Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม 2567

กทม.ดูแลผู้ใช้บริการสวนสาธารณะ แนะเลี่ยงออกกำลังกายกลางแจ้งเวลานาน ลดความเสี่ยงโรคลมแดด

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการรับมือแจ้งเตือนและลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากภาวะอากาศร้อนของประชาชนที่มาใช้บริการสวนสาธารณะของ กทม.ว่า สสล.มีหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาสวนสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ จำนวน 51 แห่ง เพื่อให้บริการประชาชนในการทำกิจกรรมสันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจ ทำกิจกรรมกลางแจ้งและออกกำลังกาย

โดยได้ติดตามข้อมูลสภาพอากาศของประเทศไทยจากกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งได้ประกาศว่า ประเทศไทยสิ้นสุดฤดูหนาวและเข้าสู่ฤดูร้อนแล้วเมื่อในวันที่ 21 ก.พ.67

โดยในตอนกลางวันจะมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปต่อเนื่อง อุณหภูมิสูงสุดมากกว่า 35 องศาเซลเซียส เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากรังสีดวงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น

สสล.จึงได้เตรียมความพร้อมรับมือ แจ้งเตือน และลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากภาวะอากาศร้อน เช่น อาการเพลียแดด ภาวะฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดดของประชาชนที่มาใช้บริการ โดยประชาสัมพันธ์ข้อมูลความรู้เรื่องภาวะฮีทสโตรกและค่าดัชนีความร้อน (Heat Index)

เนื่องจากอุณหภูมิสูงควบคู่กับความชื้นสูง ทำให้เหงื่อในร่างกายไม่ระเหย เกิดสภาวะร่างกายเสียน้ำ แต่อุณหภูมิร่างกายไม่ลดลง ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดอาการฮีทสโตรก พร้อมจัดหน้าที่ดูแลตรวจตราให้ความรู้และสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่มาออกกำลังกายควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งในเวลากลางวันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน และแจ้งข้อแนะนำการดูแลรักษาสุขภาพและข้อควรปฏิบัติต่าง ๆ เช่น ควรดื่มน้ำบ่อย ๆ รวมถึงแจ้งวิธีสังเกตอาการเพลียแดด เป็นต้น

นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร โดยทีมโฆษกศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานครและทีมประชาสัมพันธ์ของสำนักสิ่งแวดล้อมจะได้ประสานสำนักการแพทย์ เพื่อให้ความรู้เรื่องภาวะฮีทสโตรกและการดูแลสุขภาพ รวมถึงค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) ผ่านการถ่ายทอดสด (Live) ที่เพจเฟซบุ๊กสำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ต่อไป

 

กทม.เร่งประสาน กฟน.-กสทช.จัดระเบียบสายไฟฟ้า-สายสื่อสารรอบศาลาว่าการ กทม.(เสาชิงช้า)

นางสาวจรัสศรี รัตตะมาน ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการปลัดกรุงเทพมหานคร (สลป.) สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์สายไฟฟ้าสายสื่อสารรอบศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) ไม่เป็นระเบียบ และอาจเป็นอันตรายได้ รวมทั้งการจอดรถรับส่งเจ้าหน้าที่ กทม.บนผิวจราจรบริเวณถนนศิริพงษ์ กีดขวางทางสัญจรว่า

สลป.ได้เร่งรัดจัดระเบียบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารบริเวณโดยรอบศาลาว่าการ กทม.(เสาชิงช้า) โดยร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ตรวจสอบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารบริเวณโดยรอบศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) ทั้งฝั่งถนนศิริพงษ์และถนนดินสอ

พบว่า บริเวณถนนศิริพงษ์ มีสายไฟฟ้าของ กฟน.1 จุด และธนาคารกรุงไทยบริเวณถนนศิริพงษ์ 1 จุด ที่ต้องดำเนินการแก้ไข ส่วนสายสื่อสารบริเวณถนนศิริพงษ์ และหลังอาคารศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า)

ได้ประสานสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

โดยเบื้องต้น สลป.จะประสานบริษัทเจ้าของสายสื่อสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าตรวจสอบสายสื่อสารโดยรอบอาคารศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) หากจำเป็นต้องจัดระเบียบสายสื่อสารที่พาดข้ามมาอาจต้องย้ายมิเตอร์ไฟฟ้าจากเสาไฟฟ้าฝั่งตรงข้ามศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) ถนนศิริพงษ์ไปยังบริเวณต้นโพธิ์ ฝั่งถนนดินสอ รวมถึงพิจารณาย้ายสายสื่อสารลงดิน ซึ่งต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่า ข้อดีข้อเสีย รวมถึงงบประมาณที่จะนำมาใช้อย่างรอบคอบ

ส่วนกรณีการจอดรถรับ-ส่งเจ้าหน้าที่ กทม.บนผิวจราจรบริเวณถนนศิริพงษ์ สลป.ได้ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ศาลาว่าการ กทม.(เสาชิงช้า) และลานคนเมือง

ซึ่งศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) เป็นศูนย์ราชการของ กทม.มีรถราชการขนาดใหญ่ไม่สามารถนำไปจอดที่ลานคนเมืองได้ จึงจำเป็นต้องใช้พื้นบริเวณด้านข้างอาคารศาลาว่าการ กทม.(เสาชิงช้า) จอดรถราชการดังกล่าว

โดยที่ผ่านมา กทม.ได้บริหารจัดการพื้นที่โดยรอบให้สามารถจอดรถได้หลังเวลาราชการ ต่อมาผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนโดยรอบได้นำรถมาจอดทั้งชั่วคราวและจอดค้างในช่วงเวลากลางคืน ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า รถคันใดจะจอดชั่วคราว หรือจอดค้าง

เมื่อ กทม.มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่สำหรับจอดรถราชการในเวลาราชการ ไม่สามารถแจ้งเจ้าของรถเคลื่อนย้ายรถออกตามกำหนดเวลาได้ อย่างไรก็ตาม แม้ กทม.จะจอดรถราชการใช้พื้นผิวจราจร 1 ช่องจราจร และมีประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงจอดรถยนต์ส่วนตัวอีก 1 ช่องจราจร แต่ปัจจุบันยังคงเหลืออีก 1 ช่องจราจร สำหรับการเดินรถทางเดียว

เส้นทางด้านหลังศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) ซึ่งมิใช่เส้นทางหลักในการสัญจรโดยทั่วไป ประกอบกับมิได้มีข้อกำหนดของเจ้าพนักงานจราจรหวงห้ามไว้

โดย กทม.ได้จัดเจ้าหน้าที่ขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์ คอยอำนวยความสะดวกด้านจราจรบริเวณโดยรอบ ซึ่งโดยปกติมิได้มีผลกระทบต่อสภาพการจราจรโดยรวมแต่อย่างใด

 

กทม.เตรียมพร้อมดูแลความปลอดภัยประชาชน-นักท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2567

นายสิงห์ ลิ้มพิรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาร่วมงานสงกรานต์ ปี 2567

ว่า สวท.ได้จัดตั้งกองอำนวยการร่วมกลาง และให้ทุกสำนักงานเขตประสานกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลในพื้นที่ กองบังคับการตำรวจจราจร กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว และสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ เพื่อร่วมกันดูแลและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ขณะเดียวกันได้เตรียมควบคุมดูแลพื้นที่ที่คาดว่า จะมีผู้มาร่วมงานสงกรานต์หนาแน่น จัดให้มีศูนย์กล้องวงจรปิด (CCTV) ติดตามเฝ้าสังเกต เพื่อจำกัดผู้ร่วมงานไม่ให้เกินปริมาณพื้นที่ที่รองรับได้

ตลอดจนขอความร่วมมือประชาชนที่เข้าร่วมงานเทศกาลมหาสงกรานต์ให้เล่นสงกรานต์อย่างสุภาพ เน้นการรักษาวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของไทย

นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี สปภ.ได้เตรียมการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ

โดยขณะนี้ได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์กรุงเทพมหานคร ประจำปี 2567 เพื่อเป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติงานให้กับหน่วยงานของ กทม.

พร้อมจัดทำร่างประกาศ กทม.เรื่อง การป้องกันอัคคีภัยและหลีกเลี่ยงอันตรายอันเกิดจากอัคคีภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567 เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับทราบและใช้ความระมัดระวังมากขึ้น

ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นอกจากนั้น ยังได้จัดเตรียมแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของ สปภ.ประจำปี 2567 เพื่อรองรับภารกิจและให้การสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมรถดับเพลิงและกู้ภัย รถไฟฟ้าส่องสว่าง และอุปกรณ์ด้านการดับเพลิงและกู้ภัย ประจำจุดเฝ้าระวังอัคคีภัย อาทิ บริเวณย่านถนนสีลม ถนนข้าวสาร เป็นต้น รวมทั้งจุดบริการประชาชนบริเวณเส้นทางเข้าออกเมือง รวม 41 จุด

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200