Search
Close this search box.
จับตาค่าฝุ่น PM2.5 ไซต์ก่อสร้างหมู่บ้านอลิซาย่านทุ่งครุ ชูต้นแบบคัดแยกขยะชุมชนดารุ้ลอิบาดะห์ พร้อมทำปุ๋ยหมักระบบคีย์โฮล เล็งยกเลิกจุดทำการค้าพุทธบูชา 46 ปรับปรุงแนวรั้วกำแพงสวนธนบุรีรมย์

 

(2 ม.ค.67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตทุ่งครุ ประกอบด้วย

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างหมู่บ้านอลิซา ซอยประชาอุทิศ 76 ถนนประชาอุทิศ ซึ่งเขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 31 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 3 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 13 แห่ง ประเภทควันดำในสถานที่ต้นทาง 3 แห่ง ประเภทจุดถมดิน-ท่าทราย 3 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนดารุ้ลอิบาดะห์ ซอยพุทธบูชา 36 แยก 12 ถนนพุทธบูชา พื้นที่ 210 ไร่ ประชากร 317 คน บ้านเรือน 77 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2558 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะเศษอาหารและขยะอินทรีย์ก่อนทิ้ง โดยนำไปทำปุ๋ยหมักใบไม้แห้ง และทำปุ๋ยหมักระบบคีย์โฮล เป็นการทำปุ๋ยหมักในแปลงผักจากเศษอาหารในครัวเรือน นำมาใส่ทับถมกันและซึมไปกับน้ำที่ราดลงไปสู่รากผักที่อยู่ในดิน เศษอาหารที่ใช้ทำปุ๋ยหมัก ได้แก่ ผัก ผลไม้ ข้าว ใบไม้ เเต่ไม่ควรใส่เนื้อสัตว์ เพราะจะทำให้เกิดกลิ่นแรงและแมลงรบกวน แยกเศษอาหารส่งเกษตรกรเพื่อเลี้ยงสัตว์ (โครงการไม่เทรวม) 2.ขยะรีไซเคิล ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การคัดแยกขยะประเภทต่างๆ ประชาชนคัดแยกขยะรีไซเคิลที่ขายได้ โดยเก็บรวบรวมนำมาขายในร้านรับซื้อของเก่าในบริเวณชุมชน 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไปทิ้งตามวันเวลาที่รถเก็บขนมูลฝอยเข้าดำเนินการจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย จัดจุดพักคัดแยกขยะอันตราย เพื่อรอฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ดำเนินการจัดเก็บทุกวันที่ 15 ของเดือน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 650 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 400 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 150 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 90 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตราย หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน

ตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณปากซอยพุทธบูชา 44 ถนนพุทธบูชา เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 185 ราย ดังนี้ 1.ตลาดในซอยประชาอุทิศ 79 ผู้ค้า 147 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. 2.บริเวณสวนหย่อมโครงการ 18 ในซอยประชาอุทิศ 79 ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-21.00 น. 3.หน้าแฟลต กทม. ประชาอุทิศ 90 ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-17.00 น. 4.ปากซอยพุทธบูชา 46 ผู้ค้า 7 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. และ 5.ปากซอยพุทธบูชา 44 ผู้ค้า 5 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-20.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกพื้นที่ทำการค้าบริเวณซอยพุทธบูชา 46 ผู้ค้า 7 ราย ที่ผ่านมา เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center บริเวณสวนหย่อมหมู่บ้านวิเศษสุขนคร โครงการ 10 ในซอยประชาอุทิศ 79 รองรับผู้ค้าได้ 24 ราย ช่วงเวลาทำการค้า รอบเช้า 06.00-14.00 น. ผู้ค้า 11 ราย รอบเย็น 14.00-21.00 น. ผู้ค้า 13 ราย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้าหรือเกินแนวเส้นที่กำหนด ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและล้างทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน นอกจากนี้ให้พิจารณาหาแนวทางยกเลิกจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดเดียวกัน หรือจุดที่เขตฯ กำหนดไว้รองรับ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ต่อไป

พร้อมกันนี้ ได้สอบถามถึงการดำเนินงานสวน 15 นาที ซึ่งเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 4 สวน ได้แก่ 1.สวนหย่อมหน้าหมู่บ้านวิเศษสุขนคร โครงการ 17-18 พื้นที่ 3 ไร่ 3 งาน 70 ตารางวา 2.สวนหย่อมหน้าหมู่บ้านวิเศษสุขนคร โครงการ 10 พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 69 ตารางวา และ 3.สวนหย่อมซอยประชาอุทิศ 54 แยก 6 พื้นที่ 2 งาน 30 ตารางวา โดยปลูกต้นไม้เพิ่มเติม เพื่อเป็นร่มเงาและกรองอากาศ นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำสวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 2 สวน ได้แก่ 1.สวนหย่อมหน้าหมู่บ้านนริศา พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน 2.สวนหย่อมหน้าโรงเหล็ก ซอยประชาอุทิศ 33 โดยจัดทำทางเดิน เพิ่มเก้าอี้นั่งพักผ่อน

ติดตามการปรับปรุงสวนธนบุรีรมย์ ถนนประชาอุทิศ โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการปรับปรุงแนวรั้วกำแพงสวนที่ชำรุดเสียหาย จำนวน 2 จุด ความยาว 172 เมตร และความยาว 50 เมตร ซึ่งมีเนื้องาน ดังนี้ 1.งานรั้ว งานรื้อถอนรั้วเดิม งานติดตั้งรั้วชั่วคราว งานฐานราก (เสาเข็ม) 2.งานอาคารเรือนเพาะชำ อย่างไรก็ตามการปรับปรุงแนวรั้วกำแพง มีอุปสรรคในการลำเลียงวัสดุ เนื่องจากต้องเข้าพื้นที่หลังเวลา 21.00 น. อีกทั้งไม่มีไฟฟ้าชั่วคราวระหว่างการก่อสร้าง ในเบื้องต้นจะเพิ่มเวลาลำเลียงวัสดุในช่วงเวลา 10.00-15.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่มีประชาชนเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนน้อย รวมถึงจัดหาเครื่องปั่นไฟเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาสำนักสิ่งแวดล้อม ได้ปรับปรุงอาคารสำนักงานสวนธนบุรีรมย์ ซึ่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรม เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ประกอบด้วย 1.ปรับปรุงอาคารสำนักงาน ปรับปรุงห้องน้ำเจ้าหน้าที่ ปรับปรุงห้องเก็บของเป็นห้องประชุม 2.ก่อสร้างอาคารโรงเก็บอุปกรณ์ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เดินสำรวจพื้นที่สวนธนบุรีรมย์ โดยได้มอบหมายให้สำนักสิ่งแวดล้อมติดตามการปรับปรุงแนวรั้วกำแพงแล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด พร้อมทั้งให้สำรวจวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ภายในสวนที่ชำรุดเสียหาย เพื่อพิจารณาขอจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซม อาทิ ระบบน้ำพุ ระบบกังหันตีน้ำ เพื่อเพิ่มอากาศช่วยบำบัดน้ำเสีย ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง เพื่อความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจภายในสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร

ในการนี้มี นายสุรเดช อำนวยสาร รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายพงศ์ศักดิ์ พูลยรัตน์ ผู้อำนวยการเขตทุ่งครุ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตทุ่งครุ สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี

—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200