(29 ธ.ค.66) นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร แจ้งว่า กรุงเทพมหานครขอเชิญชวนร่วมเฉลิมฉลองปีใหม่ในกรุงเทพมหานคร โดยสามารถเลือกรูปแบบได้ตามความชอบ สำหรับผู้ที่อยากดื่มด่ำกับบรรยากาศครึกครื้น เวทีคอนเสิร์ตการแสดง แสง สีเสียง มีหลายหน่วยงานได้จัดกิจกรรม countdown ส่งท้ายปี เช่น เซ็นทรัลเวิลด์ ไอคอนสยาม (29-31 ธ.ค.66) เอเชียทีคเดอะรีเวอร์ฟรอนท์ สามย่านมิตรทาวน์ (27-31 ธ.ค.66) สยามพารากอน (29-31 ธ.ค.66) สยามสแควร์ (29-31 ธ.ค.66) ถนนข้าวสาร (29-31 ธ.ค.66) 101 True Digital Park ช่างชุ่ย และเกษรวิลเลจ (28 ธ.ค.66 -5 ม.ค.67)
สำหรับผู้ที่มุ่งเข้าสู่ปีใหม่ด้วยความเป็นสิริมงคล สามารถร่วมกิจกรรม “สวดมนต์ข้ามปี” ในคืนที่ 31 ธ.ค. 66 ได้ที่วัดใกล้บ้าน โดยวัดที่จัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี เช่น วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร วัดหัวลำโพง พระอารามหลวง วัดบุณยประดิษย์ วัดปทุมวนาราม วัดยานนาวาพระอารามหลวง วัดม่วง วัดพรหมสุวรรณสามัคคี และสวนโมกข์ กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้ออกประกาศ 4 มาตรการ ป้องกันอันตรายในช่วงเทศกาล ปีใหม่ 2567 และดูแลประชาชน ดังนี้ 1.เตรียมความพร้อมและกำหนดแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ของกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ. 2567 และจัดตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์ ‘ศตส.กทม.’ เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับชุมชนที่มีความเสี่ยง พร้อมเฝ้าระวังดูแลในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่นโดยใช้กล้อง CCTV เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ประชาชน 2. ขอความร่วมมือสถานประกอบการ สถานบันเทิง ผู้จัดงานและเจ้าของพื้นที่จัดงาน วางแผนการบริหารจัดการพื้นที่ และแผนงานรองรับความปลอดภัย 3.แจ้งเตือนประชาชน กรณีวางแผนเดินทางออกต่างจังหวัดขอให้ตรวจสอบสายไฟ ปลั๊กไฟและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ 4.ห้ามมิให้ผู้ใดจุดและปล่อย หรือกระทำการอย่างใด เพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันขึ้นไปสู่อากาศ
———