นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. เปิดเผยถึงกรณีผู้ใช้วีลแชร์ร้องเรียนว่าไม่สามารถใช้รถบริการสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็นของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้
ซึ่งกรุงเทพมหานครได้มีแนวทางการบริหารจัดการการเดินรถในโครงการรถบริการสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็นของ กทม.อาทิ กลุ่มผู้ใช้บริการ ช่องทางการจอง ขอบเขตการให้บริการ ดังนี้
ในประเด็นที่มีผู้ร้องเรียนได้รับการปฏิเสธการให้บริการ เนื่องจากพักอาศัยอยู่ในเขตปริมณฑล ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยใช้บริการได้มาโดยตลอดนั้น
ทั้งนี้ กทม. ได้ดำเนินโครงการจัดบริการรถสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น หรือที่รู้จักในชื่อ “Taxi คนพิการ” มาหลายปีแล้ว
เดิมมีรถทั้งหมด 30 คัน โดย กทม. มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ดำเนินการ ภายหลังสิ้นสุดบันทึกข้อตกลงการรับเงินอุดหนุน เคทียังคงให้การสนับสนุนและให้บริการเดินรถอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ซึ่งช่วงวันที่ 27 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2566 ให้บริการเดินรถ จำนวน 10 คัน และช่วงวันที่ 1 ธันวาคม 2566 – วันที่ 31 มกราคม 2567 ให้บริการเดินรถ จำนวน 5 คัน จึงยุติการให้บริการเดินรถ
สำหรับปัญหาการให้บริการที่เกิดขึ้น คือ ผู้พิการและผู้สูงอายุเข้าถึงบริการได้ยาก การให้บริการไม่ครอบคลุม (มีการใช้งานเพียงบางกลุ่ม) การให้บริการยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ใช้งบประมาณในการดำเนินการสูง ไม่คุ้มค่ากับเที่ยวรถ
กรุงเทพมหานครจึงต้องหาแนวทางเพื่อทำให้การบริการนี้มีความยั่งยืนและมีการบริการที่ดีขึ้น เนื่องจากผู้พิการนั่งหรือผู้สูงอายุรถเข็นมีความจำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ซึ่งขนส่งมวลชนทั่วไปยังไม่ครอบคลุม
หลังจากที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ได้ส่งมอบรถรับส่งคนพิการและผู้สูงอายุ ให้กับสำนักการแพทย์ (สนพ.) จำนวน 15 คัน จากทั้งหมด 20 คัน
สนพ. ได้ส่งมอบให้สำนักพัฒนาสังคม (สพส.) จำนวน 2 คัน เพื่อใช้ดูแลผู้สูงอายุที่บ้านบางแค 2 และศูนย์บริการผู้สูงอายุดินแดง และส่งมอบให้โรงพยาบาลในสังกัด กทม. 13 คัน เพื่อให้บริการรับส่งคนพิการที่มี 5,000 คน และผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหวลำบาก 1 แสนคน
ซึ่งเป็นตัวเลขผู้ใช้บริการในโรงพยาบาลสังกัด กทม. เป็นประจำ ในจำนวนนี้ มี 3 คันที่ต้องซ่อมบำรุงอย่างหนัก ในส่วนของเงื่อนไขการให้บริการจะมีการประเมินความจำเป็นโดยพิจารณาตามข้อบ่งชี้ ทั้งด้านร่างกาย (เช่น ผู้ป่วยที่ระดับ ADL 5-12 ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ผู้ป่วยต้องมีสัญญาณชีพคงที่ไม่อยู่ในภาวะวิกฤต ผู้ป่วยที่มีนัดรักษาต่อเนื่องกับโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์
ส่วนในกรณีผู้ที่ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล จะพิจารณาการให้บริการโดยใช้ Telemedicine ติดตามการรักษาพยาบาล และเยี่ยมบ้าน
ด้านลักษณะการให้บริการ จะให้บริการไม่เกิน 4 เที่ยว/วัน/คัน โดยพิจารณาความจำเป็นของการให้บริการจากดุลยพินิจของบุคลากรทางการแพทย์
รวมถึงต้องมีการนัดหมายขอใช้บริการรถรับ-ส่งผู้พิการหรือผู้สูงอายุ ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ซึ่งจะเป็นการให้บริการตามพื้นที่ Health Zone โดยที่ต้นทางและปลายทางเป็นที่อยู่อาศัยของผู้รับบริการหรือโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ สำนักการแพทย์ได้เปิดให้คนพิการและผู้สูงอายุจองรถผ่านระบบในหลายช่องทาง อาทิ ไลน์แอดโรงพยาบาล โทรศัพท์มายังศูนย์ข้อมูลของ สนพ. หรือระบบ Easy Chat ทางแอปพลิเคชัน หมอ กทม. ไปเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่ามีคนจองรถ 133 ราย โดย สนพ. เปิดให้บริการฟรี ซึ่งเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้ให้บริการ 96 ราย แบ่งเป็นเที่ยวเดียว 12 ราย ไปกลับ 84 ราย และผู้ใช้บริการยกเลิกเอง 9 ราย
โดยเขตที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุด ได้แก่ เขตลาดกระบังและบางแค 25 ราย หนองแขม 12 ราย ทวีวัฒนา 9 ราย และภาษีเจริญ 7 ราย ทั้งนี้ สนพ. และ สพส. ดำเนินการปรับปรุงวงรอบการให้บริการเดินรถให้มีประสิทธิภาพและรวบรวมปัญหารายงานให้ผู้บริหารรับทราบต่อไป
ส่วนแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการรถบริการสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็นของ กทม. โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนรถให้เพียงพอต่อผู้รับบริการ รวมถึงการพิจารณาขยายการให้บริการไปในกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและช่วยให้ผู้พิการ ซึ่งด้อยโอกาสและเดินทางลำบากได้ใช้บริการดังกล่าวนั้น
ในอนาคต กทม. อาจมีการขยายไปยังกลุ่มเป้าหมายรอง เช่น ผู้พิการที่ต้องเดินทางไปสถาบันสิรินธร (สธ. จ.นนทบุรี) แต่ในระยะแรกนี้จะให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายหลักที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ก่อน
โดยหลังจากเปิดให้บริการ จะรวบรวมข้อมูลประมาณ 3 เดือน เพื่อนำมาปรับปรุงการให้บริการให้ดีขึ้นหรือพิจารณาขยายการบริการไปยังกลุ่มเป้าหมายรองต่อไป
ด้านมาตรการในระยะยาว คือ ดูในเรื่องข้อบัญญัติต่าง ๆ รวมทั้งทำความร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หาแนวทางในการดำเนินการจัดให้มีสวัสดิการเกี่ยวกับด้านการเดินทางของผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น แก้ไขระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการและการสงเคราะห์
ตลอดจนประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนในการเข้ามาร่วมให้บริการ เป็นต้น ซึ่งภายในปีนี้จะต้องออกวิธีการที่จะทำให้การบริการนี้ยั่งยืนขึ้นและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
———————————