Search
Close this search box.
กทม. ติดตามงานปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า สนองนโยบายเร่งด่วนรัฐบาล 

 

(22 ก.พ. 67) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า และผ่านระบบออนไลน์

รองผู้ว่าฯ กล่าวว่า เรื่องยาเสพติดรวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องที่รัฐบาลมอบเป็นนโยบายเร่งด่วน กระบวนการการตรวจกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาสามารถรวมไปกับการตรวจยาเสพติดได้แม้บุหรี่ไฟฟ้าจะไม่ใช่ยาเสพติด รวมถึงที่ผ่านมาการรอบรู้ต่อกฎหมายนอกอื่นๆ ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับกทม. ผู้ปฏิบัติงานเองอาจไม่ทราบ ดังนั้นจะทำให้การคาดการณ์ ติดตามสถานการณ์ไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้การปรับเป็นพินัยก็เป็นเรื่องใหม่ทำให้การทำงานหลายเรื่องยังดำเนินการได้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ จึงต้องขอแนะนำจากคณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อให้การทำงานบรรลุตามเป้าประสงค์

นอกจากนี้รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้แจ้งที่ประชุมทราบในเรื่องต่างๆ เพิ่มเติมดังนี้ 1. ประเด็นรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ปี 2567 องค์การอนามัยโลกได้กำหนด คือ “Protecting children from tobacco industry interference” โดยประเทศไทย ใช้ประเด็นสื่อสาร คือ ปกป้องเด็กจากการแทรกแซงนโยบายของธุรกิจยาสูบ โดยมีคำขวัญรณรงค์ คือ #บุหรี่ไฟฟ้า : หยุดโกหกได้แล้ว(Stop the lies) 2. กรุงเทพมหานครได้ประกาศคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร เรื่อง แนวทางปฏิบัติเพื่อการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อเป็นการป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้ถูกคุกคามและได้รับอันตรายจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีหัวข้อสำคัญได้แก่ การสร้างความรู้เท่าทันต่อสถานการณ์ โทษ และพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าให้กับเด็กและเยาวชน การสร้างพื้นที่ปลอดภัยรอบสถานศึกษาเพื่อป้องกันการเข้าถึงบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าการควบคุมสถานที่ทำงาน สถานที่สาธารณะ เป็นเขตปลอดบุหรี่และปลอดบุหรี่ไฟฟ้า การบังคับใช้กฎหมาย การบำบัดรักษาผู้สูบ และการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน 3. กรุงเทพมหานครร่วมลงพื้นที่ปฏิบัติการบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับหน่วยงานต่างๆ 3 จุด ได้แก่ ตรอกข่าวสาร เขตพระนคร คลองถมเซ็นเตอร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ โดยเมื่อวันที่ 15 ก.พ.67 พบว่าสามารถจับยึดบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า มูลค่ากว่า 5,000,000 บาท

จากนั้นที่ประชุมได้นำเสนอความคืบหน้าการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการจัดเก็บภาษียาสูบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขณะนี้อยู่ระหว่างรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 2 หน่วยงานให้ความเห็นชอบในหลักการ โดยที่ประชุมขอให้สำนักการคลังมีหนังสือเร่งรัดไปยังหน่วยงานดังกล่าวเพื่อกรุงเทพมหานครจะได้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทยรายงานผลการเฝ้าระวังการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่ กทม. และช่องทางออนไลน์ (ข้อมูลวันที่ 25 ธ.ค. 66) พบว่า มีร้านลักลอบจำหน่วยบุหรี่ไฟฟ้าที่มีที่ตั้งชัดเจนโจ่งแจ้ง (ไม่นับรวมแผงลอย) ในกทม. รวม 73 ร้าน 

มีการจัดกิจกรรมสนับสนุนการดำเนินงาน 7 มาตรการเพื่อเป็นสถานศึกษาปลอดบุหรี่ตามโครงการกรุงเทพมหานครเขตปลอดบุหรี่ ปี 2567 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้อำนวยการสถานศึกษาและครูผู้รับผิดชอบงานด้านการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบในโรงเรียนระดับปฐมศึกษาสังกัดกทม. จำนวน 328 โรงเรียน ทั้งนี้มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่กำหนดให้โรงเรียนสังกัดกทม. ที่สมัครใจรับการประเมินโรงเรียนและส่งเอกสารหลักฐานครบถ้วน จำนวน 10 แห่ง จะได้รับการเชิญเข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงาน 7 มาตรการ เพื่อสถานศึกษาปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 และกำหนดมอบรางวัลเชิดชูเกียรติศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และโรงเรียนต้นแบบปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงเดือนตุลาคม 2567

นอกจากนี้ กทม. ร่วมหารือการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของกทม. ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยมีประเด็นสำคัญคือ สำนักอนามัยจะดำเนินการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าแก่พนักงานเจ้าหน้าที่สังกัดกทม. และกองบัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เป็นวิทยากรให้ความรู้ ซึ่งจะมีดำเนินการในช่วงเดือนมีนาคม 2567 

จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาในเรื่องให้สถานศึกษาทุกสังกัดสำรวจการใช้ยาและสารเสพติดของนักเรียนและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในสถานศึกษา โดยรายงานผ่านระบบออนไลน์เมื่อตรวจพบเพื่อเป็นข้อมูลการเฝ้าระวังและวางแผนการช่วยเหลือ และมีหนังสือแจ้งผู้ปกครองนักเรียนทุกคนห้ามนักเรียนนำยาและสารเสพติดรวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในสถานศึกษา โดยกำหนดระยะเวลาการรายงานผลทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไป หรือเมื่อพบเหตุการณ์ และขอความร่วมมือกระทรวงแรงงานแจ้งสถานประกอบการให้จัดสภาพแวดล้อมของสถานประกอบการให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย โดยจัดเขตสูบบุหรี่ตามที่กฎหมายกำหนดและประกาศเตือนห้ามนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาภายในสถานประกอบการ ค้นหาและรับสมัครพนักงานที่สูบบุหรี่เพื่อรับคำปรึกษา บำบัดรักษาเพื่อเลิกสูบบุหรี่ โดยประสานศูนย์บริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลในพื้นที่หรือแจ้งความประสงค์มายังสำนักอนามัยเพื่อสนับสนุนการบำบัดรักษาต่อไป ทั้งนี้ สำนักอนามัยจัดทำหนังสือประสานกระทรวงแรงงานในการสำรวจการจัดสภาพแวดล้อมให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย รวมถึงข้อมูลเพื่อขอรับคำปรึกษา บำบัด หรือรักษาเพื่อเลิกสูบบุหรี่ในศูนย์บริการสาธารณสุข หรือคลินิกก้าวใหม่ พลัส สังกัดสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และคลินิกเลิกบุหรี่ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โดยมติประชุมเห็นชอบทั้ง 2 เรื่อง

 

#สุขภาพดี

—————

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200