(22 ธ.ค.65) เวลา 16.00 น. : นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับ นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค (H.E. Mr. Robert F. Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะเพื่อหารือถึงประเด็นที่น่าสนใจและความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ณ ห้องอมรพิมาน ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร ในการนี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบกุญแจเมืองจำลองและหนังสือ Bangkok: Recipes and Stories from the Heart of Thailand เป็นของที่ระลึก
การเข้าพบในวันนี้ เป็นการหารือถึงความร่วมมือที่สถานทูตอเมริกาสามารถช่วยเหลือหรือสนับสนุนงานของกรุงเทพมหานครที่ทำให้ประชาชนสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะด้านการศึกษาและสาธารณสุข การจัดกิจกรรมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต 109 ปี ระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา และความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง 61 ปี ระหว่างกรุงเทพมหานครและกรุงวอชิงตัน ดีซี พร้อมทั้งได้หารือถึงนักลงทุนชาวอเมริกันกว่า 100 บริษัทที่สนใจที่กลับมาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทย และการที่หอการค้าสหรัฐ (AMCHAM) จะให้การสนับสนุนโครงการโรงเรียนวันเสาร์ Saturday School เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับการศึกษาของเยาวชน โดยเน้นที่ความถนัดและความสามารถของแต่ละคนตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร เช่น การนำองค์ความรู้มาเผยแพร่ การส่งวิทยากรมาฝึกอบรม เป็นต้น นอกจากนี้ได้หารือถึงความสนใจที่จะให้ประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปยังอเมริกา เช่น ส้มโอ อีกด้วย
กรุงเทพมหานครและกรุงวอชิงตัน ดีซี ได้สถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2505 โดยที่ผ่านมาทั้งสองเมืองได้ดำเนินความร่วมมือในลักษณะของการแลกเปลี่ยน การเยือน การประชุม การแสดงทางวัฒนธรรม กิจกรรมเยาวชน เป็นต้น ในโอกาสที่ปี พ.ศ.2565 เป็นปีครบรอบ 60 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างกัน สำนักงานการต่างประเทศจึงได้พิจารณาจัดทำเสาชิงช้าจำลองซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร เพื่อมอบเป็นของที่ระลึกแก่กรุงวอชิงตัน ดีซี อันจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีในฐานะเมืองพี่เมืองน้อง โดยเป็นเสาชิงช้าจำลอง จำนวน 1 ชุด ขนาดกว้าง 61 ซ.ม.X ยาว 63 ซ.ม. x สูง 178 ซ.ม. น้ำหนักเสาชิงช้า 15 กก. น้ำหนักกล่อง 8 กก. รวมทั้งสิ้น 23 กก. ซึ่งกรุงเทพมหานครจะจัดพิธีส่งมอบเสาชิงช้าจำลองระหว่างผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ในฐานะผู้แทนกรุงวอชิงตัน ดีซี ในโอกาสต่อไป
ทั้งนี้ ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์มายาวนาน โดยเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ.2376 จากที่ทั้งสองฝ่ายมีสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ (Treaty of Amity and Commerce) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในปีดังกล่าว ประธานาธิบดี Andrew Jackson ของสหรัฐอเมริกา ได้ส่งนาย Edmund Roberts เป็นเอกอัครราชทูตเดินทางมายังกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งนำสิ่งของมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งรวมถึงดาบฝักทองคำที่ด้ามสลักเป็นรูปนกอินทรีและช้าง และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานสิ่งของตอบแทนซึ่งเป็นของพื้นเมือง เช่น งาช้าง ดีบุก เนื้อไม้ และกำยาน เป็นต้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้น และปรับเปลี่ยนจากความสัมพันธ์ฉันท์มิตรประเทศธรรมดาเป็นการมีความสัมพันธ์พิเศษระหว่างกัน ความสัมพันธ์ได้มุ่งเน้นด้านความมั่นคงโดยที่ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกามีแนวความคิดสอดคล้องกันที่ต้องการต่อต้านและปิดล้อมการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ และสหรัฐอเมริกาในฐานะเป็นผู้นำในการปกป้องลัทธิเสรีนิยมและอุดมการณ์ประชาธิปไตยจึงได้ให้ความสำคัญกับประเทศไทยในฐานะพันธมิตรและเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์โดยเฉพาะในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์เป็นตัวแทนของโลกเสรีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น ในปี พ.ศ.2493 สมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้ทำความตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือทางทหารกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยเน้นเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก พร้อมกันนั้นรัฐบาลไทยได้จัดกำลังจากทุกเหล่าทัพสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในสงครามเกาหลีตามมติสหประชาชาติอันเป็นจุดกำเนิดของการปฏิบัติการร่วมสมัยใหม่และเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา
—————–