฝ้าระวังพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งต้องกำชับทั้งโครงการที่อยู่ในความดูแลของกทม.และโครงการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงมาตรการการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือน้ำท่วม ภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกทม.วันนี้ (25 มี.ค.67)

จุดอ่อนน้ำท่วมเดิม ในขณะนี้พบว่ามีการระบายได้ดีมากขึ้น แต่ 10 จุดที่ท่วมเดิม เช่น ถนนเพชรเกษม เขตบางแค ต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติม ทั้งการติดตั้งบ่อสูบ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม ที่ต้องระวังคือการเคลียร์ขยะหน้าตะแกรง เมื่อเริ่มตกทีมงานต้องเตรียมการทันที ซึ่งตอนนี้เราทราบข้อมูลทุกจุดแล้ว ที่เห็นว่าตกแล้วมีน้ำท่วมคือเกิดจากขยะอุดตัน จึงต้องรีบไปเคลียร์ขยะในจุดนั้นๆ โดยเฉพาะจุดที่เห็นประจำทั้งบางนา บางเขน


นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในพื้นที่กทม.จริงๆแล้วมีพื้นที่น้ำท่วมหลายจุดที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจการดูแลของกทม.แต่เราจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะฉะนั้นการประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด จากการสังเกตพบว่าจุดอ่อนน้ำท่วมถึงแม้จะยังท่วมอยู่แต่มีระยะเวลาที่สั้นลง เดิมอาจใช้เวลาเป็นวัน แต่ขณะนี้ได้กำชับให้เร่งระบายน้ำให้เร็วที่สุด ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นรายชั่วโมง สำหรับในการประชุมวันนี้ก็มีการรายงานจำนวนพื้นที่ที่มีการเตรียมพร้อมลอกท่อ คูคลอง ไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องตามแผนงานปกติ

• เตรียมพร้อมรับสถานการณ์พายุฤดูร้อน

ในที่ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธาและสำนักสิ่งแวดล้อม ได้รายงานการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์พายุฤดูร้อน ดังนี้

1.สำนักการระบายน้ำ เตรียมพร้อมเรื่องการระบายน้ำและการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง ประกอบด้วย การลดระดับน้ำในคลอง การเตรียมพร้อมระบบระบายน้ำ และการเตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ โดยภาพรวมการขุดลอกคลอง รวมทั้งสิ้น 217,930 เมตร ขุดลอกได้ 93,655 เมตร (42.97%) การเปิดทางน้ำไหล ดำเนินการรอบที่ 1 แล้วเสร็จ อยู่ระหว่างดำเนินการรอบที่ 2 การล้างท่อระบายน้ำใน กทม. ความยาวประมาณ 6,807 กม. แบ่งเป็น สำนักการระบายน้ำ 2,083 กม. สำนักงานเขต 4,724 กม. แล้วเสร็จ 44.4% ที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ

การเตรียมความพร้อมล้างทำความสะอาดและบำรุงรักษาอุโมงค์ระบายน้ำ 3 แห่ง เสร็จแล้ว 1 แห่ง ประตูระบายน้ำ จำนวน 242 แห่ง แล้วเสร็จ 174 แห่ง 72% และสถานีสูบน้ำ จำนวน 188 แห่ง แล้วเสร็จ 153 แห่ง 72% นอกจากนี้ยังได้เตรียมพร้อมบำรุงรักษา และติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ตู้เมนไฟฟ้า ตู้ควบคุมเครื่องสูบน้ำ ตามแผนประจำปี 2567

2.สำนักการโยธา ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้ายต่าง ๆ ดำเนินการดังนี้ ตรวจสอบตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ สำหรับป้ายที่เข้าข่ายต้องยื่นรายงานการตรวจสอบงานออกแบบโครงสร้าง ต้องสูงตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป และมีพื้นที่ 50 ตารางเมตร ขึ้นไปตรวจสอบโดยวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา และป้ายที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ป้ายที่เข้าข่ายต้องยื่นรายงานการตรวจสอบอาคาร คือ มีความสูงตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป มีพื้นที่ 50 ตารางเมตร ขึ้นไป หรือป้ายบนอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25ตารางเมตรขึ้นไป ตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบอาคารที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมโยธาธิการและผังเมือง

ทั้งนี้อำนาจหน้าที่ในการขออนุญาตก่อสร้างป้าย/ออกใบรับรองการตรวจสอบอาคาร (แบบ ร.1) ประกอบด้วย อำนาจของสำนักงานเขต ป้ายทุกชนิด ยกเว้น ป้ายชื่อสถานีบริการน้ำมัน และป้ายที่ติดตั้งบนอาคารสูง และอำนาจของสำนักการโยธา ป้ายที่ติดตั้งบนอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ/ ป้ายชื่อสถานีบริการน้ำมัน

3.สำนักสิ่งแวดล้อม ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของต้นไม้ใหญ่ ได้กำชับให้สํารวจตรวจสอบสภาพต้นไม้ใหญ่และความแข็งแรงของวัสดุค้ำยัน โดยซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรงสามารถพยุงค้ำยันค้นไม้ได้ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตรวจสอบต้นไม้ใหญ่ในบริเวณพื้นที่ของตนเองและตัดแต่งกิ่งไม้เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากการหักโค่นล้มของต้นไม้ นอกจากนี้ได้กำชับให้สำนักงานเขต 50 เขต ซักซ้อม เตรียมความพร้อมของหน่วยเบสท์เป็นประจำ โดยต้องเตรียมพร้อมตลอด24ชั่วโมง
————–

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200