(4 ต.ค.65) เวลา 09.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านการจัดการขยะต้นทางของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2565 เพื่อพิจารณาร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาระบบการจัดการมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2567-2569 และพิจารณาร่างแนวทางการจัดการมูลฝอยตามประเภทแหล่งกำเนิด จำนวน 4 กลุ่ม 6 ประเภทแหล่งกำเนิด ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
ในที่ประชุมได้นำเสนอร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาระบบการจัดการมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2567-2569 กำหนดเป้าหมายระยะ 3 ปี ดังนี้ 1.ปริมาณขยะเหลือทิ้งที่ต้องส่งไปกำจัดลดลง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 เทียบกับข้อมูลฐาน 2.ลดการสร้างขยะจากต้นทาง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 ผ่านการดำเนินมาตรการลดละเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และมาตรการวางแผนการเตรียมวัตถุดิบและการจัดเก็บวัตถุดิบเพื่อลดการเกิดขยะอาหาร 3.ปริมาณอาหารส่วนเกิน (surplus food) ที่ส่งต่อให้ผู้ที่ต้องการ เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 เทียบกับข้อมูลฐาน และการนำเศษอาหารไปใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของข้อมูลฐาน 4.ปริมาณขยะรีไซเคิลที่เก็บรวบรวมได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 เทียบกับข้อมูลฐาน
สำหรับร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาระบบการจัดการมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2567-2569 ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ 6 แผนงานดังต่อไปนี้ 1.กลยุทธ์ A เสริมโครงสร้างเชิงระบบ แผนงานที่ 1 ปรับปรุงกฎหมายระเบียบและโครงสร้างพื้นฐานรองรับการจัดการขยะที่ต้นทาง 2.กลยุทธ์ B พัฒนาคนและสร้างความตระหนัก แผนงานที่ 2 สร้างศักยภาพบุคลากรและเพิ่มการสื่อสารสร้างความตระหนัก 3.กลยุทธ์ C ขันเคลื่อนพื้นที่จริง แผนงานที่ 3 ส่งเสริมแหล่งกำเนิดประเภทชุมชนและคอนโดมิเนียมให้ลดและคัดแยกขยะที่ต้นทาง แผนงานที่ 4 ส่งเสริมแหล่งกำเนิดประเภทสถานศึกษาให้ลดและคัดแยกขยะที่ต้นทาง แผนงานที่ 5 ส่งเสริมแหล่งกำเนิดประเภทอาคารสำนักงานให้ลดและคัดแยกขยะที่ต้นทาง แผนงานที่ 6 จัดระบบลดและคัดแยกขยะในงานกิจกรรมและสวนสาธารณะ ในส่วนของร่างแนวทางการจัดการมูลฝอยตามประเภทแหล่งกำเนิด จำนวน 4 กลุ่ม 6 ประเภทแหล่งกำเนิด ประกอบด้วย ประเภทสถานศึกษา ประเภทชุมชน/หมู่บ้าน ประเภทอาคารสำนักงาน ประเภทตลาด/ศูนย์การค้า ประเภทวัดและศาสนสถาน และประเภทงานกิจกรรมหรือเทศกาล เพื่อให้การบริหารจัดการมูลฝอยของกรุงเทพมหานครตามประเภทแหล่งกำเนิด มีแผนงาน มาตรการ เป้าหมาย และวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
นอกจากนี้ในที่ประชุมได้รายงานการสร้างต้นแบบการแยกขยะ ต่อยอดให้การแยกขยะระดับเขตสมบูรณ์ครบวงจร โครงการพัฒนาระบบการจัดการขยะครบวงจร เป้าหมายปี 2565 นำร่อง 3 เขต “ไม่เทรวม” ได้แก่ เขตหนองแขม เขตปทุมวัน และเขตพญาไท กรอบระยะเวลาในการดำเนินการ 8 เดือน ระหว่างเดือนสิงหาคม 2565 ถึงเดือนมีนาคม 2566 โดยนำร่องขอความร่วมมือประชาชนแยกขยะออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ “ขยะเศษอาหาร” และ “ขยะทั่วไป” พร้อมทั้งบรรจุขยะทั้ง 2 ประเภทในถุงขยะที่แตกต่างกันเพื่อให้เห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น และได้พัฒนารถขยะแบบใหม่ “รถขยะไม่เทรวม” โดยมีการติดตั้งส่วนเพิ่มเติมในการจัดเก็บขยะเศษอาหารที่รถขยะอัดท้ายขนาด 5 ตัน รวมทั้งรถขยะเปิดข้าง สำหรับจัดเก็บขยะเศษอาหารเท่านั้น การดำเนินการแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 กันยายน-ตุลาคม 2565 นำร่องเขตละ 3 เส้นทาง ระยะที่ 2 พฤศจิกายน-ธันวาคม 2565 ขยายเป็นจัดเก็บทุกเส้นทางในระดับแขวง ระยะที่ 3 มกราคม-มีนาคม 2566 ขยายผลครอบคลุมทุกพื้นที่เขต โดยกำหนดกิจกรรมจัดการขยะครบวงจร 3 กิจกรรม ได้แก่ 1.เก็บขยะแยกประเภท 2 ประเภท “เศษอาหาร” และ “ขยะทั่วไป” 2.ส่งเสริมการลดและคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิดตามหลัก Zero Waste 3.ตั้งจุดทิ้งขยะแยกประเภท (drop-off point) เป้าหมายในปี 2566 เขตที่เหลือ 47 เขต จัดเก็บขยะแยกประเภท เศษอาหารและขยะทั่วไป เขตละ 3 เส้นทางระดับแขวง และขยายให้ครอบคลุมทุกเส้นทางของ 50 สำนักงานเขตภายในปี 2569
สำหรับการประชุมคณะกรรมการฯ วันนี้มี นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายอาฤทธิ์ ศรีทอง รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและข้าราชการสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา NGO ร่วมประชุม
—– (จิรัฐคม…สปส. รายงาน)