กทม.เตรียมพร้อมระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่มียุงลายเป็นพาหะในโรงพยาบาลสังกัด กทม.ว่า สนพ.ได้ตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพื่อแยกประเภทของกลุ่มโรคตามอาการ และเตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) โรคที่มียุงลายเป็นพาหะ
ด้วยการตรวจค้นพบโรคและวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วตามแนวทาง การวินิจฉัยและรักษาโรคของโรงพยาบาล (รพ.) สังกัด กทม.เพื่อลดความรุนแรงจากการเจ็บป่วยของโรค ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
ขณะเดียวกันได้กำหนดแนวทางและมาตรการการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในโรงพยาบาลและชุมชนโดยรอบ ให้ความรู้เรื่องการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย การป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด และอาการป่วยที่ต้องพบแพทย์ให้กับผู้ที่มารับบริการใน รพ.และชุมชนรอบ รพ.
สื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพให้กับประชาชนผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลและเพิ่มความตระหนักด้านสุขภาพ ตลอดจนวินิจฉัยและรักษาโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) และโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ รวมถึงการรับ-ส่งต่อผู้ป่วยจากศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.
ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการไข้สูงเกือบตลอดเวลา 2-7 วัน และมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ หรือมีผื่น หรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา และอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง การป้องกันที่ประชาชนสามารถทำได้คือ การเก็บขยะ ทำความสะอาดบ้าน และดูแลภาชนะที่ใส่น้ำไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง สามารถใส่ทราย หรือแบคทีเรียกำจัดลูกน้ำป้องกันไม่ให้ยุงลายมาวางไข่
นอกจากนั้น สนพ.ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) และโรคที่มียุงลายเป็นพาหะภายใน รพ.โดยให้ทุก รพ.ในสังกัด สำรวจตรวจสอบจุดที่มีน้ำขังและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายใน รพ.และบริเวณโดยรอบ รพ.
รวมทั้งได้มอบหมายกลุ่มงานอนามัยชุมชนลงพื้นที่จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนผู้รับบริการและบุคลากรในสังกัดในเรื่องโรคที่เกิดจากยุงลาย วิธีการป้องกัน และวิธีการสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย พร้อมทั้งประสานสำนักงานเขตพื้นที่ให้บริการฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงบริเวณพื้นที่โดยรอบ
รพ. แนะนำประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ 5 ป. เพื่อป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ได้แก่ (1) ปิดฝาภาชนะให้สนิท (2) ปล่อยปลากินลูกน้ำ (3) เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้ (4) ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย (5) ปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกวัน เพื่อกำจัดไข่ยุงลาย
ขณะเดียวกันได้สื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด เช่น ใช้สเปรย์กระป๋องฉีดพ่นยุงตัวเต็มวัย ใช้ยาจุดกันยุง ทาโลชั่นกันยุง และการสังเกตอาการสำคัญที่ต้องพบแพทย์ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงหากป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน หากคนในครอบครัวมีอาการไข้สูงให้หลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเอง
หากจำเป็นให้ใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด เช่น ยาไอบรูโปรเฟน แอสไพริน หรือยาแก้ปวดไดโคลฟิแนก เพราะยา กลุ่มนี้ อาจมีผลทำให้เลือดออกมากขึ้น หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่าน Telemedicine ผ่านแอปพลิเคชัน“หมอ กทม.” หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพ สนพ.กทม.โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง
กทม.เดินหน้าฟื้นฟูการท่องเที่ยวคลองโอ่งอ่าง พร้อมกวดขันคนเร่ร่อนจัดระเบียบพื้นที่
นายสิงห์ ลิ้มพิรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กล่าวถึงการส่งเสริมฟื้นฟูการท่องเที่ยวบริเวณคลองโอ่งอ่าง เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ว่า สวท.ร่วมกับสำนักงานเขตพระนครวางแผนจัดมาตรการส่งเสริมฟื้นฟูการท่องเที่ยวในพื้นที่บริเวณคลองโอ่งอ่างไว้ 3 ระยะ
ประกอบด้วย ระยะสั้น ภายใน 2 เดือน เป็นช่วงการเปิดตัวกิจกรรม มีเป้าหมายดึงอัตลักษณ์ของสะพานเหล็กเป็นประเด็นในการจัดเทศกาล ระยะกลาง ภายใน 4 เดือน ใช้การประเมินและปรับรูปแบบกิจกรรม
ภายหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมระยะสั้น โดยสำนักงานเขตพระนครจัดการประชุมชี้แจงและให้ความรู้กับประชาชนและผู้ค้าในด้านแนวทางการต่อยอดถนนคนเดินให้ยั่งยืน ด้วยการทดลองจัดกิจกรรมสั้น ๆ ช่วงวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์
โดยสำนักงานเขตเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำและประเมินความเป็นไปได้และจุดคุ้มทุนที่ควรเป็น และระยะยาว ภายใน 6-8 เดือน ทดลองเปิดโอกาสให้บริหารจัดการด้วยตนเองครบ 8 เดือน ก่อนถอดบทเรียนและขยายผลในพื้นที่อื่นต่อไป
ขณะเดียวกัน สวท.ได้ประสานสำนักงานเขตพระนครร่วมลงพื้นที่คลองโอ่งอ่างสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าเดิมในพื้นที่สะพานเหล็กและผู้ประกอบการในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อวางแผนฟื้นฟูถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง รวมทั้งสอบถามความต้องการและเชิญชวนผู้ค้าเดิมให้เข้าร่วมวางแผนจัดกิจกรรม
ทั้งนี้ สวท.ได้จัดสรรงบประมาณตามโครงการค่าใช้จ่ายในการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริม อัตลักษณ์และกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่ ซึ่ง กทม.มีเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่คลองโอ่งอ่างให้เป็นย่านลิตเติ้ลอินเดีย
โดย สวท.ร่วมกับสมาคมไทยอินเดีย สนับสนุนการจัดงานเทศกาลดิวาลี (Diwali) ซึ่งเป็นเทศกาลการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของชาวอินเดียต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ตั้งแต่ พ.ศ.2565 กิจกรรมที่จัดขึ้นจะเป็นกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายอินเดีย การออกร้านของผู้ประกอบการและประชาชนในย่านลิตเติ้ลอินเดีย การจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นต้น
นายวัลลภ เกียรติวรศรีกุล ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ กทม.กล่าวถึงการตรวจตราคนเร่ร่อนหลับนอนในที่สาธารณะ รวมทั้งการนั่งดื่มสุราและตกปลาบริเวณคลองโอ่งอ่างว่า สำนักงานเขตสัมพันธ์วงศ์ได้ตรวจสอบบริเวณริมคลองโอ่งอ่างระหว่างช่วงสะพานภาณุพันธ์-สะพานโอสถานนท์
ซึ่งเป็นบริเวณด้านหน้าอาคารบ้านเรือนประชาชน ไม่พบคนไร้บ้าน แต่ช่วงระหว่างสะพานดำรงสถิต-สะพานภานุพันธ์ ซึ่งเป็นด้านหลังบ้านเรือนประชาชน บางครั้งอาจมีคนไร้บ้านมาอาศัยหลับนอน โดยได้กำชับเจ้าหน้าที่เพิ่มความถี่ตรวจตราผู้หลับนอนในที่สาธารณะทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน
สำหรับการนั่งดื่มสุรา ได้ตรวจสอบแล้ว ในฝั่งเขตสัมพันธวงศ์ไม่มีร้านค้าได้รับใบอนุญาตให้จำหน่ายสุรา แต่ที่มีผู้พบการดื่มสุรา เกิดจากผู้พักอาศัยริมคลองซื้อจากภายนอกเข้ามาตั้งวงดื่มกันเอง หรือนักท่องเที่ยวซื้อจากภายนอกเข้ามาดื่ม
อย่างไรก็ตาม เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ และสร้างความปลอดภัยให้กับผู้พักอาศัยและชุมชนใกล้เคียง
สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่กวดขันพร้อมขอความร่วมมือ หากพบการฝ่าฝืนฯ จะว่ากล่าวตักเตือน ส่วนการตกปลา เคยมีการลักลอบตกปลาในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ปิดป้ายประกาศห้ามตกปลาและจะติดป้ายประกาศห้ามตกปลาเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มความถี่ลาดตระเวนตรวจตรา ทั้งนี้ อยู่ระหว่างประสานภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนและจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้แก่ผู้ค้าย่านริมคลองโอ่งอ่างอย่างต่อเนื่องต่อไป
เขตดอนเมืองประสานตำรวจแก้ปัญหารถจักรยานยนต์ลักลอบกลับรถตรงทางม้าลาย ถ.สรงประภา
นายสาโรจน์ พลฤทธิ์ ผู้อำนวยการเขตดอนเมือง กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ลักลอบกลับรถบริเวณทางม้าลายหน้าตลาดฝั่งโขงและหน้าปิ่นเจริญ 3 ถนนสรงประภา ว่า สำนักงานเขตดอนเมือง ประสานความร่วมมือสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ดอนเมือง ลงพื้นที่ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ลักลอบกลับรถบริเวณทางข้าม (ทางม้าลาย) หน้าตลาดฝั่งโขงและหน้าปิ่นเจริญ 3 ถนนสรงประภา
พร้อมทั้งมีแนวทาง แก้ไขปัญหาผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ลักลอบกลับรถบริเวณทางข้าม (ทางม้าลาย) โดยจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ห้ามใช้ทางข้ามเป็นที่กลับรถ และประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ รถจักรยานยนต์รับจ้าง และกลุ่มผู้ให้บริการส่งอาหาร-ส่งของ (ไรเดอร์) ไม่ใช้ทางข้ามเป็นที่กลับรถ
เนื่องจากการใช้ทางข้ามเป็นที่กลับรถเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ฝ่าฝืน มีโทษปรับไม่เกิน 4,000 บาท และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย พ.ศ.2535
ขณะเดียวกันได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดอนเมือง กวดขันไม่ให้ประชาชนขับขี่รถจักรยานยนต์ใช้ทางข้ามตลาดฝั่งโขงและหน้าหมู่บ้านปิ่นเจริญ 3 เป็นที่กลับรถ นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างจัดทำเสากั้นไม่ให้รถจักรยานยนต์ใช้ทางข้ามเป็นที่กลับรถและประสานสำนักการโยธา กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซ่อมแซมและแก้ไขทางข้ามที่ชำรุด