Search
Close this search box.
เยี่ยมชมคัดแยกขยะศูนย์บริการสาธารณสุข 63 ย่านสาทร เปิดแล้ว Hawker Center ใกล้ BRT อาคารสงเคราะห์นราธิวาสฯ จัดระเบียบผู้ค้าถนนสวนพลู สุ่มวัดค่าฝุ่น PM2.5 ไซต์ก่อสร้างโครงการ 125 Sathorn

 

(28 ธ.ค.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตสาทร ประกอบด้วย

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ศูนย์บริการสาธารณสุข 63 สมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ซอยเย็นจิต 12 ถนนเย็นจิต มีบุคลากร 47 คน ผู้มารับบริการ 70 คน/วัน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล คัดแยกทิ้งในถังขยะสำหรับขยะรีไซเคิล (ถังขยะสีเหลือง) เช่น กระป๋อง แก้วพลาสติกแบบหนา กล่องโฟม กระดาษลัง กล่องนม 2.ขยะอินทรีย์ คัดแยกใส่ถังขยะสำหรับเศษอาหาร (ถังขยะสีน้ำเงิน) และใส่ถุงดำรองที่ถังขยะก่อนทิ้งเศษอาหาร 3.ขยะอันตราย คัดแยกทิ้งในถังขยะที่รองรับขยะอันตราย (ถังขยะสีเทา) เช่น หลอดไฟ ถ่านอัลคาไลน์ ยาหมดอายุ ขวดแก้วบรรจุยา 4.ขยะทั่วไป คัดแยกใส่ถังขยะสำหรับขยะทั่วไป (ถังขยะสีเขียว) สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 2 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1.5 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 2 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 4 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0.7 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 0.7 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน

สำรวจ Hawker Center บริเวณสถานีรถ BRT อาคารสงเคราะห์ ซอยนราธิวาสฯ 8/1 เขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ว่างที่มีความเหมาะสมหรือตลาดนัดเอกชน เพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้ซื้อ อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ สำหรับพื้นที่บริเวณดังกล่าว มีพื้นที่ใกล้เคียงติดกับสถานีรถ BRT อาคารสงเคราะห์ อยู่ระหว่างซอยนราธิวาสฯ 8/1 ถึง 6 ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ เขตฯ ได้ประสานกับเจ้าของพื้นที่ เพื่อจัดทำเป็น Hawker Center สามารถรองรับผู้ค้าได้ 14 ราย จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม โดยคิดค่าใช้จ่ายตามอัตราที่เจ้าของพื้นที่กำหนด มีที่จอดรถไว้บริการ

จากนั้นได้ตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณถนนสวนพลู เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 10 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 201 ราย ดังนี้ 1.ตลาดเจซี ถนนจันทน์ ผู้ค้า 42 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 12.00-20.00 น. 2.ถนนสาทรใต้ ซอย 11 ผู้ค้า 15 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 3.หน้าตลาดกิตติ ผู้ค้า 46 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 4.หน้าถนนสวนพลู ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 5.หน้าตึกทีพีไอ ถนนจันทน์ ผู้ค้า 15 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-14.00 น. 6.ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 11 ผู้ค้า 5 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 7.ถนนสาทรใต้ ซอย 13 ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-14.00 น. 8.หน้าตลาดสะพาน 2 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-14.00 น. 9.หน้าโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. และ 10.ถนนพระรามที่ 4 (สะพานคู่) ผู้ค้า 27 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-20.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 11 ผู้ค้า 5 ราย 2.ถนนสาทรใต้ ซอย 13 ผู้ค้า 12 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้พูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าให้เห็นถึงความสำคัญของส่วนรวมในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า เพื่อให้ผู้ค้าและประชาชนสามารถใช้ทางเท้าร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสินค้าเกินแนวเส้นที่กำหนด ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน รวมถึงพิจารณาหาแนวทางยกเลิกจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดที่เขตฯ กำหนด หรือจุดที่เขตฯ จัดทำเป็น Hawker Center เพื่อความสะอาดและความเป็นระเบียบในพื้นที่

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งดำเนินโครงการ 125 Sathorn เป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัย ความสูง 36 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น ชั้นลอย 1 ชั้น ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ล้างทำความสะอาดล้อรถก่อนออกจากโครงการเปิดเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณโดยรอบตลอดเวลาการทำงาน นอกจากนี้ผู้ประกอบการได้จัดทำรั้วความสูง 6 เมตร โดยรั้วด้านข้างและด้านหลังได้เพิ่มความสูงเป็น 12 เมตร ติดตั้งแผ่นป้องกันเสียงรบกวนตามรั้วโดยรอบ รวมถึงติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 มีจอแสดงผลอยู่ด้านหน้าโครงการ พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ป้องกันไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

ในการนี้มี นายชาติชาย กุละนำพล ผู้อำนวยการเขตสาทร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสาทร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี

—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200