(1 ก.พ. 67) ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2/2567 ว่า ก่อนการประชุมวันนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มีข้อสั่งการในเบื้องต้นอยู่ 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องที่ 1 การดำเนินการต่อเนื่องจากเหตุการณ์ในโรงเรียน โดยได้มีข้อสั่งการให้ผู้อำนวยการเขตดำเนินการสแกนปัญหาในพื้นที่ภายในและโดยรอบโรงเรียน ทั้ง 437 แห่ง เพื่อให้สามารถรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นและดำเนินการป้องกันหรือแก้ไขได้อย่างทันท่วงที และเรื่องที่ 2 การพัฒนาศักยภาพในเส้นเลือดฝอย ซึ่งปีที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและทำได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาดท่อระบายน้ำ การปรับปรุงไฟฟ้าแสงสว่าง ปีนี้ได้มีข้อสั่งการให้เร่งรัดการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไป
สำหรับวาระการประชุมในวันนี้ เรื่องแรกเป็นเรื่องรายงานเหตุทำร้ายร่างกายและมาตรการความปลอดภัยในสถานศึกษา ซึ่งภายหลังเกิดเหตุการณ์ทางโรงเรียนได้ประกาศหยุดเรียนเป็นเวลา 3 วัน (30 ม.ค. – 1 ก.พ. 67) และได้มีการส่งทีมแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ นักจิตวิทยา เข้าประเมินสภาพจิตใจผู้อยู่ในเหตุการณ์ จำนวน 59 คน (นักเรียน 50 คน ครู 9 คน) มีการจัดงานบำเพ็ญกุศล และมีการสั่งเพิ่มมาตรการความปลอดภัย เช่น ตรวจกระเป๋าก่อนเข้าสถานศึกษา
กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในโรงเรียน จึงกำหนด 9 มาตรการหลัก ดังนี้ 1. กำหนดให้เรื่องความปลอดภัยในโรงเรียนเป็นนโยบายสำคัญของโรงเรียน 2. ดำเนินการเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียนร่วมกับชุมชนและผู้ปกครอง 3. กำหนดแผนและขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในโรงเรียนอย่างเป็นระบบและมีคู่มือปฏิบัติสำหรับบุคลากรเพื่อความปลอดภัย 4. จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยในโรงเรียน โดยมีตัวแทนครูและผู้ปกครองร่วมกันตรวจสอบปีละ 4 ครั้ง 5. จัดให้มีระบบการดูแลคุ้มครองเด็กที่ดี กำหนดให้มีโครงการป้องกันยาเสพติด และพฤติกรรมข่มขู่ รังแกนักเรียน 6. จัดให้มีระบบความปลอดภัยด้านอาคารและสถานที่โดยรอบของโรงเรียน 7. กำหนดการเดินทางไป-กลับโรงเรียนอย่างถูกวิธี มีความปลอดภัยจากการจราจร 8. มีการบันทึกข้อมูลอุบัติภัยในโรงเรียนอย่างเป็นระบบ และ 9. จัดให้มีหลักสูตร “จิตสำนึกความปลอดภัย”
โดยมาตรการความปลอดภัยในโรงเรียนจะครอบคลุมในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ การเฝ้าระวังอัคคีภัย การซ้อมอพยพหนีไฟ การป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ การป้องกันอุบัติเหตุ การป้องกันการลืมเด็กไว้ในรถโรงเรียน และการดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้น
● มุ่งทำเส้นเลือดฝอยแข็งแรง พัฒนาทางเท้าต้นแบบในทุกเขตเพื่อทุกคน
โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า อีกเรื่องหนึ่งคือการพัฒนาทางเท้าต้นแบบ ซึ่งกรุงเทพมหานครมีนโยบายเดินทางดีเป็นหนึ่งในนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาทางเท้าในระดับเส้นเลือดฝอย เพื่อให้การเดินทางตั้งแต่ออกจากบ้านถึงระบบขนส่งมวลชนหลักได้รับการปรับปรุง ภายใต้หลักเกณฑ์การพัฒนา อาทิ ไม่มีสิ่งกีดขวาง นำสิ่งกีดขวาง Street Furniture ออก ทางเท้ามีความราบเรียบ สว่าง ปลอดภัย มีกล้อง CCTV เป็นทางเท้าสำหรับทุกคน (Footpaths for All) มีความแข็งแรง ยั่งยืน สะอาด การค้าขายไม่กีดขวาง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยที่ประชุมได้เน้นย้ำให้ทุกเขตเอาจริงเอาจังในการกำกับดูแลผู้รับเหมา กวดขันเข้มงวดในเรื่องการคืนพื้นที่ให้ประชาชนมีความสะดวกและปลอดภัยในการสัญจร สำหรับแผนการพัฒนาทางเท้าต้นแบบเขตละ 1 เส้นทาง ปัจจุบันแจ้งแผนแล้ว 48 เขต (อีก 2 เขต ไม่มีทางเท้าที่จะต้องซ่อมแซม) รวม 58 เส้นทาง 56 กิโลเมตร
“การพัฒนาทางเท้าต้นแบบ หากทำสำเร็จตามเป้าหมายก็จะเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นว่าเรามุ่งเน้นในการทำเส้นเลือดฝอยให้แข็งแรง และมีความเป็น Bangkok for All” โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าว
—————————