
(12 มี.ค.67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตดินแดง ประกอบด้วย
ตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าตลาดห้วยขวาง ถนนประชาสงเคราะห์ ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ พร้อมด้วยรองปลัดฯ ศุภกฤต และคณะผู้บริหารเขตดินแดง ได้เดินตรวจพื้นที่ทำการค้าบริเวณถนนประชาสงเคราะห์ ตั้งแต่ปากซอยประชาสงเคราะห์ 40 จนถึงปากซอยประชาสงเคราะห์ 36 ซึ่งเป็นการติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าต่อเนื่องจากการลงพื้นที่เมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา พบว่าผู้ค้าที่ตั้งวางแผงค้าแนวในหน้าอาคารให้ความร่วมมือในการถอยร่นเข้าไปในอาคาร แต่มีผู้ค้าบางรายที่จำหน่ายผลไม้ยังไม่ได้ย้ายเข้าไปในอาคาร โดยได้มอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าในจุดดังกล่าวให้ย้ายเข้าไปด้านในให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้กีดขวางทางเท้า พร้อมทั้งขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน สำหรับพื้นที่ตั้งแต่เชิงสะพานข้ามคลองห้วยขวางจนถึงหน้าธนาคารกรุงไทย ผู้ค้าที่ทำการค้าในเวลากลางวันเฉพาะแนวในหน้าอาคารสามารถทำการค้าได้ตามปกติ ส่วนผู้ค้าที่ทำการค้าในเวลากลางคืน ช่วงเวลาทำการค้า 21.30-04.00 น. เขตฯ จะดำเนินการจัดระเบียบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หาบเร่-แผงลอย โดยก่อนเวลา 21.30 น. ห้ามมีผู้ค้าทำการค้า ห้ามทำการค้าบนพื้นผิวจราจร ผู้ค้าแนวนอกริมถนน ขนาดแผงค้าต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์หาบเร่-แผงลอย และมีขนาดเดียวกันทั้งหมด นอกจากนี้ เขตฯ และสำนักเทศกิจ จะจัดกำลังเจ้าหน้าที่สายตรวจ ลงพื้นที่ตรวจตรากวดขันจัดระเบียบตามแผนปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ เชิญผู้ค้าที่ทำการค้าในพื้นที่ดังกล่าวทั้งหมด มาประชุมชี้แจงทำความเข้าใจในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า รวมถึงให้เขตฯ จัดทำแผนปฏิบัติการให้ครบถ้วนชัดเจน โดยจะลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าอีกครั้งในวันอังคารหน้า กำหนดจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าบริเวณหน้าตลาดห้วยขวางในวันที่ 9 เมษายน 2567 เป็นต้นไป
“การจัดระเบียบดังกล่าวไม่ใช่การยกเลิกไม่ให้ทำการค้า แต่เป็นการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หาบเร่-แผงลอย โดยเขตฯ จะเชิญผู้ค้าบริเวณพื้นที่ดังกล่าว มาพูดคุยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้เห็นถึงความสำคัญของส่วนรวมในการใช้พื้นที่ทางเท้า ที่สำคัญผู้ค้าและประชาชนสามารถใช้ทางเท้าร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวย้ำ
ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 8 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 313 ราย ดังนี้ 1.หน้าบริษัทไทยประกันชีวิต ถนนรัชดาภิเษก ผู้ค้า 102 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-10.00 น. ผู้ค้า 54 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-21.00 น. ผู้ค้า 48 ราย 2.หน้าธนาคารกรุงไทย ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 48 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-11.00 น. ผู้ค้า 21 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-22.00 น. ผู้ค้า 27 ราย 3.หน้าตลาดกลางดินแดง ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 10 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-22.00 น. 4.หน้าตลาดห้วยขวาง ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 119 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-15.00 น. ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-21.00 น. ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 21.00-04.00 น. ผู้ค้า 97 ราย 5.โค้งพร้อมพรรณ ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 10 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-23.00 น. 6.โค้งหอนาฬิกา ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 3 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-24.00 น. 7.หน้า TVC แมนชั่น ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 4 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-24.00 น. และ 8.ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ตั้งแต่คลองห้วยขวาง ถึงแยกพระพิฆเนศ ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 21.00-04.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกจุดทำการค้าบริเวณหน้า TVC แมนชั่น ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 4 ราย นอกจากนี้ เขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ในจุดที่มีความเหมาะสม เพื่อจัดทำ Hawker Center จำนวน 5 จุด ได้แก่ 1.ตลาดสดห้วยขวาง ชั้น 2 พื้นที่ 512 ตารางวา รองรับผู้ค้าได้ 300 ราย 2.หน้าห้างเอสพลานาด พื้นที่ 54 ตารางวา รองรับผู้ค้าได้ 20 ราย 3.หน้าโครงการพร้อมรัชดา พื้นที่ 86 ตารางวา รองรับผู้ค้าได้ 300 ราย 4.ด้านหลังมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พื้นที่ 16 ตารางวา รองรับผู้ค้าได้ 10 ราย และ 5.หน้าห้าง The Steet รัชดา พื้นที่ 90 ตารางวา รองรับผู้ค้าได้ 20 ราย
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โรงแรมแกรนด์ฟอร์จูน กรุงเทพฯ ซึ่งมีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) โดยใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง ในการซักอบผ้าที่ใช้ในโรงแรม ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะฯ ได้เยี่ยมชมการคัดแยกขยะภายในโรงแรม ซึ่งมีการคัดแยกเศษอาหารจากห้องอาหารและงานเลี้ยง การคัดแยกขยะรีไซเคิล เช่น กล่อง กระดาษ การปลูกผักสวนครัว สวนผักแบ่งปัน รวมถึงการจัดทำสวน 15 นาที เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวบริเวณดาดฟ้าชั้น 10 นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อาทิ ประเภทสถานที่ก่อสร้าง ประเภทแพลนท์ปูน ประเภทหม้อไอน้ำ (Boiler) ประเภทอู่พ่นสีรถยนต์ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี พื้นที่ 47 ไร่ 3 งาน มีครูบุคลากรและนักเรียน 2,897 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2563 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะเศษอาหาร โดยตั้งวางถังรองรับเศษอาหารในโรงอาหาร และให้เกษตรกรรับไปเลี้ยงสัตว์ ส่งเสริมการนำขยะอินทรีย์กลับมาใช้ประโยชน์ เช่น ในรายวิชาการปลูกพืชผักทั่วไป และรายวิชาการผสมดินปลูกทำปุ๋ยไว้ใช้ในโรงเรียน 2.ขยะรีไซเคิล ส่งเสริมการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ เช่น จัดกิจกรรมวันวิทยาศาสตร์ มีการให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะและประกวดชุดรีไซเคิลของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 กิจกรรมค่ายบูรณาการปรับพื้นฐานระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และปีที่ 4 มีฐานให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะและประโยชน์ของการคัดแยกขยะ กิจกรรมของคณะสี มีการทำกรงคัดแยกขยะในบริเวณพื้นที่ที่คณะสีรับผิดชอบ และนำไปขายเป็นรายได้ใช้ในการซื้ออุปกรณ์ทำความสะอาดของคณะสี การนำขยะรีไซเคิลบางส่วนมาใช้ทำงานประดิษฐ์ในรายวิชาการงานอาชีพ 3.ขยะทั่วไป ส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะแต่ละประเภทอย่างถูกต้อง โดยแยกทิ้งขยะทั่วไปไม่ปะปนกับขยะประเภทอื่น 4.ขยะอันตราย ส่งเสริมการคัดแยกขยะอันตราย และให้เขตฯ รับไปกำจัด สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 650 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 550 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 60-80 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 100-200 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 5,000 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 3-5 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 5-10 กิโลกรัม/เดือน
ในการนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายประเทืองวิทย์ ดีใจ ผู้อำนวยการเขตดินแดง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตดินแดง สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#เศรษฐกิจดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)