(14 ก.พ. 67) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์เนื่องในวันแห่งความรัก Valentine 2024 : Ready 4 Love กรุงเทพมหานครได้ลงนามปฏิญญาเพื่อยุติปัญหาเอดส์ Fast-Tack Cities ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2557 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ครั้งที่ 2 ในปี 2565 ณ เมืองเซบียา ประเทศสเปน และครั้งที่ 3 ณ เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยมีเป้าหมาย 95-95-95 ภายในปี 2573 ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้ดำเนินงานด้านเอชไอวีมาอย่างต่อเนื่องและพบว่าสัดส่วนของผู้ที่ทราบสถานะการติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้นจาก 74% ใน ปี 2558 เป็นมากกว่า 96% ในปี 2565 ความครอบคลุมของการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้นจาก 52% เป็น 91% และผู้ติดเชื้อเอชไอวีในกรุงเทพฯ เกือบทุกคนสามารถยับยั้งปริมาณไวรัสเอชไอวีได้ร้อยละ 98 ของผู้ติดเชื้อ ฯ ได้รับยาต้านไวรัสภายใน 7 วันหลังทราบสถานะการติดเชื้อในสถานพยาบาลของกรุงเทพมหานคร และมีผู้รับบริการ PEP เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ภายใน 4 ปี ระหว่างปี 2562 – 2566 ซึ่งเป็นผลมาจากการมีทิศทางเชิงกลยุทธ์ที่ชัดเจน การสร้างนวัตกรรมและความร่วมมือที่เข้มแข็งของภาคีเครือข่าย จากการคาดประมาณจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีชีวิตอยู่ในปี 2566 มีจำนวน 90,416 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,123 คน และเสียชีวิตภายในปี 2566 จำนวน 1,831 คน ข้อมูลในระบบ NAP พบว่ามีผู้ที่ทราบสถานการณ์ติดเชื้อเอชไอวีและมีชีวิตอยู่ จำนวน 86,133 คนได้รับยาต้านไวรัสและมีชีวิตอยู่ จำนวน 66,240 คน
จากผลการเฝ้าระวังการติดเชื้อเอชไอวี และพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี (BBS) ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย พบว่า กลุ่มสาวประเภทสอง (TGW) ร้อยละ 4 และกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชายติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 1.68 ปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกรุงเทพมหานครจำนวน 8,000 คน โรคที่พบมากที่สุดคือ ซิฟิลิส 2,745 คน รองลงมาคือ หนองใน หนองในเทียม หูดหงอนไก่และเริม ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มเยาวชนและกลุ่มประชากรที่มีความหลากหลายทางเพศ
โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เล็งเห็นความสำคัญและกำหนดนโยบาย “นำร่องพัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย” เพื่อสร้างสวัสดิการของรัฐ ที่ครอบคลุมความหลากหลายของมนุษย์ สำนักอนามัยร่วมกับภาคีเครือข่าย จึงได้ดำเนินกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์เนื่องในวันแห่งความรัก BKK Pride Valentine Day 2024 : Ready 4 You เพื่อเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ ที่ถูกต้องเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ ประชาสัมพันธ์การใช้ถุงยางอนามัยและยาป้องกันก่อนและหลังการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (PrEP /PEP) รวมถึงประชาสัมพันธ์การให้บริการคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย กรุงเทพมหานคร (BKK Pride Clinic) เพื่อให้เข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม ลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ ในปี 2567 นี้ กรุงเทพมหานครมีคลินิกดังกล่าว จำนวน 31 แห่ง ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 20 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 11 แห่ง
สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การแสดงดนตรี จาก PARK MALODY (วาสนาผู้ใดหนอ) และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา การแสดงบนเวทีโดยสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยและมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ การเสวนาหัวข้อ Ready 4 You มีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ นายสินสมุทร เขียวขาว (ผู้แทนศิลปิน) ผู้แทนสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร ผู้แทนเยาวชน LGBTQI+ นพ.สธน ชมพูพันธุ์ (BKK Pride Clinic ศูนย์บริการสาธารณสุข 28 กรุงธนบุรี) พญ.วิภาพร นาฏาลี ทรงทวีสิน จาก Buddy CU Clinic โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมกิจกรมในบูธนิทรรศการ ตอบคำถามชิงของรางวัลมากมายภายในงาน
————–