(25 ธ.ค.66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมพูดคุยกับศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ ไทยพีบีเอส ถึงการทำงานที่ผ่านมาของกรุงเทพมหานคร ผ่านแนวทาง Resilient City เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคม เศรษฐกิจ และทิศทางในปีหน้า และความคืบหน้าการแก้ปัญหาภัยพิบัติต่างๆ กับแผนจัดการชุมชนด้วย Risk Map โดยมี นายสันติพงษ์ ช้างเผือก เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า
หากพูดถึงสถานการณ์ปัจจุบัน กระแสโลกร้อนกลายเป็นยุคโลกเดือด ในฐานะผู้บริหารเมืองได้ดำเนินงานอย่างไรไปแล้วบ้างนั้น รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการทำงานในด้านนี้ของทั้งประเทศมุมหนึ่งความตระหนักรู้เพิ่มขึ้น มีการพูดถึงเรื่อง SDGs ความเสี่ยง Climate change มาอย่างต่อเนื่อง แต่ในแง่การทำให้เกิดผลแล้วได้ผลในเชิงปฏิบัติ เราตามความเร็วของการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน ดังนั้นจึงต้องอาศัยการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วน ออกแบบการทำงานและพูดคุยกันมากขึ้น
ในส่วนของการดำเนินงานของกทม. รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้แบ่งออกเป็น 2 เรื่อง คือ การแก้ปัญหาที่ค้างคาใจคนเมือง และทำงานมุ่งเป้าพัฒนาเมืองในทิศทางที่ควรจะเป็น เมื่อโลกร้อน ที่ผ่านมากทม. ไม่ได้ดำเนินงานในเรื่องใดบ้างที่อาจเป็นต้นเหตุทำให้เกิดปัญหาในเมืองต่างๆ เช่น เกิดฝุ่น PM 2.5 ขาดการขุดลอกคูคลอง ไม่มีการรณรงค์เรื่องขยะ หรือโครงสร้างผังเมืองที่ออกแบบมาอย่างไม่เหมาะสม ถนนเป็นหลุมบ่อ เหล่านี้เรียกว่าปัญหาคาใจ ซึ่งผู้บริหารเมืองมีหน้าที่ต้องทำการแก้ไขและบรรเทาปัญหานั้นๆ ในขณะเดียวกันแต่ละปัญหารวมถึงนโยบายแบบมุ่งเป้าก็ต้องอาศัยข้อมูลเป็นฐานในการบริหารจัดการ เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาที่รุมเร้าคนเมืองอยู่ให้ตรงจุด
แต่วันนี้เป็นอีกโจทย์หนึ่งของกทม. ว่าทำไมเราถึงต้องพูดถึง Resilience ซึ่งหากจะพูดให้เข้าใจง่าย หมายถึง ความสามารถในการปรับตัวกลับคืนสู่สภาพเดิม เราต้องรู้ก่อนว่ากำลังจะเจอกับสถานการณ์หรือฉากทัศน์ใดในอนาคต จากนั้นเตรียมพร้อมรับมือ เมื่อฉากทัศน์นั้นเกิดขึ้นแล้วเราต้องมีแนวทางและความสามารถพอที่จะจัดการให้มันไม่รุนแรง และเมื่อจะฟื้นกลับคืนสู่สภาพสภาวะปกติหลังจากเผชิญแต่ละเหตุการณ์ เมื่อมีบทเรียนเมืองจะฟื้นตัวและต้องแข็งแรงกว่าเดิม ทั้งหมดนี้คือคำว่า Resilience ดังนั้นหากมีข้อมูลที่จำเป็นต่อการบริหารความเสี่ยงในแต่ละภัยที่ครอบคลุมแล้ว จะเป็นเครื่องมือทำให้สามารถบริหารและตอบสนองต่อสถานการณ์ภัยที่เกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น
ช่วงที่ผ่านมานอกจากการทำให้ Resilience เป็นรูปธรรม ผ่าน Risk Map กทม. ยังได้ร่วมประชุม Resilient City Network ที่เมืองอินชอน ซึ่งอินชอนเป็นเมืองใหม่ที่มีทั้งเมืองสร้าง และเมืองเก่าที่พยายามเปลี่ยนเป็น Smart City ที่มีทั้งเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ มี Smart City บน Resilient คือ สร้างเมืองให้มีความอันตรายน้อยทั้งในแง่อาชญากรรม อุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ รวมถึงการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ นั่นคือการมองไปถึงทำให้ระบบเศรษฐกิจยืดหยุ่น จึงเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ในบางบริบทสามารถนำมาปรับใช้กับกทม. ให้เหมาะสมได้ อีกทั้งมีเครือข่าย Making Cities Resilient (MCR) แลกเปลี่ยนบทเรียนระหว่างกัน ซึ่งกทม.เป็นเมืองใหญ่ มีความซับซ้อน ผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นหมุดหมายหลักของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ตามนโยบายของผู้ว่าฯ เราต้องการให้เมืองเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนและเป็นเมืองที่ปลอดภัย ทำให้ภัยอันตรายที่มีอยู่ในเมืองลดน้อยลงเพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่าการอยู่ในเมืองนี้มีความสุข
ความสำคัญของ Risk map ที่ถือว่าเป็นหนึ่งใน Resilience รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า หากเราไม่รู้ว่าความเสี่ยงของเมืองอยู่ตรงไหนก็ยากต่อการบริหารจัดการ ดังนั้นการเปิดข้อมูลบนแผนที่ความเสี่ยงนี้ จะเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่ใช้เป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการเรื่องความเสี่ยงในพื้นที่กทม. และจะเป็นการกำหนดและส่งเสริมให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพและตรงเป้าขึ้น
สำหรับในปีหน้า กรุงเทพมหานครคิดว่ามีภัยบางประเภท เช่น อัคคีภัย ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกทม. อย่างเต็มรูปแบบ หากจะทำระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน (Emergency Alert) แก่ประชาชน อาจสามารถทำเบื้องต้นในการรองรับระบบและขั้นตอนการทำงานที่รัดกุมกับเรื่องของอัคคีภัยได้ เมื่อวางขั้นตอนการทำงานการแจ้งเตือนอัคคีภัยครบถ้วนแล้ว จะดำเนินการทดสอบระบบเบื้องต้นใน Traffy Fondue ก่อน ซึ่งคาดว่าภายในเดือนมกราคม 2567 จะสามารถทดสอบระบบได้
และในโอกาสเทศกาลแห่งความสุขที่ทุกท่านรอคอย รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้เน้นย้ำว่าของขวัญปีใหม่ในแง่ความปลอดภัยในเมือง จะทำงานเรื่องข้อมูลหลังบ้านอย่างหนักแน่น และทำให้ของขวัญชิ้นนี้แข็งแรงมากขึ้น และกทม. จะพยายามทำให้ความปลอดภัยในเมืองมีมากที่สุด ไม่ใช่แค่ในช่วงเทศกาลแต่เป็นทุกวัน