(25 ม.ค.67) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการของเจ้าพนักงานสาธารณสุข ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุม ชั้น 19 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
โดยประธานได้แจ้งที่ประชุมเรื่องสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่าขอให้เพิ่มความเข้มงวดในมาตรการ เช่น แนวทางการกำกับควบคุมพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีผลกระทบต่อสุขภาพในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และขอให้ดำเนินการอย่างจริงจัง หาแนวทางกำกับให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามแนวทางและข้อปฏิบัติที่กำหนด ดังนั้นจึงต้องเร่งมาตรการให้เข้มงวดขึ้น ต้องบูรณาการแผนการทำงานช่วงสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ให้มีกลไกการทำงานที่เป็นระบบ รวมถึงต้องมีการ Monitoring & Evaluation (M&E) เพื่อการติดตามและประเมินผลลัพธ์ของการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณา 2 เรื่อง ได้แก่ 1. แนวทางการพิจารณาอนุญาตการประกอบกิจการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านของผู้รับบริการ กรุงเทพมหานครกำหนดให้การให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านของผู้รับบริการเป็นกิจการที่ต้องควบคุม โดยผู้ประสงค์จะประกอบกิจการในลักษณะที่เป็นการค้าให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2561 การให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านของผู้รับบริการ จะต้องมีลักษณะของการประกอบกิจการ คือ ผู้ดำเนินกิจการจะต้องมีการจัดหาพนักงานแล้วจัดส่งพนักงานไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้านของผู้รับบริการ ทั้งนี้ไม่รวมถึงการจัดอาคารสถานที่ไว้สำหรับให้บริการดูแลผู้สูงอายุ เช่น บ้านพักคนชรา ศูนย์รับดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น โดยแนวทางการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการ จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับอาคาร/สถานที่ตั้งของสถานประกอบการ การตรวจสอบคุณสมบัติผู้ดำเนินกิจการและผู้ให้บริการ จึงขอให้สำนักงานเขตดำเนินการสำรวจสถานประกอบกิจการ และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบกิจการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพื่อเป็นการกำกับดูแลสถานประกอบกิจการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขต่อไป ทั้งนี้ที่ประชุมพิจารณาให้ดำเนินการตามที่เสนอและลงรายละเอียดให้เหมาะกับการทำสถานชีวาภิบาลในชุมชนด้วย
2. แนวทางการควบคุมสุขลักษณะของเตาเผาศพให้ได้มาตรฐาน สำนักอนามัยร่วมกับสำนักงานเขตดำเนินการตรวจสอบฌาปนสถานทุกแห่งเป็นประจำทุกปี เพื่อควบคุมกำกับให้ฌาปนสถานมีค่ามลพิษอากาศเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ทั้งนี้จากผลการตรวจวัด ปี 65-66 ปรากฏว่ามีฌาปนสถานมีค่ามลพิษไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 9 แห่ง ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้เร่งรัดปรับปรุงฌาปนสถานที่ไม่ผ่านมาตรฐานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้สำนักงานเขตเพิ่มความถี่ในการตรวจวัดมลพิษอากาศจากปีละ 1 ครั้ง เป็นปีละ 2 ครั้ง
นอกจากนี้ที่ประชุมได้รายงาน ผลการดำเนินงานการกำกับดูแลตู้น้ำหยอดเหรียญ โดยในขณะนี้ได้ดำเนินการจัดทำแผนที่ตั้งสถานประกอบการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเรียบร้อยแล้ว โดยในแผนที่จะแสดงที่ตั้ง ชื่อบริษัทตู้น้ำดื่ม ใบอนุญาต ผลการตรวจด้านสุขลักษณะ ผลการตรวจด้านคุณภาพน้ำ (อ.11) และวันที่เข้าตรวจล่าสุด และรายงานการตรวจสอบคุณภาพอากาศเชิงรุกในโรงงาน ในปี 2565-2566 ที่ผ่านมา สถานภาพสถานประกอบการจากจำนวนทั้งหมด 1,407 แห่ง เปิดดำเนินการ 1,298 แห่ง หยุดประกอบการ 109 แห่ง จากผลการตรวจประเมินทั้ง 1,298 แห่ง ผ่านเกณฑ์ 1,278 แห่ง ไม่ผ่านเกณฑ์ 20 แห่ง (ได้ปรับปรุงแก้ไขเรียบร้อยแล้ว) ทั้งนี้ในปี 67 สำนักงานเขตได้ตรวจติดตามสถานประกอบการเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์อย่างต่อเนื่องโดยมีเป้าหมายจำนวน 1,121 แห่ง จากนั้นรายงานการตรวจประเมินสุขลักษณะหรือขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในสถานประกอบการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ผลสำรวจกิจการที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง จำนวน 233 กิจการ จำนวนสุนัข 1,039 ตัว ฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า 831 ตัว ทำหมัน 118 ตัว ฝังไมโครชิป 77 ตัว แมว 937 ตัว ฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า 848 ตัว ทำหมัน 337 ตัว ฝังไมโครชิป 2 ตัว การจัดระเบียบสัตว์จรด้วยการควบคุมจำนวนแมวจรจัดในชุมชนด้วยการผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า จะช่วยควบคุมการเพิ่มจำนวน และปัญหาด้านสาธารณสุขอื่นๆ ได้ โดยสำนักอนามัยได้จัดซื้อกรงสำหรับดักจับแมว กรงกักขังและขนส่ง และกรงคอนโดพักคอย เพื่อใช้ในการจับแมวจรจัดในชุมชนทำหมัน โดยนำร่องใน 7 เขต ได้แก่ ดอนเมือง ลาดกระบัง บางกอกน้อย ทวีวัฒนา บางรัก วังทองหลาง และบางแค
ด้านผลการดำเนินงานตามนโยบายขยายเวลาเปิดสถานบริการถึงเวลา 04.00 น. มีสถานบริการที่ได้รับอนุญาตให้เปิดถึงเวลา 04.00 น. จำนวน 149 แห่ง ในพื้นที่ 30 เขต เปิดบริการ 146 แห่ง ปิดปรับปรุง 3 แห่ง ซึ่งผลการตรวจสถานบันเทิงตั้งแต่ 15 ธ.ค.66 – 22 ม.ค.67 ไม่พบการกระทำความผิด
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รายงานแผนการดำเนินโครงการ “กรุงเทพฯ เมืองแห่งสุขาภิบาล สิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัยที่ดี สะอาด ปลอดภัย” ปี 2567 การตรวจประเมินสุขลักษณะสถานประกอบการ/อาคารสาธารณะการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในสายวิชาชีพอนามัยสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมความรู้ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมแก่ผู้ประกอบการแผนการดำเนินโครงการ “ส่งเสริมจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายในสถานประกอบการและตอบโต้อุบัติภัยสารเคมี” ปี 2567 และการประเมินรับรองมาตรฐานโรงแรมที่เป็นมิตรกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (Green Health Hotel : GHH) ด้วย
——————–