
“กรุงเทพมหานครและกระทรวงสาธารณสุขได้มีการทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการพึ่งพากระทรวงสาธารณสุขในแง่ของสถาบันที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตมาโดยตลอดทั้งในระดับผู้ใหญ่และระดับเด็ก เนื่องจากกรุงเทพมหานครไม่ได้มีความสามารถหรือศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยในเคสที่มีความรุนแรงมากหรือมีความซับซ้อนสูง ด้วยเหตุนี้จึงต้องจัดการทำให้ระบบของเรา เมื่อเกิดปัญหาขึ้น คุณครูของเราจะต้องสามารถมีที่ปรึกษาได้ทั้งในเบื้องต้นและในเคสซับซ้อน ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครและกรมสุขภาพจิตได้มีความร่วมมือกันในเชิงรับเกี่ยวกับสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นอยู่แล้ว แต่ในครั้งนี้เป็นการทำงานในเชิงรุกร่วมกันเพื่อทำให้ระบบส่งต่อกันมีความง่ายและสะดวกมากขึ้น มีการปฏิเสธต่อกันน้อยลง มีการ Early Detection (คัดกรองวินิจฉัยผู้ป่วยในระยะเริ่มต้น) คือเจอน้อง ๆ ที่มีปัญหาได้ไว และสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับน้อง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งในชุมชน ที่บ้าน และที่โรงเรียน เพื่อให้น้อง ๆ เติบโตขึ้นอย่างที่สมควรจะเป็น เติบโตขึ้นอย่างที่เขาอยากเป็น และเติบโตขึ้นอย่างมีความสุขกับชีวิต” รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม Kick off การจัดระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่น กรุงเทพมหานคร วันนี้ (23 ม.ค. 67) ณ ห้องประชุมเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ ชั้น 20 โรงพยาบาลกลาง เขตป้องปราบศัตรูพ่าย
ในการนี้ พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ นพ.จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย กรมสุขภาพจิต สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร ตลอดจนผู้เข้าร่วมกิจกรรม อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรทางการศึกษา อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธีเปิด
นพ.จุมภฎ กล่าวด้วยว่า เชื่อว่ากรุงเทพมหานครมีการจัดระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่นอยู่แล้ว แต่การจัด Kick off เช่นนี้ จะช่วยให้ความสำคัญของการจัดระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่นมีความเด่นชัดขึ้น มีการพูดถึงเป็นวงกว้างมากขึ้น และทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความรู้กัน จะเห็นได้ว่าภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด คนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น มีอัตราคนเครียด ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย ฯลฯ มากขึ้นในทุกกลุ่มวัย ซึ่งรวมถึงกลุ่มเด็กและวัยรุ่นด้วย ดังนั้น การที่เราหันมาสนใจปัญหานี้ตั้งแต่เนิ่น ๆ คาดว่าจะทำให้ปัญหาเรื่องนี้บรรเทาเบาบางลง และเชื่อว่าเด็กกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มคนที่มีคุณภาพในอนาคต
“รัฐบาลอยากให้คนไทยมีการเพิ่มจำนวนประชากรให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันจึงต้องพัฒนาเด็กและวัยรุ่นที่มีอยู่แล้วให้มีคุณภาพมากขึ้นด้วย ฉะนั้น หน่วยงานในสังกัดกรมสุขภาพจิตทุกหน่วยงานมีความพร้อมที่จะเป็นแหล่งสนับสนุนและรับส่งต่อในกรณีปัญหาสุขภาพจิตที่มีความซับซ้อนเกินกว่าที่ทางหน่วยงานของกรุงเทพมหานครจะรับมือได้ โดยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีความร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในครั้งนี้และต่อ ๆ ไป” นพ.จุมภฎ กล่าว
สำหรับกิจกรรม Kick off การจัดระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่น กรุงเทพมหานคร เป็นกิจกรรมเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพโดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่น โดยความร่วมมือของกรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาด้านพัฒนาการล่าช้าในวัยเด็ก และปัญหาด้านสุขภาพจิต ภาวะเครียดซึมเศร้าในวัยรุ่น ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานครได้ดำเนินงานด้านจัดระบบบริการส่งเสริมพัฒนาการเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการและสุขภาพจิต และจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ปีงบประมาณ 2566 พบว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข จำนวน 55 แห่ง และโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร จำนวน 10 แห่ง มีระบบบริการส่งเสริมพัฒนาการเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการ โดยมีเด็กปฐมวัย (ทุกช่วงอายุ) ที่ได้รับการคัดกรองแล้วพบว่ามีพัฒนาการล่าช้า จำนวน 2,529 คน ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการ จำนวน 240 คน คิดเป็นร้อยละ 37.09 และกลับมามีพัฒนาการสมวัย จำนวน 208 คน คิดเป็นร้อยละ 86.87
ส่วนการจัดบริการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่น พบว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข จำนวน 5 แห่ง และโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ จำนวน 2 แห่ง มีการจัดบริการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่น โดยมีผู้ป่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่นเข้าถึงบริการดังนี้ 1. ผู้ป่วยโรคออทิสติก จำนวน 1,090 คน เข้าถึงบริการ 324 คน (ร้อยละ 29.72) ผู้ป่วยสมาธิสั้น จำนวน 30,490 คน เข้าถึงบริการ 3,400 คน (ร้อยละ 11.15) และผู้ป่วยสภาวะบกพร่องทางสติปัญญา จำนวน 13,639 คน เข้าถึงบริการ 1,301 คน (ร้อยละ 9.54) จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบปัญหาด้านการประชาสัมพันธ์และขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทำให้การดำเนินงานไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ระบบฐานข้อมูลไม่ครอบคลุมหน่วยบริการในพื้นที่ และผู้ปกครองไม่ให้ความสำคัญนำเด็กในปกครองเข้ารับบริการ
กรุงเทพมหานครได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาและผลกระทบดังกล่าว จึงได้จัดกิจกรรม Kick off การจัดระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่น กรุงเทพมหานคร ขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับความรู้ด้านวิชาการด้านรูปแบบระบบบริการสุขภาพประเด็นการส่งเสิรมพัฒนาการเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ กิจกรรมภายในงานเน้นการบูรณาการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียน โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นำเสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกส่วนเพื่อพัฒนาระบบการให้บริการ สร้างแนวทางร่วมกัน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของหน่วยงานได้ รวมถึงเพื่อเสริมความรู้ทางด้านวิชาการโดยเน้นการส่งเสริมพัฒนาการเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้าและสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น
ทั้งนี้ การจัดระบบบริการสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น เป็นการเพิ่มศักยภาพหน่วยบริการสาธารณสุข ให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเกิดความรู้ ความเข้าใจ พัฒนาระบบ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างเครือข่าย รวมถึงสามารถจัดระบบบริการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และจิตใจ ให้ได้รับการบริการที่เหมาะสม มีมาตรฐานเป็นแนวทางเดียวกัน สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข
ผู้สนใจสามารถติดตามรับชมบรรยากาศกิจกรรมย้อนหลังผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ “โรงพยาบาลกลาง สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร” หรือคลิก https://www.facebook.com/prbangkok/posts/pfbid0Ym833A9RJqP6UUZkDjmxiCPf7o9HNs1WbJM1paoQYnrLn5aQVct5vVVH9pVvEXJFl
—————————