(20 ธ.ค.65) เวลา 13.00 น. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธานการประชุมชี้แจงโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ระบบส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม ครั้งที่ 1/2565 โดยมีผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคม ผู้บริหารเขตนำร่อง 10 เขต ผู้แทนมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ประเทศไทย (Scholars of Sustenance Thailand: SOS Thailand) ผู้แทนมูลนิธิวีวี แชร์ (VV Share Foundation) และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร
ที่ประชุมได้มีมติสรุปแนวทางการดำเนินงานโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ระบบส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม ปี 2566 โดยดำเนินการร่วมกับมูลนิธิ
สโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ และมูลนิธิวีวี แชร์ ร่วมกับผู้เข้าร่วมดำเนินการนำร่อง จำนวน 10 สำนักงานเขต ประกอบด้วย เขตบางแค เขตภาษีเจริญ เขตบางกอกน้อย เขตบางขุนเทียน เขตบางพลัด เขตคลองสาน เขตพระโขนง เขตคลองเตย เขตลาดกระบัง และเขตประเวศ โดยสำนักงานเขตนำร่องดำเนินการ ดังนี้ 1. แต่งตั้งคณะทำงานดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ระบบส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม 2. ดำเนินงานตามโครงการฯ โดยมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ดำเนินงานร่วมกับ 6 สำนักงานเขต คือ เขตภาษีเจริญ เขตบางแค เขตบางกอกน้อย เขตคลองสาน เขตบางขุนเทียน และเขตบางพลัด ส่วนมูลนิธิวีวี แชร์ ดำเนินการร่วมกับ 4 สำนักงานเขต คือ เขตลาดกระบัง เขตพระโขนง เขตประเวศ และเขตคลองเตย
สำหรับมูลนิธิวีวี แชร์ (VV Share) ดำเนินการ ดังนี้ 1. ทำการเปิดบัญชีให้กับเจ้าหน้าที่ของกทม.จาก 4 เขต เพื่อเข้าทำรายการผ่าน VV Share Application พร้อมทำการสอนวิธีการใช้งานอย่างละเอียด 2. ในทุกวันทำงานจะมีการประสานงานระหว่างผู้บริจาค มูลนิธิวีวี แชร์ และกทม. โดยเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ จะเป็นผู้สร้างรายการเข้ารับบริจาคอาหารในแต่ละวันตามสาขาที่แจ้งความประสงค์ในการบริจาค 3. เจ้าหน้าที่ของกทม.เข้ารับบริจาคอาหาร โดยต้องลงข้อมูลใน VV Share Application เมื่อถึงแต่ละสาขา พร้อมทำการถ่ายรูปและให้เจ้าหน้าที่แต่ละสาขาเซ็นใน VV Share Application เพื่อเป็นการยืนยันข้อมูลในการรับบริจาคอาหาร 4. ก่อนการนำอาหารส่งต่อกลุ่มเป้าหมาย ให้เจ้าหน้าที่กทม. ทำการชั่งน้ำหนักและลงรายละเอียดประเภทอาหาร แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ กลุ่มทานรองท้อง (kg) กลุ่มสลัดผักผลไม้ (kg) กลุ่มข้าวและพร้อมทาน (kg) และอาหารกล่อง Chef Cares (กล่อง) และใส่ข้อมูลทั้งหมดลงใน VV Share Application โดยมีขั้นตอนสุดท้ายคือการลงชื่อปิดงานของเจ้าหน้าที่กทม. 5. การรายงานปริมาณอาหารที่เข้ารับบริจาค เจ้าหน้าที่ของกทม.สามารถเข้าดูรายงานได้แบบ real-time โดยใช้อีเมล์เพื่อให้มูลนิธิฯ เพิ่มสิทธิในการเข้าดูรายงานได้ หรือจะให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิทำการส่งรายการผ่านทางอีเมลก็ได้เช่นกัน
ในส่วนของมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) ดำเนินการ ดังนี้ 1. มูลนิธิ SOS รับข้อมูลผู้บริจาคที่ลงทะเบียนผ่าน Cloud Food Bank และบันทึกไว้ใน Google Sheet กลาง เพื่อให้ทางสำนักพัฒนาสังคม สื่อสารแผนการทำงานและรับอาหารจุดต่าง ๆ ให้กับสำนักงานเขตนำร่อง จำนวน 10 เขต โดยระบุข้อมูล เช่น ชื่อผู้บริจาค ที่อยู่ เบอร์ติดต่อ ประเภทอาหาร ปริมาณอาหาร เป็นต้น 2. สำนักพัฒนาสังคม ส่งข้อมูลต่อให้แต่ละเขตเพื่อสร้างแผนงานในแต่ละวัน (ปฏิบัติงานทุกวัน อังคาร พุธ พฤหัสบดี) โดยเจ้าหน้าที่เขตที่ได้รับมอบหมายจะต้องวางแผนการดำเนินงานและเข้ารับตามแผนที่กำหนดไว้ 3. ณ จุดรับอาหารส่วนเกิน เจ้าหน้าที่เขตที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานรับอาหารตามจุดรับอาหาร จะต้องบันทึกน้ำหนักลงใน Google Form ที่ทางมูลนิธิ SOS ได้จัดทำไว้ให้ โดยจะต้องบันทึกรายละเอียดทั้งหมด คือ บันทึก 1 ครั้ง ต่อ 1 ผู้บริจาค และ 1 ประเภทอาหาร เมื่อส่งมอบผู้รับบริจาคแล้ว จะต้องบันทึกให้แล้วเสร็จในทุก ๆ วันของการทำงาน ซึ่งทางสำนักงานเขตสามารถจดบันทึกข้อมูลอาหารส่วนเกินที่ได้รับไว้ในกระดาษหรือฟอร์มใด ๆ ก่อนได้ ก่อนจะบันทึกน้ำหนักลง Google Form 4. ทางมูลนิธิ SOS จะนำข้อมูลจาก Google Form ไปจัดระเบียบ ประมวลผล ให้ถูกต้องและสามารถใช้งานต่อได้ 5. ทางมูลนิธิ SOS จะส่งข้อมูลสรุปรวมการทำงานของ BKK Food Bank ใน 6 เขตนำร่องให้กับสำนักพัฒนาสังคมทุกสิ้นเดือน เพื่อรายงานผู้บริหารกรุงเทพมหานครทราบต่อไป
นอกจากนี้ ได้กำหนดวันลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ระบบส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรมในวันศุกร์ที่ 23 ธ.ค. 65 เวลา 09.00 -10.00 น. ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) จากนั้นฝึกอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ระบบส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม โดยมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ประเทศไทย และมูลนิธิวีวี แชร์ เป็นผู้อบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ที่ได้รับมอบหมาย เขตละ 3 คน รวม 30 คน อีกด้วย
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank (ระบบส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม) เป็น 1 ในนโยบาย 216 แผนปฏิบัติการ มิติด้านสิ่งแวดล้อมดีและบริหารจัดการดี ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้วยการพัฒนาสร้างกลไกส่งต่อความช่วยเหลือ สู่กลุ่มเปราะบางหรือผู้ที่ต้องการอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นการสร้างความมั่งคงทางอาหาร (Food security) ให้แก่ประชาชนในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง โดยมีการบูรณาการการทำงาน
ร่วมกันหลายภาคส่วน อาทิ สำนักงานเขตเจ้าของพื้นที่ ผู้ประกอบการที่บริจาคอาหารส่วนเกิน องค์กรเอกชนที่ทำงานด้านการส่งต่ออาหารส่วนเกินให้กับกลุ่มเปราะบางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่เป็นภาคีเครือข่ายทำงานกับกรุงเทพมหานครในโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank (ระบบส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม) เช่น มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ประเทศไทย (Scholars of Sustenance Thailand: SOS Thailand) และมูลนิธิวีวี แชร์ (VV Share Foundation)
#สิ่งแวดล้อมดี #บริหารจัดการดี
——————