Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันจันทร์ที่ 18 มีนาคม 2567

กทม.บูรณาการขับเคลื่อนจัดระเบียบสังคม-เร่งแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชน


นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการสนับสนุนการปฏิบัติตามนโยบายจัดระเบียบสังคมของกระทรวงมหาดไทย (มท.)โดยเฉพาะการปลอดจากปัญหายาเสพติดว่า สนอ.จัดทำพิกัดที่ตั้งสถานบริการในพื้นที่กรุงเทพฯ ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พร้อมแนวทางตรวจสอบ กำกับดูแลสถานบริการและสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ โดยศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ศอ.ปส.กทม.) ประสานสำนักงานเขต 50 เขต ตรวจสถานบริการ/สถานบันเทิงในพื้นที่ และสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2558 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 46/2559 และ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยบูรณาการตรวจบังคับใช้กฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับผู้มาใช้บริการและประชาชนในพื้นที่ 

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน 2,008 ชุมชน สนอ.ร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน ป.ป.ส.) และ บช.น.รวมถึงเครือข่ายในชุมชนขับเคลื่อนโครงการในชุมชนแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ชุมชนเข้มแข็งยั่งยืน เฝ้าระวัง ตั้งด่าน เดินเวรยาม เวทีประชาคม X-Ray ตรวจปัสสาวะ ประกอบด้วย 2 โครงการคือ โครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืน ในตำบลแพร่ระบาดยาเสพติดสูงสุด 100 ตำบล ตามนโยบายเร่งด่วนรัฐบาล (75 ชุมชน 11 แขวง 10 เขต) โดย บช.น.ดำเนินการระหว่างเดือน ธ.ค.66 – มี.ค.67 และโครงการชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนในพื้นที่กรุงเทพฯ (88 ชุมชน 48 เขต) โดย กทม.ดำเนินการระหว่างเดือน ก.พ. – ก.ค.67 กลุ่มที่ 2 CBTx กองทุนแม่ของแผ่นดิน (271 ชุมชน 45 เขต) ชุมชนได้รับงบประมาณจากสำนักงาน ป.ป.ส.เฝ้าระวัง ตั้งด่าน เดินเวรยาม เวทีประชาคม สุ่มตรวจปัสสาวะ ดำเนินการระหว่างเดือน เม.ย. – ส.ค.67 และกลุ่มที่ 3 ชุมชนทั่วไป (1,582 ชุมชน 50 เขต) ดำเนินการตามสถานการณ์ปัญหายาเสพติด ในแต่ละชุมชนระหว่างเดือน ก.พ. – ส.ค.67


นอกจากนี้ สนอ.ยังได้ค้นหาผู้ใช้/ผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เพื่อบำบัดรักษา ฟื้นฟู และดูแลอย่างครบวงจรผ่านกลไกต่าง ๆ อาทิ การดูแลผู้ติดยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (CBTx) การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดในสถานพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดและการฟื้นฟูสภาพทางสังคม โดยดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการตามนโยบายการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดของนายกรัฐมนตรี ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่ง กทม.กำหนดตัวชี้วัด (OKR) และโครงการ/กิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดให้บรรลุเป้าหมาย 

ในส่วนของการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในกรุงเทพฯ จะได้รับการคัดกรองเพื่อจำแนกผู้ป่วยเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ผู้ใช้ ผู้เสพ และผู้ติดยาเสพติด โดยจะให้การบำบัดตามสภาพการเสพติด แบ่งเป็น ผู้ใช้ ให้ความรู้ส่งเสริมสุขภาพ (Health Education and Promotion) ให้คำแนะนำแบบสั้น (Brief Advice : BA) และหรือการบำบัดแบบสั้น (Brief Intervention :BI) 1-2 ครั้ง (2) ผู้เสพ/ผู้ติด (ระยะเวลา 1 – 4 เดือน) กลุ่มแอมเฟตามีน (Amphetamine-type Stimulants : ATS) ยาอี ยาเคตามีน กัญชา สารระเหย กระท่อม  แบบผู้ป่วยนอก ให้การบำบัดด้านจิตสังคม เป็นการบำบัดรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เน้นการให้คำปรึกษาแนะนำแบบรายบุคคล หรือรายกลุ่ม ทำกิจกรรมกลุ่มตามโปรแกรม อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง  แบบผู้ป่วยใน ให้การบำบัดแบบโปรแกรม The Winner House (ระยะ 2 – 4 เดือน) กลุ่มฝิ่น/อนุพันธ์ของฝิ่น แบบผู้ป่วยนอก ให้การบำบัดด้วยยาเมทาโดน โปรแกรมถอนพิษยา (Detox) และโปรแกรมเมทาโดนระยะยาว (Methadone Maintenance Therapy) ให้การบำบัดรักษาผู้ป่วย โดยการให้ยาเมทาโดนทุกวัน ๆ ละ 1 ครั้ง มีการแบบประเมินทางสังคม/ทางจิต ให้การปรึกษารายบุคคล (ทางสังคม/ทางจิต) อย่างน้อย ๑ ครั้งต/ดือน ทำกลุ่มกิจกรรมบำบัดอย่างน้อย ๑ ครั้ง/เดือน และตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดทุก ๒ สัปดาห์ 
ขณะเดียวกัน กทม.ยังมีศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมตั้งอยู่ที่สำนักงานเขต ๕๐ แห่ง โดยมีหน้าที่และอำนาจในการสนับสนุนช่วยเหลือและสงเคราะห์ ดังนี้ (1) ด้านครอบครัวและชุมชน ส่งเสริมความสัมพันธ์ ในครอบครัว ให้คำปรึกษาแนะนำแนะนำครอบครัวและคนใกล้ชิด ดูแลผู้ใช้ยา หรือผู้ผ่านการบำบัดรักษา ( 2) ด้านสวัสดิการสังคม และสังคมสงเคราะห์ ทุนประกอบอาชีพ ที่อยู่อาศัย ให้คำแนะนำในการฝึกอาชีพ/การให้ทุนประกอบอาชีพ/ที่อยู่อาศัย/การให้ความช่วยเหลือเงินสงเคราะห์  (3) ด้านการศึกษา ส่งต่อเข้ารับการศึกษา      ในสถานศึกษาต่าง ๆ ตามความเหมาะสม และ (4) ด้านสาธารณสุขและสุขภาพให้ความรู้ เข้าถึงสิทธิ และรักษาพยาบาลต่อเนื่อง รวมทั้งส่งต่อเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

 

 

กทม.กำชับหน่วยงานคืนพื้นที่ซ่อมท่อประปา-เกาะกลางถนนพระรามที่ 1 ตามสภาพเดิม

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวกรณีสื่อสังคมออนไลน์แสดงความกังวลการคืนพื้นที่ภายหลังการขุดเจาะทางเท้าและการดูแลต้นไม้บริเวณเกาะกลางถนนพระรามที่ 1 ว่า จากการตรวจสอบหน่วยงานที่เข้าดำเนินการขุดเจาะทางเท้าบริเวณดังกล่าวคือ การประปานครหลวง (กปน.) ซึ่งได้รับแจ้งเมื่อคืนวันที่ 13 มี.ค.67 มีเหตุท่อประปาแตก ทำให้น้ำประปาไหลนองบริเวณดังกล่าวจำนวนมาก ประชาชนได้รับความเดือดร้อน กปน.จึงเข้าดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้ กปน.ได้ซ่อมแซมท่อประปาและเทคอนกรีตปิดบริเวณพื้นทางเท้าที่ซ่อมแล้ว เหลือการปูกระเบื้องคืนสภาพถาวร โดยกระเบื้องที่จะซ่อมคืนเป็นรูปแบบเดียวกับพื้นกระเบื้องเดิมที่รื้อออก ทั้งนี้ บริเวณดังกล่าวประชาชนยังสามารถใช้สัญจรได้โดยสะดวก

นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กล่าวว่า ต้นไม้บริเวณเกาะกลางถนนพระรามที่ 1 ที่ถูกนำออกจากพื้นที่ เนื่องจาก บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ขออนุญาตก่อสร้างสะพานทางเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติกับอาคารสยามปทุมวันเฮ้าส์ และอาคารสยามดิสคัฟเวอรี่ ถนนพญาไท เขตปทุมวัน โดยผู้รับเหมาต้องเข้าดำเนินการทำฐานรากของฐานเสาในส่วนของเกาะกลาง จึงมีความจำเป็นต้องรื้อถอนต้นไม้บริเวณเกาะกลาง เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยในการก่อสร้าง ซึ่งการก่อสร้างทางเชื่อมเพิ่มเติมจะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยมีระยะเวลาก่อสร้าง ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. – 30 ก.ย.67 รวมระยะเวลา 9 เดือน เมื่อเสร็จสิ้นโครงการแล้ว บริษัทฯ จะดำเนินการก่อสร้างให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมและส่งคืนให้กับ กทม.เพื่อพัฒนาพื้นที่ต่อไป

 

 

เขตพระโขนงเข้มตรวจสอบแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่

นางสายทิพย์ สุคนธ์มณี ผู้อำนวยการเขตพระโขนง กทม.กล่าวกรณีประชาชนในพื้นที่เขตพระโขนงได้รับความเดือดร้อนจากสถานบริการส่งเสียงดังเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด และการจอดรถกีดขวาง ทางสัญจรว่า สำนักงานเขตพระโขนงร่วมกับสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ท้องที่ (สน.พระโขนงและ สน.บางนา) ลงพื้นที่ตรวจสอบและประชาสัมพันธ์สถานบริการ สถานบันเทิง และสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง พร้อมกำชับร้านค้าให้มีการแสดงสัญลักษณ์การเปิดสถานบริการที่ได้รับอนุญาต โดยให้เปิดบริการตามเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ หากมีการตรวจพบสถานบริการ สถานบันเทิง และสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการใดยังไม่มีใบอนุญาตที่ถูกต้อง สำนักงานเขตจะออกแบบตรวจแนะนำเพื่อให้เจ้าของสถานประกอบการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง

สำหรับปัญหาเรื่องการส่งเสียงดัง ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจชุดสายตรวจกลางคืนออกตรวจตราพื้นที่ หากพบกรณีเมาสุราส่งเสียงดัง หรือกระทำผิดกฎหมายให้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ท้องที่ดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิด ส่วนปัญหาค้ามนุษย์และขอทานเด็กในพื้นที่ สำนักงานเขตฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน และคนขอทานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือโดยใช้กฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กทม. อาทิ พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ในพื้นที่เขตพระโขนงไม่มีรายงานเกี่ยวกับขอทานเด็กแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ตรวจตราอย่างเคร่งครัด หากพบบุคคลที่มาทำการขอทาน หรือบุคคลเร่ร่อนในพื้นที่ให้ประสานตรวจสอบข้อมูลบุคคล และประสานศูนย์พักพิงบ้านมิตรไมตรี เขตดินแดง ต่อไป

ส่วนปัญหาวินรถสามล้อเครื่องและรถแท็กซี่จอดรถบนถนนและทางเท้า สำนักงานเขตฯ ได้กำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจบังคับใช้กฎระเบียบที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กทม. เช่น พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 พร้อมทั้งประสาน สน.ท้องที่เพื่อกวดขันและจับกุบผู้กระทำผิดจอดรถกีดขวางการจราจร หรือจอดรถในพื้นที่ห้ามจอด ตลอดจนประชาสัมพันธ์วินจักรยานยนต์รับจ้างในพื้นที่มิให้มีการจอดรถจักรยานยนต์ หรือวางอุปกรณ์อื่นใดกีดขวางประชาชนผู้ใช้ทางเท้า

 

 

 

เขตวัฒนาประสาน สน.ทองหล่อกวดขันการจอดรถริมถนน-เร่งปรับปรุงทางเท้าในซอยสุขุมวิท 23

นางสาวสุชิรา ศิลานนท์ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา กทม.กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์ทางเท้าบริเวณซอยสุขุมวิท 23 คับแคบและมีการจอดรถจักรยานยนต์กีดขวางผิวจราจรว่า สำนักงานเขตวัฒนา ได้ประสานสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ทองหล่อ ดำเนินการกวดขันการจราจรและการจอดรถริมถนนบริเวณซอยสุขุมวิท 23 เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในซอยดังกล่าว

ในส่วนของสำนักงานเขตฯ ได้เร่งปรับปรุงทางเท้าในซอยสุขุมวิท 23 โดยได้จ้างเหมาปรับปรุงทางเท้าบริเวณดังกล่าว เริ่มต้นสัญญาวันที่ 31 ม.ค.67 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 29 พ.ค.67 ระยะเวลา 120 วัน รูปแบบการปรับปรุงเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยและมีการติดตั้งกระเบื้องนำทางผู้พิการทางสายตาและปรับระดับทางลาดสำหรับขึ้นลงให้สามารถใช้งานได้โดยสะดวก ปัจจุบันผลการดำเนินงานมีความคืบหน้าร้อยละ 35

 

 

เขตบางเขนตรวจติดตามสุขลักษณะโรงงานผลิตไก่ยอ-ไส้กรอกอีสานในซอยคู้บอน 27
 
นางสาวอัญชนา บุญสุยา ผู้อำนวยการเขตบางเขน กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบและติดตามการดำเนินการกับสถานประกอบกิจการผลิตอาหารในซอยคู้บอน 27 เขตบางเขนว่า สำนักงานเขตบางเขนได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผลิตไก่ยอ-ไส้กรอกอีสานย่านบางเขน พบว่า เดิมได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทการผลิตลูกชิ้นด้วยเครื่องจักรตั้งแต่ปี 2555 แต่หยุดประกอบการและไม่ได้ต่อใบอนุญาตตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ก.พ.67 เจ้าของโรงงานได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทการผลิตลูกชิ้นด้วยเครื่องจักร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบสถานที่ด้านสุขลักษณะและตรวจวิเคราะห์คุณภาพอาหาร เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตและได้เก็บตัวอย่างไก่ยอ เพื่อตรวจหาการปนเปื้อนสารบอแรกซ์ด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น (test kit) ผลการตรวจไม่พบการปนเปื้อน และตรวจหาเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียจากมือของพนักงาน 4 ราย ซึ่งผลการตรวจเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงพิจารณาอนุญาตเจ้าของโรงงานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทการผลิตลูกชิ้นด้วยเครื่องจักร เมื่อวันที่ 14 มี.ค.67

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 15 มี.ค.67 สำนักงานเขตฯ โดยฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า สถานประกอบการปิดปรับปรุงชั่วคราว จึงประสานเจ้าของโรงงาน ได้รับแจ้งข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 13 มี.ค.67 กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเข้าตรวจสอบพบว่า สถานประกอบการฯ ยังไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยมีการเก็บตัวอย่างอาหาร เพื่อส่งตรวจกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และได้ยึดอายัดสินค้าดังกล่าวไว้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตจาก อย. ทั้งนี้ สำนักงานฯ จะได้ติดตามตรวจสอบและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

 

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200