(19 ธ.ค.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับนายจุน คุโรตะ (Mr. Jun KURODA) ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ณ กรุงเทพฯ (เจโทร กรุงเทพฯ) นายมาซาโตะ โอเซกิ (Mr. Masato OZEK) ผู้อำนวยการสำนักงานจังหวัดไอจิประจำเจโทร กรุงเทพฯ และนายพสิษฐ์ อังศุไพฑูรย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานจังหวัดไอจิประจำเจโทร กรุงเทพฯ เข้าเยี่ยมคารวะ ณ ห้องอมรพิมาน ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร
ในการนี้ เจโทร กรุงเทพฯ ได้แนะนำถึงโครงการที่เจโทร กรุงเทพฯ ดำเนินการอยู่ พร้อมพูดคุยถึงความรู้ด้านเทคโนโลยีจากเจโทร กรุงเทพฯ เพื่อความร่วมมือต่าง ๆ กับกทม.ในอนาคต อาทิ การจราจรและการขนส่ง การจัดการมลพิษ การบริหารจัดการน้ำ การจัดการขยะ นอกจากนี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สอบถามถึงความต้องการของชุมชนชาวญี่ปุ่นในกรุงเทพมหานครผ่านหน่วยงานที่สำคัญของญี่ปุ่น เช่น หอการค้าญี่ปุ่นในประเทศไทย เพื่อให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ชาวญี่ปุ่นในกรุงเทพมหานครในการดำเนินชีวิตและธุรกิจในอนาคตต่อไป
ทั้งนี้ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อว่า “เจโทร” กรุงเทพฯ ก่อตั้งขึ้นในปี 2502 มีบทบาทที่โดดเด่นในการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น เจโทร กรุงเทพฯ มีส่วนผลักดันเพิ่มการนำเข้าของสินค้าไทยสู่ตลาดญี่ปุ่นและเผยแพร่บรรยากาศที่ดีของการลงทุนในประเทศไทย นอกจากนี้ เจโทร กรุงเทพฯ ยังเป็นสาขาหลักสาขาหนึ่งของสำนักงานต่างประเทศของเจโทรที่มีอยู่ทั้งหมด 80 แห่งทั่วโลก และเป็นศูนย์กลางประสานงานของสำนักงานเจโทรในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย
ในเดือนกรกฎาคม 2541 เจโทรได้รวมตัวกับสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจของญี่ปุ่น (institute-of Developing Economies: IDE) อย่างเป็นทางการ ดังนั้น สถาบันพัฒนาเศรษฐกิจ กรุงเทพฯ ซึ่งเดิมตั้งอยู่ที่อาคารสาธรธานี ได้ย้ายมาเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานเจโทร กรุงเทพฯ ถนนราชดำริ หลังจากการรวมตัวกันนอกจากภาระหน้าที่ในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนแล้ว เจโทรยังมีบทบาทเพิ่มในการทำวิจัยด้านเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยรวบรวมข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถขององค์กร การผนวกกันของการทำวิจัยแนวโน้มของเศรษฐกิจของโลกของเจโทรและการวิจัยทางวิซาการพื้นฐานของประเทศกำลังพัฒนาของสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจ จะเสริมความแข็งแกร่งขององค์กรในการให้บริการข้อมูลประเภทต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะในสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจของเอเชียในปัจจุบัน
—————-