กทม.เร่งออกแบบจัดสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารหน้าสถานีรถไฟฟ้า MRT สถานีสามยอด
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง รักษาการผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวกรณีสื่อออนไลน์วิจารณ์ป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางหน้าสถานีรถไฟฟ้า MRT สถานีสามยอด ไม่ก่อสร้างให้ถาวร ทั้งยังออกแบบไม่สอดคล้องกับความสวยงามของสถานีว่า คณะอนุกรรมการกำหนดที่หยุดรถโดยสารเขตกรุงเทพมหานคร มีมติให้ย้ายตำแหน่งป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางจากห้างดิโอลด์สยาม มาอยู่บริเวณทางเท้าระหว่างทางออก 2 และ 3 ของสถานีรถไฟฟ้าสามยอด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเดินทาง แต่เนื่องจากพื้นที่ความกว้างของทางเท้าบริเวณดังกล่าวจำกัด จึงไม่สามารถนำแบบมาตรฐานที่ใช้ทั่วไปมาใช้ได้ สจส.จึงออกแบบใหม่ให้เหมาะสมกับพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอดำเนินการได้ติดตั้งศาลาที่พักผู้โดยสารชั่วคราว เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน ซึ่งขณะนี้ สจส.ได้ออกแบบศาลาที่พักผู้โดยสารใหม่แล้วเสร็จ โดยอยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการต่อไป
กทม.ปรับปรุงรูปแบบมาตรฐานทางเท้าตามหลัก Universal Design จัดทำข้อตกลงหน่วยงานสาธารณูปโภคลดปัญหาขุดรื้อทางเท้า
นายจิระเดช กรุณกฤตกุล รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อเสนอแนะให้ กทม.พิจารณาปรับวิธีก่อสร้างทางเท้าให้แข็งแรงและมีมาตรฐานว่า สนย.มีแนวทางการก่อสร้างและปรับปรุงทางเท้าของ กทม.ให้มีมาตรฐาน ปลอดภัย และแข็งแรง โดยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงแบบมาตรฐานงานทางกรุงเทพมหานคร และรายการมาตรฐานงานทางของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2542 เพื่อปรับปรุงแก้ไขแบบมาตรฐานงานทางกรุงเทพมหานคร และรายการมาตรฐานงานทางของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2542 ทั้งฉบับ ให้เหมาะสมกับการก่อสร้างในปัจจุบัน โดยคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว ได้ศึกษามาตรฐานต่าง ๆ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนำข้อเสนอแนะของกลุ่มผู้พิการมาปรับปรุงรูปแบบมาตรฐานทางเท้า โดยแบบมาตรฐานใหม่จะลดระดับคันหินลงจากเดิม 18.5 เซนติเมตร (ซม.) เป็น 10 ซม. เพื่อลดการเปลี่ยนระดับทางเท้าให้ประชาชนสามารถสัญจรได้อย่างต่อเนื่องในทางราบและลดความยาวของลาดทางเท้า เพื่อลดผลกระทบของประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ รวมทั้งปรับรูปแบบลาดทางเท้าให้เป็นไปตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) มีความเหมาะสมต่อการใช้งานของคนพิการ ขณะเดียวกันได้ปรับปรุงโครงสร้างของชั้นพื้นฐานทางเท้าจากเดิม ประกอบด้วย ชั้นคอนกรีตหยาบ ชั้นปูนทรายสำเร็จรูป และใช้กระเบื้องคอนกรีตสำหรับปูพื้น เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อลดการทรุดตัวและเพิ่มความแข็งแรงของทางเท้า และเปลี่ยนรูปแบบกระเบื้องคอนกรีตเป็นกระเบื้องซีเมนต์ปูพื้น หรือแอสฟัลต์คอนกรีตพิมพ์ลายบดอัดแน่น เพื่อเพิ่มความสวยงามและความคงทน
นอกจากนั้น ยังได้ปรับรูปแบบช่องรับน้ำในแนวตั้งตามรูปแบบเดิมเป็นช่องรับน้ำในแนวนอน เพื่อเพิ่มความสามารถการระบายน้ำ ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้ความเห็นชอบแบบมาตรฐานทางเท้า และมีหนังสือแจ้งหน่วยงานในสังกัดนำไปปรับปรุงทางเท้าให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน อีกทั้งได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานการจัดทำมาตรฐานแบบภูมิทัศน์ริมถนนและทางเท้าเพื่อทุกคนในสังคม โดยคณะทำงานฯ ได้ศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ กฎกระทรวง กำหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ หรือบริการสาธารณะอื่น เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ รวมถึงมาตรฐานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อกำหนดรูปแบบ วัสดุ และสิ่งที่ควรมีที่เหมาะสมกับทางเท้า เพื่อเอื้อต่อการใช้ประโยชน์ของทุกคนในสังคม และปรับปรุงวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับการก่อสร้างในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว ร่นระยะเวลาการก่อสร้าง ช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน นอกจากนี้ ยังได้ประสานและจัดทำข้อตกลงกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การประปานครหลวง (กปน.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อร่วมวางแผนงานของแต่ละหน่วยงานให้มีความสอดคล้องกัน ลดปัญหาการขุดรื้อทางเท้า ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ทางเท้าเป็นหลุมบ่อ รวมทั้งจัดประชุมติดตาม ตรวจสอบ และควบคุมงานก่อสร้างทางเท้าให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ กทม.กำหนด ตลอดจนร่วมกับ กฟน. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดิน เพื่อคืนทางเท้าให้ประชาชน มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม และเป็นทางเท้าของทุกคนตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ ๒๐ ปี