เยี่ยมชมคัดแยกขยะเขตบางเขน สำรวจสวน 15 นาทีสวนหย่อมหน้าพุทธวิชชาลัย จัดระเบียบผู้ค้านอกจุดผ่อนผัน ชมต้นแบบการคัดแยกขยะตลาดถนอมมิตร ตรวจเข้ม PM2.5 หม้อไอน้ำโรงงานผลิตยา จัดทำฐานข้อมูลจัดเก็บภาษี
(19 ธ.ค.65) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เขตบางเขน เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย
เยี่ยมชมการคัดแยกขยะ ระดับเขตบริเวณศูนย์การเรียนรู้สำนึกดีกับรีไซเคิล ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ เขตบางเขน โดยมีจุดคัดแยกขยะแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ขยะอินทรีย์ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย ซึ่งขยะที่คัดแยกจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่น ขยะอินทรีย์ เปลือกผลไม้ สามารถนำไปทำน้ำหมักชีวภาพ ขยะเศษอาหาร นำไปทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ขวดพลาสติกใส ขวดน้ำดื่ม รวบรวมส่งต่อเพื่อทำชุด PPE ทางการแพทย์ หรือทำชุดเรืองแสงของพนักงานกวาด
สำรวจสวน 15 นาที บริเวณสวนหย่อมหน้าพุทธวิชชาลัย วงเวียนบางเขน ถนนพหลโยธิน เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน ซึ่งเป็นพื้นที่ของกรมทางหลวง โดยเขตฯ ขอใช้พื้นที่เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์โดยปลูกต้นต้นลีลาวดี ต้นเฟื่องฟ้า ต้นพุดศุภโชค ปูหญ้านวลน้อย ปัจจุบันได้ทำบันทึกข้อตกลงรวมกันในการใช้พื้นที่ (MOU) ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาลงนาม โดยขณะนี้ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครปรับพื้นที่น้ำพุเดิมที่มีอยู่แล้ว ตัดแต่งต้นไม้ วัชพืชต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณบ่อบัวได้มีการจัดเก็บและล้างทำความสะอาดบ่อบัว ฉีดล้างขอบบ่อ เพื่อเตรียมแผนดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ปลูกต้นเฟื่องฟ้า จำนวน 500 ต้น บริเวณริมถนนพหลโยธิน (ขอบบ่อ) ดำเนินการพัฒนาทาสีขอบบ่อ พร้อมจะนำบัวแดง (บัวสี) มาปลูกทดแทน โดยจะพัฒนาบริเวณดังกล่าวเป็นจุดเช็คอินต้อนรับปีใหม่ 2566 และใช้จัดกิจกรรมดนตรีในสวนต่อไป
ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน เดิมเขตฯ มีจุดผ่อนผันจำนวน 21 จุด ซึ่งได้ยกเลิกทั้งหมดตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะลงวันที่ 28 มกราคม 2563 พื้นที่เขตฯ มีผู้ค้าหาบเร่ ที่ยังคงทำการค้าในพื้นที่ที่เคยเป็นจุดผ่อนผัน ดังนี้ 1.ถนนเทพรักษ์ ผู้ค้า 11 ราย 2.ซอยรามอินทรา 21 ผู้ค้า 10 ราย 3.ปากซอยรามอินทรา 13 ผู้ค้า 4 ราย 4.ซอยรามอินทรา 14 แยก 3 ถึงแยก 5 ผู้ค้า 30 ราย 5.ซอยรามอินทรา 34 ผู้ค้า 15 ราย 6.ซอยคู้บอน 27 ผู้ค้า 20 ราย และ7.ถนนสุขาภิบาล 5 ผู้ค้า 10 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กำชับผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของเกินแนวเส้นที่กำหนดไว้ รวมถึงพิจารณาจัดหาพื้นที่ให้ผู้ค้านอกจุดผ่อนผันทั้ง 7 จุด เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ตลาดถนอมมิตร เป็นตลาดสดที่มีสินค้าหลากหลายครอบคลุมความต้องการของลูกค้าทุกประเภท การคัดแยกขยะของตลาดถนอมมิตร ได้ดำเนินการคัดแยกขยะอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคัดแยกขยะเศษผัก เศษปลา เศษกุ้ง จะนำใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ให้ มีเจ้าหน้าที่ของตลาดมาดำเนินการเก็บไปทำปุ๋ยหมัก มีการใช้บ่อดักไขมันทุกร้านอาหาร ส่วนขยะรีไซเคิล ผู้ค้าจะนำขยะมาวางไว้ที่จุดคัดแยกของตลาด เงินที่ได้จะสวัสดิการให้แม่บ้าน สำหรับปริมาณขยะก่อนเริ่มโครงการ 1,000 กก./วัน หลังดำเนินโครงการลดเหลือ 700 กก./วัน เขตฯ จัดเก็บวันละ 1 ครั้ง เป็นถัง 8 ลบ.ม. จำนวน 2 ใบ ส่วนกิจกรรมการคัดแยกขยะ การคัดแยกเศษอาหาร เช่น ผัก ผลไม้ เศษปลา เปลือกกุ้ง มาทำปุ๋ยหมัก และทำน้ำหมักชีวภาพ เพื่อใช้ภายในตลาด และผู้ค้าในตลาดที่เข้าร่วมกิจกรรม และจำหน่ายให้กับผู้สนใจ การบำบัดน้ำเสีย โดยใช้กังหันพลังงานแสงอาทิตย์ การขายน้ำพืชที่ใช้แล้ว โดยผู้ค้าจะมีร้านรับมาซื้อประจำ (อาทิตย์ละ 1 ครั้ง) การจัดให้มีถังดักไขมัน กับร้านอาหารทุกร้านค้า การลดการใช้โฟม จะมีโปรโมชั่นการนำภาชนะมาใส่อาหาร จะได้รับส่วนลด โครงการรักชุมชน เป็นโครงการที่จัดขึ้นของตลาด เพื่อให้ผู้ค้าในตลาดเข้าร่วมกิจกรรมคัดแยกขยะ โดยจะจัดกิจกรรมเดือนละ 1 ครั้ง ในส่วนของรางวัลที่ได้รับ ได้แก่ รางวัลตลาดสดน่าซื้อ น่าซื้อ ระดับ 5 ดาว จากกรมอนามัย ปี 2553 รางวัล ตลาดระดับเพชร จากกรุงเทพมหานคร ปี 2554 รางวัล ตลาดระดับเพชร จากกรุงเทพมหานคร ปี 2555 โครงการกรุงเทพฯ สะอาดร่มรื่น Bangkok Clean and Green รางวัลอันดับ 1 ประเภทตลาดสะอาด ร่มรื่น ปี 2555
ติดตามมาตรการป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 บริษัท ยูเมด้า จํากัด ซอยรามอินทรา 34 แยก 12 ประกอบกิจการประเภท ผลิตยาเวชภัณฑ์ ประเภทกิจการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boilers) ซึ่งเป็นมาตรการที่ช่วยลดการสร้างมลพิษในอากาศ นอกจากนี้ เขตฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยกำชับให้สถานประกอบการในพื้นที่ปฏิบัติตามแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างเคร่งครัด เน้นย้ำผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดมลพิษทางอากาศ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. (ชนิดดาดท้องคลอง) และสถานีสูบน้ำคลองไผ่เขียวแยกคลองสามขา บริเวณหลังวัดไตรรัตนาราม ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กำชับผู้รับจ้างให้เร่งดำเนินการก่อสร้างในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิการระบายน้ำ และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณโซนรามอินทราในระยะยาวต่อไป
ลงพื้นที่ชุมชนรุ่งสว่างวิลเลจ เพื่อตรวจสอบแนวทางการดำเนินการสำรวจข้อมูลที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของฝ่ายรายได้ เขตบางเขน ตามพรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 เพื่อจัดทำฐานข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องตามประเภทการใช้ประโยชน์ เนื่องจากชุมชนรุ่งสว่างวิลเลจมีความหลากหลายของข้อมูลที่ต้องการสำรวจ ซึ่งชุมชนรุ่งสว่างวิลเลจมีบ้านเรือนประชาชนจำนวน 306 หลัง เนื้อที่ 44 ไร่ ประกอบด้วย บ้านจัดสรร บ้านเดี่ยว ทาวเฮ้าส์ บ้านแฝด อพาร์ตเมนท์ ทำการค้า โดยเขตฯ จะใช้วิธีการนำภาพถ่ายทางอากาศ มาประกบกับข้อมูลเลขบ้าน และโฉนดของผังเมือง เพื่อทำแผนที่และตรวจสอบความถูกต้องกับผังของชุมชน พิสูจน์ความเป็นเจ้าบ้านในทะเบียนบ้าน จากฐานข้อมูลของฝ่ายทะเบียน เพื่อดำเนินการจัดเก็บภาษีต่อไป
ในการลงพื้นที่วันนี้มี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางเขน สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี #บริหารจัดการดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)