(12 ม.ค.67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เขตพญาไท เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนวัดไผ่ตัน ถนนพหลโยธิน มีข้าราชการครูและบุคลากร 49 คน นักเรียน 693 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนคัดแยกขยะภายในโรงเรียน โดยนำไปจำหน่ายเพื่อเป็นสวัสดิการของโรงเรียนและการบริหารจัดการภายในโรงเรียน โดยมีบริษัทเอกชนมารับซื้อขยะรีไซเคิลที่โรงเรียน 2.ขยะอินทรีย์ ประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนคัดแยกเศษอาหารและตั้งวางถังรองรับบริเวณโรงอาหาร (ไม่เทรวม) มีเอกชนมารับขยะเศษอาหารไปเลี้ยงสัตว์ทุกวัน 3.ขยะอันตราย มีพื้นที่สำหรับจัดเก็บขยะอันตรายโดยเฉพาะอย่างมิดชิด ประสานเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 4.ขยะทั่วไป จัดตั้งวางถังรองรับขยะทั่วไปตามจุดที่กำหนด โดยมอบหมายให้ภารโรงเป็นผู้ดำเนินการชักลาก เขตฯ จัดเจ้าหน้าที่จัดเก็บทุกวัน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,298 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 484 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 264 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 550 กิโลกรัม/เดือน
สำรวจความคืบหน้าสวน 15 นาที บริเวณสวนหย่อมร่วมมิตร ในพื้นที่เขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความร่มรื่นสวยงาม จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนพญาไทภิรมย์ พื้นที่ 10 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 2.สวนอารีสัมพันธ์ พื้นที่ 9 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำสวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมร่วมมิตร พื้นที่ 3 งาน 47 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดทำทางเดินออกกำลังกาย และปลูกต้นไม้เพิ่มเติม 2.สวนอินทามระ 14 พื้นที่ 1 งาน โดยปรับปรุงภูมิทัศน์ ปลูกต้นไม้ ปูหญ้า ทำทางเดิน จัดวางชุดโต๊ะสนาม ทั้งนี้เขตฯ ได้จัดทำสวน 15 นาที ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว พื้นที่นั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจ และลานออกกำลังกายใกล้บ้าน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ภายใน 15 นาที หรือระยะทางในการเดิน 800 เมตร
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการวัน ออริจิ้น สนามเป้า ถนนพหลโยธิน ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานความสูง 25 ชั้น ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งผู้ประกอบการได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่นละออง ดังนี้ ติดตั้งผ้าใบกันฝุ่นโดยรอบอาคาร เปิดเครื่องพ่นละอองน้ำในช่วงเวลาที่มีการก่อสร้าง ฉีดล้างทำความสะอาดถนนในโครงการและโดยรอบ จัดกิจกรรม Big Cleaning จัดเก็บวัสดุงานก่อสร้างเป็นประจำทุกเดือน จัดให้มีมวลชนสัมพันธ์เยี่ยมบ้านข้างเคียงรอบโครงการสัปดาห์ละ 1 ครั้ง มีการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองแบบมือถือประจำวัน ตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมประจำเดือน นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเภทกิจการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boilers) 2 แห่ง ประเภทอู่พ่นสีรถยนต์ 8 แห่ง ประเภทโรงงานจำพวก 3 (ผลิตยา) 1 แห่ง ประเภทโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ 2 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าสำนักงาน ป.ป.ส. ถนนดินแดง เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 209 ราย ได้แก่ 1.ซอยพหลโยธิน 7 ผู้ค้า 77 ราย (กลางวัน 65 ราย กลางคืน 12 ราย) 2.ถนนประดิพัทธ์ (ฝั่งขาออก) ผู้ค้า 67 ราย (กลางวัน 12 ราย กลางคืน 55 ราย) 3.ถนนประดิพัทธ์ (ฝั่งขาเข้า) ผู้ค้า 21 ราย (กลางคืน 21 ราย) 4.บริเวณหน้า ปปส. ถนนดินแดง ผู้ค้า 44 ราย (กลางวัน 44 ราย) ซึ่งอยู่ระหว่างสำนักเทศกิจเสนอขอความเห็นชอบต่อเจ้าพนักงานจราจร ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 220 ราย (ผู้ค้าเก่า 102 ราย ผู้ค้าใหม่ 118 ราย) ได้แก่ 1.บริเวณถนนสาลีรัฐวิภาค ถึงโรงพยาบาลเปาโล ถนนพหลโยธิน ผู้ค้า 87 ราย (เก่า 58 ราย ใหม่ 29 ราย) 2.หน้าอาคาร S.M.Tower (หน้าโรงพยาบาลพญาไท) 2 ถนนพหลโยธิน ผู้ค้า 28 ราย (เก่า 9 ราย ใหม่ 19 ราย) 3.ซอยพหลโยธิน 9 ผู้ค้า 17 ราย (เก่า 3 ราย ใหม่ 14 ราย) 4.หน้าโรงแรม Tower Inn ผู้ค้า 9 ราย (เก่า 5 ราย ใหม่ 4 ราย) ซึ่งในปี 2566 เขตฯ ได้ยกเลิกพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด ได้แก่ 1.ซอยพหลโยธิน 6-8 (หน้าอาคารพหลโยธินเพลส) ผู้ค้า 113 ราย 2.หน้าคอนโดออร์นิคส์ ถนนพหลโยธิน ผู้ค้า 29 ราย 3.หลังแฟลตสวัสดิการทบ. ผู้ค้า 17 ราย 4.บริเวณใต้ทางด่วนขั้นที่ 2 ถนนพหลโยธิน (ขาเข้า) ผู้ค้า 16 ราย โดยผู้ค้าได้ย้ายไปทำการค้าในพื้นที่ของการทางพิเศษฯ และตลาดอื่นๆ ที่รองรับ ผู้ค้าบางส่วนเลิกทำการค้า ส่วนในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกหรือยุบรวมจุดทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.หน้าอาคาร S.M.Tower (หน้าโรงพยาบาลพญาไท) 2 ผู้ค้า 28 ราย 2.หน้าโรงพยาบาลเปาโล ซึ่งเดิมควบรวมกับจุดถนนสาลีรัฐวิภาค ผู้ค้า 32 ราย ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ประสานความร่วมมือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) จัดทำ Hawker Center บริเวณพื้นที่ชั้น 1 ของอาคาร รองรับผู้ค้าได้ 50 ราย และพื้นที่ด้านนอกอาคาร รองรับผู้ค้าได้ 25 ราย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จัดกิจกรรมเดือนละ 1 ครั้ง ครั้งละ 2-3 วัน นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ ให้ใช้พื้นที่ด้านหน้าอาคาร 10 จัดทำ Hawker Center รองรับผู้ค้าได้ 25 ราย และพื้นที่ด้านนอกอาคาร รองรับผู้ค้าได้ 25 ราย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จัดกิจกรรมเดือนละ 2 ครั้ง ครั้งละ 5 วัน (สัปดาห์เว้นสัปดาห์) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดระเบียบผู้ค้าโดยกำชับให้ตั้งวางสินค้าในแนวเส้นที่กำหนด ปรับปรุงรูปแบบแผงค้าให้มีลักษณะและรูปแบบเดียวกัน กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ซ่อมแซมพื้นทางเท้าที่ชำรุดเสียหาย รวมถึงขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน ตลอดจนพิจารณายกเลิกจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย ให้ย้ายมาทำการค้าในจุดที่เขตฯ กำหนดไว้รองรับ หรือจุดที่เขตฯ จัดทำ Hawker Center เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่
ในการนี้มี นายสุรเดช อำนวยสาร รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายพัลลภ ไพฑูรย์บัวทอง ผู้อำนวยการเขตพญาไท พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตพญาไท สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)