“ลองนึกภาพว่า ถ้ามีร้านขายยาที่ได้มาตรฐาน แทรกตัวอยู่ในชุมชนหลัก 3-4 ร้อยแห่ง ที่สามารถทำหน้าที่แทนโรงพยาบาลในเบื้องต้นได้ การที่ประชาชนจะต้องไปถึงศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร หรือโรงพยาบาล ก็จะเบาบางลง โรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขก็จะสามารถให้บริการคนไข้ที่มีอาการมากกว่านั้น มีความซับซ้อนมากกว่านั้นได้ ทุกคนก็จะเข้าถึงระบบได้รวดเร็วทั้งหมด” ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังเข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของร้านยาฟาร์ม่าสโตร์ รัชโยธิน ปากซอยพหลโยธิน 35 เขตจตุจักร ซึ่งเป็นหนึ่งในร้านยารูปแบบใหม่ที่สมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายของ
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เช้าวันนี้ (4 ต.ค. 65)สำหรับร้านยาที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิของ สปสช. นั้น จะมีสัญลักษณ์ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น หรือ ร้านยาให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น” ติดอยู่หน้าร้าน ให้บริการที่มากกว่าร้านยาทั่วไป โดยมีทั้งการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การให้คำปรึกษาด้านเภสัชกรรม บริการยาและเวชภัณฑ์ ติดตามดูแลอาการโรคเบื้องต้น (Common illness) ตลอดจนบริการด้านยาและเวชภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งประชาชนทุกสิทธิสามารถเข้ามารับบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้ใช้สิทธิบัตรทองยังรับบริการรักษาโรคเบื้องต้นและเวชภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังฟรีอีกด้วยในส่วนของโรคเบื้องต้น (Common illness) ที่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองจะได้รับยาตามแนวทางและมาตรฐานการให้บริการของสภาเภสัชกรรมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายนั้นจะเป็นโรคพื้นฐานทั่วไป 13 กลุ่มโรค ซึ่งเป็นโรคที่คนคนไข้มักซื้อยาในร้านยาเป็นประจำ เช่น โรคหวัดทั้งแบบติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ โรคท้องเสีย โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ อาการผื่นผิวหนังต่าง ๆ เป็นต้น สำหรับขั้นตอนในการรับบริการนั้นแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ 1.คนไข้ติดต่อผ่านไปที่ สปสช. เจ้าหน้าที่จะแนะนำให้ไปรับบริการที่ร้านยาคุณภาพในเครือข่าย ที่อยู่ใกล้บ้าน 2. กรณี walk in ทางเภสัชกรจะทำการคัดกรองว่าเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับบริการตามสิทธิบัตรทองหรือไม่ และดำเนินการต่อเป็นลำดับขั้นตอนไปรองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวต่อถึงกรณีที่มีการยกเลิกสัญญาสิทธิบัตรทองกับโรงพยาบาลเอกชน 9 แห่งว่า การเปิดร้านยาเครือข่ายปฐมภูมิ ก็เป็นหนึ่งในมาตรการที่ใช้รองรับในเรื่องนี้ ถ้าแบ่งประชาชนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกประมาณ 220,000 คน เป็นประชาชนที่ใช้ปฐมภูมิอยู่ ในจำนวนนี้เป็นคนไข้ที่เป็นโรคเรื้อรัง ประมาณ 20,000 คน เป็นคนไข้ที่ walk in เข้าไปรับบริการจากปฐมภูมิเป็นประจำประมาณ 5,000 คน ในอัตราส่วนนี้ เรามีศูนย์บริการสาธารณสุข 69 ศูนย์ รวมทั้ง 73 ศูนย์สาขา คลินิกชุมชนอบอุ่นอีกประมาณ 200 สาขา ถ้าเรามีร้านยาเครือข่ายปฐมภูมิเพิ่มอีกประมาณ 200-300 แห่ง เราจะมีหน่วยปฐมภูมิกว่า 700 แห่ง เพื่อรองรับประชาชนที่ใช้บริการหน่วยปฐมภูมิ“ถ้าปฐมภูมิเรากระจายได้เยอะ สร้างความเชื่อมั่นได้เร็ว ผู้ป่วยที่ต้องส่งต่อไปจริง ๆ ก็จะลดลง” รองผู้ว่าฯ ทวิดากล่าวทิ้งท้ายสำหรับวันนี้ มี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. ดร.ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 13 กรุงเทพมหานคร ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่ 2 ร่วมลงพื้นที่
———-