(26 ม.ค.67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตคลองเตย ประกอบด้วย
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างอาคารชุดแอสปายสุขุมวิท-พระราม 4 ถนนพระรามที่ 4 ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ความสูง 38 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งผู้ประกอบได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อาทิ จัดทำรั้วโดยรอบในระดับความสูงไม่น้อยกว่า 6 เมตร ติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำบริเวณทางเข้า-ออกโครงการและพื้นที่โดยรอบ จัดทำบ่อล้างทำความสะอาดล้อรถยนต์ รถบรรทุก รถโม่ปูนที่ผ่านเข้า-ออกโครงการ ล้างทำความสะอาดพื้นอย่างสม่ำเสมอ ติดตั้งเครื่องวัดฝุ่น PM2.5 มีจอแสดงผลด้านหน้าโครงการ ตรวจวัดค่าควันดำรถยนต์และรถบรรทุกตามระยะที่กำหนดเป็นประจำ นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 2 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 2 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 5 แห่ง ประเภทอู่รถเมล์ 1 แห่ง ประเภทจุดถมดินท่าทราย 1 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการ พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงแรม แบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนสปาร์ค พื้นที่ 8 ไร่ พนักงาน 999 คน ผู้ใช้บริการ 1,500 คน/วัน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ภาชนะบรรจุขวดน้ำซึ่งเป็นขวดแก้วจะถูกเก็บและรับกลับโดยบริษัทผู้ผลิต เพื่อนำไปรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ทั้งหมด ขยะพลาสติก กล่องกระดาษ กระดาษลัง โลหะประเภทต่างๆ จะถูกคัดแยกเพื่อไปรีไซเคิลตามประเภท 2.ขยะอินทรีย์ ขยะจากอาหารส่วนเกินและอาหารที่เหลือในจานของผู้มาใช้บริการห้องอาหาร จะถูกนำไปรวมเพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์ อาหารส่วนเกินประจำวันจากการเตรียมวัตถุดิบในการประกอบอาหารหรือการเตรียมของสดจากในครัวที่ได้เตรียมไว้ แต่ยังไม่นำปรุงเพื่อเสิร์ฟสำหรับมื้อบุฟเฟ่ต์ และอาหารส่วนเกินที่เกิดจากเมนูอาหารในส่วนบุฟเฟ่ต์ที่ยังสดสะอาดคุณภาพดี จะนำไปบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการเพื่อนำไปประกอบเป็นเมนูอาหารใหม่ในมื้อต่อไป หรือบริจาคให้กับมูลนิธิ SOS ส่วนเศษอาหารที่ปนเปื้อน เขตฯ จะเข้ามารับและขนถ่ายทุกวัน น้ำมันจากการประกอบอาหารจะมีบริษัทเข้ารับเพื่อผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลต่อไป 3.ขยะอันตราย มีถังขยะเพื่อแยกทิ้งต่างหาก และจะเก็บรวบรวมเพื่อให้เขตฯ เข้ามารับเพื่อจัดการต่อไป 4.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไปที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก นำไปรวมทิ้งที่ห้องเก็บขยะของโรงแรม ซึ่งเขตฯ เข้ามารับและขนถ่ายทุกวัน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 260 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 2,300 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 20 กิโลกรัม/วัน ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 5,080 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 2,500 กิโลกรัม/วัน
ตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณถนนดวงพิทักษ์ (แยกทางรถไฟเพลินจิต) เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 7 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 188 ราย ดังนี้ 1.ถนนดวงพิทักษ์ ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-18.00 น. 2.ซอยสุขุมวิท 16 ผู้ค้า 21 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 3.แยกกล้วยน้ำไท ถนนพระราม 4 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. 4.ซอยสุขุมวิท 50 ผู้ค้า 5 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 5.ปากซอยสุขุมวิท 4 ผู้ค้า 29 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-03.00 น. ของวันรุ่งขึ้น 6.ปากซอยอรรถกวี (ฝั่งขวา เอสโซ่) ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-11.00 น. และ 7.ตลาดริมคลองหัวลำโพง (ตลาดลาว) ถนนพระราม 4 ผู้ค้า 92 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 03.00-24.00 น. ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 47 ราย ดังนี้ 1.หน้าธนาคารกสิกรไทย สาขาคลองเตย ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-20.00 น. 2.หน้าองค์การโทรศัพท์ ถนนพระราม 4 ผู้ค้า 5 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-22.00 น. 3.ซอยไผ่สิงโต ถนนพระราม 4 ผู้ค้า 6 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-24.00 น. 4.ปากซอยอรรถกวี (ฝั่ง BMW) ถนนพระราม 4 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-11.00 น. และ 5.ปากซอยแสนสุข ถนนพระราม 4 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ หน้าทางเข้าห้างโลตัส ถนนพระราม 4 ผู้ค้า 5 ราย หน้าองค์การโทรศัพท์ ผู้ค้า 5 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้
พูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าให้เห็นถึงความสำคัญในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า การใช้พื้นที่ทางเท้าร่วมกันกับประชาชนทั่วไป โดยให้เว้นช่องว่างไว้เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถเดินผ่านได้โดยสะดวก พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้มีการตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน พิจารณาหาแนวทางยกเลิกจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดเตรียมไว้รองรับ หรือจุดที่เขตฯ จัดทำเป็น Hawker Center เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ที่สำคัญผู้ค้าและประชาชนสามารถได้ใช้พื้นที่ทางเท้าร่วมกันได้อย่างปลอดภัย
สำรวจสวน 15 นาที บริเวณสวนหย่อมหน้าสถานีรถไฟฟ้า MRT ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 3 สวน ได้แก่ 1.สวนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า พื้นที่ 9 ไร่ 2.สวนหย่อมป๋าเปรม พื้นที่ 50 ตารางวา 3.สวนหย่อมอาจณรงค์ภิรมย์ พื้นที่ 1 ไร่ สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 3 สวน ได้แก่ 1.สวนหย่อมหน้าสถานีรถไฟฟ้า MRT ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พื้นที่ 300 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พัฒนาพื้นที่ปลูกต้นไม้ จัดทำทางเดินแล้วเสร็จ 2.สวนไทรเฉลิมพระเกียรติสุขุมวิท 50 พื้นที่ 13 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างดำเนินการ 3.สวน 80 พรรษามหาราชินี (ใต้ทางด่วนซอยสุขุมวิท 48/1) พื้นที่ 5 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ดำเนินการร่วมกันระหว่างการทางพิเศษฯ และเขตคลองเตย
ในการนี้มี นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตคลองเตย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส./ณิชนันทน์…นศ.ฝึกงาน รายงาน)