ลุยตรวจซ้ำค่าฝุ่นจิ๋วไซต์งานพลัมคอนโดย่านหลักสี่ ตรึงแนวผู้ค้าหน้าวัดหลักสี่ ผุด Hawker Center ศูนย์อาหารชินเขต ยกต้นแบบคัดแยกขยะรามาการ์เด้นส์ ส่องสวนเคหะชุมชนท่าทราย ปลูกต้นยางนาค่ายสรรพาวุธเบาที่ 1

(27 ธ.ค. 66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตหลักสี่ ประกอบด้วย

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการพลัมคอนโด แจ้งวัฒนะ-ดอนเมือง ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยความสูง 8 ชั้น จำนวน 2 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่ผู้รับจ้างในการติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำโดยรอบ จัดทำบ่อล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกบริเวณทางเข้าออกโครงการ ซึ่งผู้รับจ้างได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมกันนี้ได้เน้นย้ำผู้รับจ้างให้เปิดเครื่องพ่นละอองน้ำตลอดเวลาการทำงาน ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกหรือรถที่ผ่านเข้าออกโครงการตามรอบที่กำหนด นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน

ตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าวัดหลักสี่ ซึ่งจุดดังกล่าวได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่ามีการตั้งวางสินค้าบนทางเท้ากีดขวางทางเดินสัญจร ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยผลักดันผู้ค้าให้เข้าไปอยู่ด้านในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมถึงขีดสีตีเส้นกำหนดแนวขอบเขตอย่างชัดเจน จัดเจ้าหน้าเทศกิจตรวจตราอย่างสม่ำเสมอ เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 149 ราย ได้แก่ 1.ตลาดเคหะทุ่งสองห้อง (ถนนกำแพงเพชร 6 ซอย 7) ตั้งแต่หน้าตลาดด้านซ้าย ถึงหน้าตลาดด้านขวา ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-09.00 น. 2.ฝั่งตรงข้ามวัดหลักสี่ ตั้งแต่ปากทางเข้าวัดหลักสี่ ถึงแนวกำแพงวัดหลักสี่ ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-17.00 น. 3.ตลาดท่าทราย ตั้งแต่โรงเรียนการเคหะท่าทราย ถึงศูนย์เยาวชนท่าทราย ผู้ค้า 57 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-09.00 น. 4.ซอยวิภาวดี 64 ตั้งแต่ปากซอยวิภาวดีรังสิต 64 ถึงท้ายซอยวิภาวดีรังสิต 64 ผู้ค้า 40 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-17.00 น. และ 5.ซอยงามวงศ์วาน 47 ตั้งแต่แยกชินมณี ถึงแยกภาสยา ผู้ค้า 23 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-09.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกหรือยุบรวมจุดทำการค้า จำนวน 1 จุด คือซอยงามวงศ์วาน 47 ผู้ค้า 23 ราย

จากนั้นได้สำรวจพื้นที่ Hawker Center บริเวณศูนย์อาหารชินเขต ถนนงามวงศ์วาน ปากซอยงามวงศ์วาน 43 เขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ว่างที่มีความเหมะสมหรือตลาดนัดของเอกชน เพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม สำหรับศูนย์อาหารชินเขต เป็นพื้นที่ของเอกชน มีพื้นที่ขนาด 400 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้ค้าได้ 20 ราย จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่ตลาดกำหนด มีห้องน้ำและที่จอดรถฟรี ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ทำการค้า กวดขันผู้ค้าไม่ให้มีการตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้เก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน รวมถึงพิจารณาหาแนวทางยกเลิกจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดที่เขตฯ กำหนด หนือจุดที่เขตฯ จัดทำ Hawker Center เพื่อความสะอาดและความเป็นระเบียบในพื้นที่

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ พื้นที่ 63 ไร่ บุคลากร 284 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2525 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ แผนกครัว แผนกอาหารและเครื่องดื่ม คัดแยกเศษผัก เปลือกผลไม้ เพื่อส่งให้แผนกสวนในการทำปุ๋ยหมัก ส่วนเศษอาหารที่เหลือจากห้องครัว ห้องอาหารที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ จะนำไปขายให้กับเกษตรกรเพื่อทำข้าวหมู นำน้ำลวกผักมาล้างทำความสะอาดพื้นครัว น้ำจากการซาวข้าวจะรวบรวมนำไปรดน้ำต้นไม้ น้ำดื่มในขวดที่เหลือจากห้องประชุมจะรวบรวมนำมารดน้ำต้นไม้ ขยะอินทรีย์เมื่อถูกคัดแยกแล้วจะนำมาชั่งกิโล เพื่อดูสถิติและจำนวนการเกิดขยะ สำหรับนำมาจัดทำโครงการในการลดขยะอินทรีย์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีห้องเก็บขยะที่ควบคุมอุณหภูมิการเก็บขยะอินทรีย์อย่างเหมาะสม 2.ขยะรีไซเคิล ในห้องพักจะประชาสัมพันธ์ให้ผู้เข้าพักทราบถึงนโยบายการนำขยะมารีไซเคิลมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ เช่น ห้องพักจะมีที่ใส่ฝาขวดเพื่อให้โรงแรมนำไปบริจาคทำขาเทียมให้แก่ผู้พิการ ในห้องประชุมจะไม่วางกระดาษ A4 ไว้ที่โต๊ะเป็นรายบุคคล แต่จะมีจุดวางกระดาษเพียง 1 จุด เพื่อให้ผู้เข้าประชุมใช้ตามความจำเป็น 3.ขยะทั่วไป มีการคัดแยกขยะทั่วไปจากห้องพัก ห้องประชุม ห้องอาหาร มารวบรวมไว้ที่ธนาคารขยะ 4.ขยะอันตราย มีห้องสำหรับเก็บคัดแยกขยะอันตรายโดยเฉพาะ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 5,602 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 5,602 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 9,113 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 6,225 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 12,240 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 2,918 กิโลกรัม/วัน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 0.5 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 0.5 กิโลกรัม/วัน

สำรวจสวน 15 นาที (สวนใหม่) บริเวณสวนเคหะชุมชนท่าทราย พื้นที่ 200 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์เป็นของการเคหะแห่งชาติ โดยเขตฯ ได้ประสานขอใช้ที่ดินเพื่อจัดทำสวน 15 นาที เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวใกล้บ้านได้ภายใน 15 นาที หรือระยะทางในการเดิน 800 เมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับพื้นที่สวน เพื่อปลูกต้นไม้เพิ่มเติม อาทิ ไทรเกาหลี  ไทรใบกลม ชะแมบทอง ข่อยดัด ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ดำเนินการจัดทำสวน 15 นาที แล้วเสร็จ 2 แห่ง ได้แก่ สวนหมู่บ้านจัดสรรรถไฟ พื้นที่ 330 ตารางเมตร และสวนหมู่บ้านเจริญทรัพย์ พื้นที่ 142.5 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนซอยวิภาวดีรังสิต 62 พื้นที่ 2 งาน 25 ตารางวา คืบหน้าแล้ว 90% 2.สวนหน้าสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง พื้นที่ 100 ตารางวา คืบหน้าแล้ว 90% สำหรับสวนเดิมที่เขตฯ ดูแลบำรุงรักษา 3 แห่ง ได้แก่ สวนสาธารณะทุ่งสองห้อง พื้นที่ 8 ไร่ 10.60 ตารางวา สวนสาธารณะบึงสีกัน พื้นที่ 11 ไร่ และสวนหย่อมเคหะชุมชนบางบัว พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 53 ตารางวา ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตหลักสี่ ได้ร่วมกันปลูกต้นยางนา จำนวน 100 ต้น บริเวณค่ายสรรพาวุธเบาที่ 1 ถนนแจ้งวัฒนะ ตามโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น เพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง

ในการนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นางสมฤดี ลันสุชีพ ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตหลักสี่ สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200