นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้กำหนดแผนปรับปรุงฟื้นฟูชุมชนตลอดแนวคลองรอบกรุง (คลองโอ่งอ่าง-คลองบางลำพู) เป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนสามารถใช้ทำกิจกรรมหรือสัญจรเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาได้สะดวกยิ่งขึ้น
โดยแบ่งโครงการก่อสร้างออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วง โดยด้านเหนือของคลองคือ ป้อมพระสุเมรุ ถึง ป้อมมหากาฬ (บริเวณท่าเรือผ่านฟ้า) ช่วง ป้อมมหากาฬ ถึง ย่านวรจักร (บริเวณสถานีสามยอด) และ ด้านใต้ของคลองคือ ช่วง สะพานโอสถานนท์ ผ่านไปรสนียาคาร เชื่อมเข้าสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา
ทั้งนี้ แนวทางการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อส่งเสริมการเชื่อมต่อพื้นที่สาธารณะตั้งแต่ใต้สะพานพระปกเกล้าและคลองโอ่งอ่าง ประกอบด้วย การส่งเสริมพืชพรรณสีเขียว-พื้นที่สาธารณะ การออกแบบทางข้ามถนนโดยยกระดับพื้นทางข้ามให้เท่ากับทางเท้า การเชื่อมต่ออาคารไปรสนียาคาร-พื้นที่สาธารณะ และการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวและประชาชน เช่น ห้องน้ำ จุดบริการจอดรถจักรยาน
ในส่วนของการออกแบบอุปกรณ์ประกอบบนถนนเพื่อส่งเสริมภูมิทัศน์ทางสัญจร ได้กำหนดให้เป็นระบบและมีความชัดเจน สามารถสื่อสารให้ประชาชนที่สัญจรผ่านพื้นที่เข้าใจได้ง่าย และมีป้ายสื่อสารข้อมูลต่างๆ ครบถ้วน
“การพัฒนาคลองโอ่งอ่าง เป็นหนึ่งในแผนการทำงานกรอบใหญ่ ที่จะพัฒนาพื้นที่เชื่อมต่อสวนลอยฟ้า เพื่อสานต่อภาพย่านประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในอนาคต ภายใต้แนวคิด การทำให้พื้นที่สีเขียวกลมกลืนกับพื้นที่ท่องเที่ยว โดยประชาชนและนักท่องเที่ยวต้องเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำ สามารถเดินทางและใช้จักรยานได้อย่างสะดวก ปลอดภัย
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้รับเกียรติจากศิลปินชาวไอร์แลนด์ ที่เห็นคุณค่าของพื้นที่ มอบภาพความสวยงามให้กำแพงทางเดินริมคลองโอ่งอ่าง สามารถต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ โดยการประสานงานจากผู้ค้าย่านคลองโอ่งอ่าง และความร่วมมือของเจ้าของพื้นที่ภาคเอกชนที่ให้ความอนุเคราะห์ ซึ่งการฟื้นฟูเอกลักษณ์ของย่านจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการสืบทอดเอกลักษณ์ของพื้นที่ต่อไป” โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าว
อีกหนึ่งจุดพื้นที่ที่กรุงเทพมหานครต้องอาศัยความร่วมมือและการมีส่วนร่วมเพื่อปรับปรุง คือ พื้นที่ไปรสนียาคาร ของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด มีประวัติยาวนานมากกว่า 100 ปี เป็นพื้นที่เชื่อมต่อทางขึ้น-ลงสวนลอยฟ้า เชื่อมต่อสวนพระปกเกล้าและคลองโอ่งอ่าง โดยกรุงเทพมหานครมีแนวทางการปรับปรุงที่กำหนดไว้ เช่น การปรับทางเชื่อมทางลาดเข้าพื้นที่ไปรสนียาคาร การสร้างทางเดินและปรับปรุงภูมิทัศน์สวน พร้อมติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง
ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกรุงเทพมหานครในการทำหน้าที่เป็นโซ่ข้อกลางเชื่อมการทำงานร่วมทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และชุมชนในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายคือการเชื่อมย่าน ส่งเสริมการเข้าถึง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว โครงข่ายการสัญจร และการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม ผ่านการผสมผสานแหล่งท่องเที่ยวกับพื้นที่สีเขียว เพื่อขับเคลื่อนเครือข่ายย่านสร้างสรรค์ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำหรับคนกรุงเทพฯ
——-